เพราะความแม่นยำของการตรวจด้วย Rapid Antigen Test มีความแม่นยำใกล้เคียงกับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ถึง 90% โดยเฉพาะในกรณีที่ผลเป็นบวก
และเพราะกรณีที่เป็น “ผลลบ” มีความไม่แน่นอนมากกว่า เช่น เชื้อน้อยเลยตรวจไม่เจอ หรือเก็บตัวอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องมีการตรวจซ้ำ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า การตรวจไม่เจอไม่ได้แปลว่าไม่มีเชื้อ อาจต้องทำการตรวจซ้ำใน 3-5 วัน หรือเมื่อมีอาการ แต่ที่น่าตกใจตอนนี้ก็คือ มีข้อมูลว่าประชาชนบางส่วนมีการนำชุดตรวจ Antigen Test Kit กลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งนอกจากจะไม่แสดงผลที่เป็นจริงแล้ว ยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนและติดเชื้ออีกด้วย
“เพราะขณะนี้ประชาชนมีความต้องการชุดตรวจเพื่อหาโปรตีนของไวรัสโควิด-19 ที่เรียกว่า Rapid Antigen Test หรือ Antigen Test Kit เป็นจำนวนมาก ทำให้หลายร้านของหมดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการตรวจที่ให้ผลเป็นลบ อาจต้องมีการตรวจซ้ำ แต่ด้วยความไม่เข้าใจ หลายคนนำชุดตรวจที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งอันตรายมาก” นพ.ศุภกิจให้ข้อมูล
...
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกว่า การอนุมัติปลดล็อกการใช้ชุดตรวจโควิด-19 วัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโรคโควิด ชุดตรวจ Antigen Test Kit ถือเป็นเครื่องมือแพทย์ ประชาชนจะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปที่มีเภสัชกรควบคุม ไม่แนะนำให้ซื้อผ่านออนไลน์ เพราะอาจจะได้ชุดตรวจที่ไม่มีคุณภาพ อาจจะได้ผลการตรวจที่ผิดพลาดได้
“การใช้ชุดตรวจด้วยตัวเอง ประชาชนจำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ โดยเฉพาะการเก็บสารคัดหลั่ง ต้องเก็บตามที่ชุดตรวจกำหนด เช่น จากโพรงหลังจมูก ช่องปากและลำคอ โพรงจมูก หรือน้ำลาย เพื่อจะได้ค่าหรือผลการตรวจที่แม่นยำ โดยชุดตรวจที่ใช้ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วเท่านั้น” นพ.ศุภกิจบอกและว่า การใช้ Antigen Test Kit เป็นการใช้เพื่อคัดกรองเบื้องต้น ถ้าตรวจแล้วมีผลเป็นบวก หรือเริ่มมีอาการเข้าข่าย ต้องยืนยันด้วย RT-PCR อีกครั้ง แต่ถ้าตรวจแล้วผลเป็นลบ อาจตรวจซ้ำอีกใน 3-5 วัน
“การซื้อชุดตรวจโควิดด้วยตนเองมาใช้ ควรศึกษารายละเอียดขั้นตอนวิธีการทดสอบ การแปลผล จากเอกสารกำกับชุดทดสอบ ก่อนเริ่มทำการทดสอบ การเก็บตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ อาจทำให้ผลการทดสอบผิดพลาดได้”
นพ.ศุภกิจยังบอกด้วยว่า ควรตรวจ สอบวันหมดอายุของชุดทดสอบ เตรียมพื้นที่สำหรับใช้ทดสอบให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน อย่าเปิดหรือฉีกซองที่บรรจุตลับทดสอบ จนกว่าจะเริ่มทำการทดสอบ อ่านผลตามเวลาที่ชุดทดสอบกำหนด เพราะการอ่านผลเร็วหรือช้าเกินไปอาจเกิดความผิดพลาดได้ สำคัญที่สุดคือ ไม่นำอุปกรณ์หรือตลับทดสอบอันเดิมมาใช้ซ้ำ การทิ้งชุดทดสอบต้องแยกใส่ถุงปิดให้มิดชิด และทิ้งให้เหมาะสม อาจแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนหรือแพร่กระจายของเชื้อ
นอกจากการตรวจด้วยตนเองแล้ว ล่าสุดได้มีการนำชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองไปใช้ เพื่อเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองการติดเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในระยะหลังนี้ กลายเป็นคลัสเตอร์ที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม จัดอบรมออนไลน์เพื่อการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit อย่างเหมาะสมและถูกต้อง โดยมีตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมการอบรมไปแล้วมากกว่า 1,000 ราย.