การสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2559 นำโดยศาสตราจารย์ คริสตัล โทรลลีย์ จากสถาบันความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติแอฟริกาใต้และมหาวิทยาลัยวิทวอเทอร์สแรนด์ ร่วมกับพิพิธภัณฑ์มาลาวี ได้เปิดเผยผลการสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ว่า มีการค้นพบสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กจำนวนหนึ่งยังรอดชีวิตอยู่ในป่าฝนของสาธารณรัฐมาลาวี

หนึ่งในนั้นคือกิ้งก่าแคระ Chapman’s Pygmy Chameleon หรือ Rhampholeon chapmanorum ซึ่งเติบโตได้ยาวเพียง 5.5 เซนติเมตร กิ้งก่าชนิดนี้ได้รับการอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในกิ้งก่าที่หายากที่สุดในโลก นั่นจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลและกลัวว่ากิ้งก่าจิ๋วหายากชนิดนี้จะสูญพันธุ์เนื่องจากการทำลายป่าพื้นเมืองในเทือกเขามาลาวีที่ส่วนใหญ่มักจะถูกแผ้วถางเพื่อการเกษตร นักวิจัยประเมินว่าป่าไม้และจำนวนกิ้งก่าได้หดตัวลง 80% ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ดังนั้น องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จึงระบุให้กิ้งก่าแคระ Chapman’s Pygmy Chameleon เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งและอยู่ในรายการ Red List of Threatened Species หรือที่รู้จักกันว่า บัญชีแดงแห่งไอยูซีเอ็น

การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมชี้ว่าสัตว์เหล่านี้ติดอยู่ในหย่อมป่าของพวกมันเอง จนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปมาระหว่างกลุ่มเพื่อผสมพันธุ์ได้ ซึ่งหากปราศจากการผสมพันธุ์ ความหลากหลายทางพันธุกรรมก็จะหายไปเมื่อเวลาผ่านไป นี่จึงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงอีกรูปแบบหนึ่งต่อการอยู่รอดของสายพันธุ์กิ้งก่าแคระ Chapman’s Pygmy Chameleon และตอนนี้ก็มีองค์กรและผู้ที่ชื่นชอบกิ้งก่าร่วมสนับสนุนทุนรอนในการปกป้องกิ้งก่าที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้กันแล้ว.

(ภาพประกอบ Credit : Krystal Tolley)

...