โควิดสายพันธุ์เดลตาระบาดรุนแรงส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเกิน 10,000 คนต่อวัน ผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงจึงเข้าสู่ระบบรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ได้ แต่ระหว่างรอรับการติดต่อกลับ หากมีอุปกรณ์ชุดรักษาโควิดติดบ้านไว้ ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ทันท่วงที ไทยรัฐออนไลน์รวม 12 อุปกรณ์รักษาโควิดเบื้องต้น ไว้ให้คุณเตรียม Check List ดังนี้
12 อุปกรณ์ชุดรักษาโควิดเบื้องต้น
1. กระเป๋าใส่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
เตรียมกระเป๋าใบเล็กๆ สำหรับใส่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษา ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรข้าราชการ บัตรเครดิต เมื่อทราบว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรเช็กสิทธิ์การรักษาไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือประกันสุขภาพที่ทำไว้ เพื่อใช้ชำระค่ารักษาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเจ็บป่วย ได้แก่
- บัตรประกันสังคม
- บัตรทอง
- บัตรประกันสุขภาพ
- บัตรประจำตัวโรงพยาบาลที่รักษาตัวอยู่
นอกจากนี้อย่าลืมใส่ยาโรคประจำตัวไว้ด้วย อย่าลืมวางกระเป๋าไว้ใกล้ตัว หรือในจุดที่หยิบง่าย หากมีอาการฉุกเฉินจะได้ไม่เสียเวลาตระเตรียม ผู้ใกล้ชิดจะได้หยิบเอกสารเหล่านี้ช่วยทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยเข้ารักษาต่อไป เมื่อต้องเบิกประกันจะได้ยื่นทำเรื่องขอใบรับรองแพทย์ หรือเอกสารยืนยันการรักษาได้ถูกต้อง
...
2. สมุด ปากกา
ระหว่างการรักษาตัวโควิด-19 ที่บ้าน จำเป็นจะต้องจดบันทึกอุณหภูมิวัดไข้ เพื่อติดตามอาการแต่ละวัน ควรมีสมุดพร้อมปากกา เพื่อบันทึกข้อมูลนี้ไว้แจ้งกับแพทย์ รวมถึงจดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน วางไว้ในจุดที่หาง่าย เผื่อกรณีฉุกเฉินจะได้ติดต่อคนใกล้ชิด และสถานพยาบาล เบอร์ที่ควรจดไว้ ได้แก่
- เบอร์โทรศัพท์ญาติหรือเพื่อนสนิทที่ใกล้ชิด
- เบอร์โทรศัพท์หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิด
- เบอร์โทรโรงพยาบาลใกล้เคียง
- เบอร์โทรศัพท์สายด่วนฉุกเฉิน
3. ปรอทวัดไข้
ในยุคนี้ควรมีปรอทวัดไข้ติดบ้านไว้ ไม่ว่าจะเป็นปรอทวัดไข้แบบอ่านค่า หรือ ปรอทวัดไข้ดิจิทัล ไว้สำหรับติดตามอาการแต่ละวัน หากอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้ หลังจากวัดไข้แล้วจดบันทึกไว้
4. เครื่องตรวจวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจะช่วยบอกความผิดปกติในการทำงานของปอดได้ ค่าออกซิเจนปกติจะอยู่ที่ 95% ขึ้นไป เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วราคา 300-3,000 บาท หาซื้อได้จากร้านจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ร้านขายยา และมีจำหน่ายในร้านค้าออนไลน์
5. ยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) 500 มิลลิกรัม สำหรับลดไข้ ขนาดที่เหมาะสมคือ ร่างกายน้ำหนัก 50 กิโลกรัมต่อยา 500-750 มิลลิกรัม หรือ 1 เม็ด ต่อ น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง และผู้ที่เป็นไข้สูงไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 3 วัน เด็กไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน ผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 10 วัน ควรมีสำรองไว้อย่างน้อย 50 เม็ด
6. ยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล
เลือกยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูลที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ระบุอย่างชัดเจน ผู้ใหญ่รับประทาน 180 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ควรเลือกซื้อยาฟ้าทะลายโจรที่ไม่ระบุปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ ควรมีสำรองไว้ 90 แคปซูล
7. น้ำยาฆ่าเชื้อโรค
...
น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่กรมอนามัยแนะนำ คือ แอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% สำหรับเช็ดฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้จำเป็น ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้กับการกำจัดขยะ และการถูเช็ดพื้นที่ขนาดใหญ่ ใช้น้ำยาฟอกขาวที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮเปอร์คลอไรท์เข้มข้น 500-1000 ppm โดยดูได้จากฉลากผลิตภัณฑ์
8. เจลแอลกอฮอล์ และสบู่ล้างมือ
เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล ควรเตรียมเจลล้างมือแอลกอฮอล์ 70% และสบู่ล้างมือ เตรียมไว้ในห้องน้ำและจุดต่างๆ ที่ต้องสัมผัสร่วมกัน เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ
9. กระดาษทิชชู หรือกระดาษทิชชูเปียก
...
เมื่อต้องหยิบจับสิ่งของ หรือทำสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหล่นบนพื้นโต๊ะ พื้นห้อง ควรมีกระดาษทิชชู หรือกระดาษทิชชูเปียก ช่วยเช็ดซับได้ทันท่วงที และทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อเพื่อส่งกำจัดอย่างถูกวิธี
10. หน้ากากอนามัย
เมื่อกักตัวร่วมกับผู้อื่นในบ้าน ผู้ติดเชื้อควรสวมหน้ากากอนามัย และทิ้งในถังขยะแบบมีฝาปิดอย่างเหมาะสม ควรใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งวันต่อวัน โดยเตรียมไว้อย่างน้อย 15-30 ชิ้น สำหรับผู้ติดเชื้อ 1 คน
11. ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง (Antigen Test Kit)
เมื่อมีอาการหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ เมื่อตกเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ใช้ชุด Antigen Test Kit ตรวจสอบการติดเชื้อได้ หากอาการไม่รุนแรง ตรวจพบครั้งแรกไม่พบเชื้อ ควรตรวจซ้ำทุก 3 วัน และจดบันทึกวันที่ตรวจไว้
12. ถุงขยะติดเชื้อ
เมื่อต้องทิ้งขยะติดเชื้อ ให้ใส่ถุงขยะ 2 ชั้น โดยเทน้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ในถุงบรรจุขยะ มัดปากถุง และสวมถุงอีก 1 ชั้น เพื่อป้องกันการรั่วไหล เลือกใช้ถุงขยะติดเชื้อหรือถุงขยะสีแดง เพื่อให้ผู้เก็บขยะได้ทราบและแยกกำจัดต่อไป ในกรณียืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ควรติดต่อหน่วยงานเพื่อแยกเก็บขยะติดเชื้อไปกำจัดโดยเฉพาะ (ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดูช่องทางแจ้งเก็บขยะติดเชื้อได้ที่นี่)
...
ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์สำหรับการป่วย 1 ครั้ง ต่อผู้ป่วย 1 คน และควรเตรียมเผื่อสำหรับระยะเวลากักตัว 14 วันหลังป่วย เมื่อพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรลงทะเบียน Home Isolation เพื่อเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถเข้ารับการรักษาที่บ้านได้ โดยจะมียา อาหาร และพูดคุยกับแพทย์ผ่าน VDO Call เช็กช่องทางลงทะเบียน Home Isolation ได้ที่นี่