Highlight :

  • หลังจากไฟไหม้รุนแรงอย่างเหตุที่โรงงานกิ่งแก้ว แม้ไฟดับลงแล้ว แต่ยังมีสิ่งที่หลงเหลืออยู่ และส่งผลต่อร่างกายคนในพื้นที่นั้น
  • คนในละแวกนั้นควรมีวิธีการป้องกันตัวเองอย่างไร และความอันตรายในรัศมีใกล้ไกล ต่างกันอย่างไร
  • สารเคมีที่เกิดการเผาไหม้ส่งผลอะไรต่อร่างกายบ้าง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

แม้ว่าเหตุการณ์คลังโรงงานสารเคมีย่านกิ่งแก้วระเบิด จ.สมุทรปราการ ได้สงบลงแล้ว แต่ด้านสุขภาพของชาวสมุทรปราการและข้างเคียง จะต้องหมั่นเช็กร่างกายตัวเองในระยะยาว เนื่องจากยังไม่มีใครตอบได้ว่าสารพิษที่เหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อวิถีชีวิตอย่างไร รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ยังปกคลุมอยู่ หากคุณเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์นี้ ต้องติดตามข้อมูลต่อไปนี้

ฝุ่นพิษสารเคมีโรงงานกิ่งแก้ว ส่งผลกระทบต่อร่างกายประชาชนอย่างไร

ผลกระทบระยะยาว ของคนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ อาจส่งผลในส่วนของ ผิวหนัง เยื่อบุตา ระบบทางเดินหายใจ เมื่อร่างกายเราได้รับสารเคมีตัวนี้ในระยะยาว อาจส่งผลในเรื่องของการก่อให้เกิดมะเร็ง มีผลต่อต่อมน้ำเหลือง เกล็ดเลือด ส่วนผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้

...

ผนวกกับในปัจจุบันมีสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย หากมีอาการระบบทางเดินหายใจ ก็ยิ่งทวีความรุนแรง หากเกิดอาการที่มีปัญหา เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด ควรรีบไปพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุด

รัศมีใกล้ไกล ได้รับผลกระทบแค่ไหน ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผู้ที่อยู่อาศัยในระยะใกล้เคียง ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 หากไม่มี ควรสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น เพื่อป้องกันฝุ่นพิษในระดับ PM 2.5 เพราะต้องติดตามระมัดระวังสารพิษที่กลายเป็นไอระเหยสู่ชั้นบรรยากาศที่จะกลับมาเป็นฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างปัญหาต่อสุขภาพไปในระยะหนึ่ง

สารเคมีจากเหตุระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว คือสารอะไร

สารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้ในโรงงาน คือสารสไตรีน โมโนเมอร์ เมื่อเผาไหม้แล้วจะกลายเป็น ฝุ่น PM 2.5 คาร์บอนมอนนอกไซด์ และอาจยังฉาบอยู่ตามพื้นผิว ดิน โลหะ เนื่องจากสารเคมีตัวนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการละลายน้ำ เพราะฉะนั้นควรมีการกำจัดสารเคมีตกค้างให้หมดเสียก่อน จะมีผู้เข้าไปใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ ความอันตรายของสารเคมีตัวนี้คือ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น ทางเดินหายใจ สัมผัสผิวหนัง เยื่อบุตา การรับประทาน

เช็กอาการแพ้ และปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ปัจจุบันมีฝนตก ฝนที่ตกลงมาจากชั้นบรรยากาศย่านที่รับไอระเหยจากสารเคมี จะกลายเป็นฝุ่น PM 2.5 ฉะนั้นกลุ่มที่อยู่ในบริเวณรัศมีห่างจากจุดเกิดเหตุ ไม่เกิน 5 กิโลเมตร ควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำฝน อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น อาจจะมีเกิดผื่นแดง หรืออาการแสบร้อน บริเวณผิวหนัง หากมีการสัมผัสแล้วมีอาการดังกล่าว ควรรีบล้างด้วยน้ำสะอาดให้เร็วที่สุด เป็นเวลาอย่างน้อย 10-15 นาที หรือถ้ามีอาการเกี่ยวกับดวงตา ก่อให้เกิดอาการเคืองตา ปวดตา ตาอักเสบ ใช้วิธีเดียวกัน คือ รีบล้างด้วยน้ำสะอาด แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคความดันสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจในพื้นที่ดังกล่าว ควรระมัดระวังการสัมผัสน้ำฝน เนื่องจาก ฝุ่นส่งผลกระทบโดยตรงกับ ระบบทางเดินหายใจ และระบบหลอดเลือด ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจเกิดสภาวะเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โอกาสที่เกิดอันตรายก็จะมากขึ้น

ผู้ป่วยโควิด-19 ในย่านกิ่งแก้ว สมุทรปราการ อาจส่งผลระยะยาว

...

ผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในบริเวณนั้น จะยิ่งทวีคูณความอันตรายหรือไม่ และต้องรักษาตัวเองอย่างไรนั้น ฝุ่นพิษนี้มีโอกาสสร้างอันตรายแก่ผู้ป่วยมากขึ้น เพราะส่งผลต่อระบบหายใจโดยตรง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สารเคมีที่ระเหยไปกลายเป็น ฝุ่น PM 2.5 อาจส่งผลในระยะยาวได้ อาทิ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ

ถ้าในบ้านมีผู้ป่วยโควิด-19 ต้องป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยสัมผัสสารเคมี หรือ เจออากาศที่มีสารเคมีปนเปื้อน ให้ผู้ป่วยอยู่ในที่มิดชิด ไม่ให้สารเคมีเข้ามาได้ ป้องกันได้โดยวิธีปิดหน้าต่าง อุดรูรั่วตามช่องต่างๆ

ณ ช่วงที่เกิดเหตุการณ์เผาไหม้ หากผู้บาดเจ็บอยู่ในสถานที่ใกล้เคียงมากเกินไปอาจส่งผลต่อชีวิตได้ และถ้าสัมผัสฝุ่นพิษปริมาณมาก อาจจะส่งผลต่อระบบประสาท การมองเห็น การได้ยินได้ ผลในระยะยาวนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงต้องสังเกตอาการตัวเองควรตรวจเช็กร่างกายตัวเอง อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง

บทความโดย : แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์ แพทย์ประจำสาขา ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ