เมื่อหยุดบิด จอดพักบนท้องถนน สายตาที่มองหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ที่เปิดจีพีเอสตลอดเวลา คือการคอยว่าจะมีใครสั่งอาหารให้ไปส่งที่ไหนบ้าง หรือที่เรียกกันว่าฟู้ด เดลิเวอรี่ เมื่อกดรับแล้ว ก็พร้อมบิดรถจักรยานยนต์คู่ใจ รับและส่งให้ถึงมือลูกค้า

นี่คือชีวิตในแต่ละวันของ “ไรเดอร์” ฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือผู้รับจ้างส่งของ ส่งอาหาร ที่ยิ่งทำซ้ำ ทำรอบได้มาก ไม่ว่าจะฝนตกหนักเบา แดดเปรี้ยง ก็ลุยเต็มที่ ในการทำหน้าที่เป็นนักบิดสลายความหิวให้ลูกค้า ซึ่งหมายถึงรายได้ที่มากขึ้น

อาชีพไรเดอร์มีมานานหลายปี ตามกระแสความนิยมในธุรกิจการสั่งอาหาร เครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี่ เพราะตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบาย ไม่อยากเดินทาง จนมูลค่าตลาดฟู้ด เดลิเวอรี่ มีมากถึงปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินว่า ในปี 2563 มีบริการส่งอาหารถึง 66-68 ล้านครั้งต่อปี และเพิ่มขึ้นปีละกว่า 70% ยิ่งในยุคโควิด-19 ระบาดแบบนี้ความต้องการบริการยิ่งมากขึ้น นั่นหมายความว่า เป็นโอกาสของคนที่จะทำอาชีพไรเดอร์ ท่ามกลางวิกฤติที่มีคนตกงานมากขึ้น ถูกลดเงินเดือน และหางานยาก

...

จากการสำรวจของทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน อย่างย่านสยามสแควร์ และลาดพร้าว พบว่ามีไรเดอร์ที่รออยู่บริเวณร้านอาหารที่ได้รับความนิยม และอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ซึ่งส่วนใหญ่รู้จักกัน ซึ่งในช่วงที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ล็อกดาวน์ปิดบริการหลายจุด ทำให้ยอดออเดอร์ลดลง ส่วนพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ พบว่ามีออเดอร์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะหลายคนไม่ได้เดินทางเข้ามาทำงานในออฟฟิศใจกลางเมือง และทำงานที่บ้านกันได้

ระหว่างรอออเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านซูชิ หรือสเต๊ก สลัด เพื่อส่งให้ลูกค้าได้กินอิ่ม สำหรับไรเดอร์เองแล้ว ข้าวกล่อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชงน้ำร้อนจากร้านสะดวกซื้อใกล้ๆ คือความสะดวกที่จะทำให้มีพลังวิ่งต่อได้ตลอดเวลา

เราได้พบกับไรเดอร์รุ่นใหญ่ อายุ 62 ปี คนหนึ่งที่แม้จะอายุสูงวัยกว่าเพื่อนไรเดอร์ด้วยกัน แต่ถือว่าเป็นน้องใหม่ในวงการ เพราะทำงานนี้แล้ว 6 เดือน พร้อมเปิดใจว่า การเป็นไรเดอร์ทำให้มีรายได้ และไม่ต้องพึ่งพาใคร และย้ำว่า อายุไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานนี้ การเรียนรู้เทคโนโลยี ก็ไม่เป็นปัญหา เรียนรู้และทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ถ้าระบบของแอปพลิเคชันไม่ค่อยพร้อม ก็พาลให้หงุดหงิดได้เหมือนกัน

พี่ไรเดอร์ผู้หญิงคนนี้ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ตอนนี้แขวนเสื้อวินมาเป็นไรเดอร์เต็มตัวได้ 4 ปีแล้ว สาเหตุเป็นเพราะรายได้จากการเป็นไรเดอร์ดีกว่าการขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

จากการที่มีแอปพลิเคชันสั่งอาหารมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการก็ตอบรับแอปพลิเคชันสั่งอาหารเป็นอย่างดี ซึ่งต่อวันไรเดอร์สามารถวิ่งได้มากกว่า 20-30 เที่ยว กลายเป็นรายได้สำคัญสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน

ไรเดอร์อีกคนหนึ่งเป็นไรเดอร์หนุ่มวัย 20 ต้นๆ เขาเล่าให้ฟังว่า การเป็นไรเดอร์สามารถทำรายได้ถึงขั้นส่งตัวเองเรียนหนังสือได้เลย เฉลี่ยรายได้สัปดาห์ละ 14,000 บาท โดยเฉพาะช่วงนี้หลายคนอยู่บ้าน และสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น

...

ไรเดอร์หนุ่ม เผยเคล็ดลับการเป็นไรเดอร์เอาไว้ว่าต้องขยัน อดทน ตรงเวลา และต้องมีความทุ่มเทแบบสุดๆ ชนิดที่ว่าไม่เหนื่อยก็จะยังไม่พัก ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีเคอร์ฟิว ก็จะเริ่มทำงานตั้งเช้าตรู่ บริการยาวๆ ไปจนถึงเที่ยงคืน ซึ่งช่วงพีกที่สุดก็คือช่วงเวลาประมาณราวๆ สองทุ่ม

ในบรรดาพี่น้องกลุ่มไรเดอร์ ยอมรับว่า ในการรับส่งอาหารในช่วงโควิด-19 สิ่งที่สำคัญก็คือการระวังตัวเองขั้นสูงสุด เช่น ลดการสัมผัส ทั้งเงินสดและการส่งสินค้าให้ลูกค้า โดยจะเน้นไปที่การโอนเงินแทน ส่วนอาหารพอไปถึงจุดส่งก็จะวางอาหารไปตามจุดต่างๆ แทนการส่งมือต่อมือ ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ก็จะใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดก่อนส่งและรับทุกครั้ง

ยุคนี้ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับคำว่า อดทน และพยายามอย่างเต็มที่ อย่างชาวไรเดอร์ที่ต้องแข่งกับเวลาอยู่ตลอดเวลา

เรื่องและภาพ: เอกลักษณ์ ไม่น้อย