"ทำไม ปตท. ถึงไปทำยา ทั้งที่คุณอยู่ในโลกอุตสาหกรรมที่เป็นพลังงาน"

ประโยคเปลี่ยนทัศนคติทำไมเราต้องยึดติดว่า ปตท. เท่ากับธุรกิจพลังงาน หลังจากเราได้พูดคุยกับผู้บริหารหญิงเก่งแห่งองค์กรใหญ่ระดับประเทศ เมื่อโลกได้เจอวิกฤติโรคระบาดที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไปสิ้นเชิง หลายธุรกิจหากไม่รู้จักปรับตัวให้ทัน ก็ต้องอำลาปิดกิจการ แต่สิ่งนี้คงไม่เกินขึ้นกับ ปตท. เพราะการมองโลกอีกมุมของคุณอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แทนตัวเองอย่างน่ารักกับเราว่า "พี่จุ๋ม" ที่มองวิกฤติครั้งนี้เป็นความท้าทาย ต่อยอดเป็นโอกาส เดินหน้าให้ลงทุนในธุรกิจอื่น ใช้ความสามารถที่มีประยุกต์เข้ากับคู่ค้า กลายเป็นโอกาสสร้างรายได้ และพูดคุยถึงบทบาทผู้บริหารหญิงในยุคนี้ ทิ้งท้ายประโยคเด็ด "ผู้หญิงสมัยนี้เก่งนะ" บทสัมภาษณ์ทรงพลังที่ไม่อยากให้พลาดจริงๆ

เปลี่ยนความท้าทาย
เป็นโอกาส

Thairath Talk : คุณอรวดีทำงานด้านการวางแผนกลยุทธ์องค์กรของ ปตท. ผมเลยอยากรู้ว่าในมุมมองของ ปตท. มองความท้าทายที่เขาเรียกว่า Disruption ของโลกนี้อย่างไร เราสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้หรือไม่

ธุรกิจที่เราทำอยู่มาจากน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติ 100% หรือไม่ คงไม่ใช่แล้ว เราต้องมีธุรกิจที่ต้องมาเสริม เพื่อสนับสนุนให้ความสำคัญกับความต้องการของโลกในเรื่องของพลังงานสะอาด ประกอบกับปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ราคาถูกลง มาช่วยสนับสนุนในการแข่งขัน อย่างเช่น พลังงานลม พลังงานแสงแดด เข้ามาทดแทนพลังงานที่เราทำได้มากขึ้น ดังนั้นแล้ว ปตท. จะต้องปรับตัวอย่างไร ในช่วง 2 ปีหลัง เราให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก

และในช่วงปีที่ผ่านมา มีโควิด-19 มันคือโรคระบาดที่กระจายไปทั่วโลก มันเป็นมากกว่าการระบาด แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจทั่วโลก โรคระบาดนี้ทำให้คนไม่สามารถจะอยู่ใกล้ชิดกัน มันเลยเป็นความท้าทายตรงที่การเดินทางมันลดลงไปโดยธรรมชาติ ภาคการขนส่งคือหายไปหมด ปตท. เองมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งมากถึง 1 ใน 3 ของรายได้หรือกำไรมาจากพลังงานเพื่อการขนส่ง นี่จึงเป็นความท้าทายว่าโลกไม่ได้ต้องการการเคลื่อนที่มากอีกแล้ว เราสามารถทำงานออนไลน์ได้

เราเลยสรุปความท้าทายในยุคที่เจอโรคระบาดนี้ออกมาเป็น

1. Technology Transition
2. Technology Disruption
3. Economic Downturn การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะกลับมาใหม่ ไม่รู้ว่า New Normal ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ในเมื่อคนก็ไม่ได้ต้องการเดินทางมากแล้ว

เลยมองว่า 3 ความท้าทายที่กล่าวมา โรคระบาดอาจจะหายไป แต่วิถีการใช้ชีวิตของคนจะเปลี่ยนไปแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่มองเห็นเป็นโอกาสก็คือ เมื่อเกิดโรคระบาด ก็ทำให้คนใส่ใจสุขภาพ ปตท. จึงไม่ได้มองธุรกิจพลังงานอย่างเดียวแล้ว อาจจะมองไปถึงธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถตอบสนองสิ่งที่เกิดในอนาคตได้ เช่น สุขภาพอนามัย ความปลอดภัย เหล่านี้ล่ะค่ะที่เราจะนำมาปรับจากความท้าทายจะปรับเป็นโอกาสได้อย่างไร

Thairath Talk : ผมมองโลโก้ ปตท. ก็จำฝังใจว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงาน ตอนนี้จะหันมาลงทุนในตลาดสุขภาพด้วย

เทรนด์ของโลกเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพ ธุรกิจ Life Science ถึงได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ในมุม ปตท. หันมาสนใจเรื่องธุรกิจสุขภาพ เอาจริงๆ เราทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพบ้าง เพราะเรามีธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งปิโตรเคมีใช้ในหลายด้าน นอกจากสินค้าอุปโภคจำพวกพลาสติกต่างๆ ล้วนมาจากปิโตรเคมีทั้งหมด และปิโตรเคมีมันไปได้ดีกับอุปกรณ์ทางการแพทย์

และ ปตท. ก็ลงทุนในเรื่องของยา เราพูดได้เต็มปากกับคำว่า "ยา" ก่อนหน้านี้คนก็จะระวังคำนี้ เพราะว่า ปตท. ทำไมถึงไปทำยา ทั้งที่คุณอยู่ในโลกอุตสาหกรรมที่เป็นพลังงาน

ยา หรือ Pharmacy ที่เราจะพูดถึงในมุม ปตท. เรามีพาร์ทเนอร์ที่จะร่วมไปกับเรา โดยในตอนนี้เราได้ร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์ ที่มาสนับสนุนช่วยกันทดลองผลิตภัณฑ์ เพราะ ปตท. เชี่ยวชาญในเรื่องการทำโรงงานและการผลิต แต่คนที่จะเชี่ยวชาญในด้านข้อมูลสถิติ ก็ต้องมาจากฝั่งผู้ใช้ เพื่อให้แน่ใจธุรกิจที่เราตั้งใจจะลงทุนสามารถเติบโตได้

ปตท.
องค์กรแห่งความเท่าเทียม

Thairath Talk : สมัยก่อนเขาบอกช้างเท้าหน้าคือผู้ชาย ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว อย่างคุณอรวดีก็คือตัวอย่างที่ผมเห็นได้ว่าผู้หญิงก็มีสิทธิ์นำหน้าพาองค์กรยักษ์ใหญ่ของประเทศไปข้างหน้าได้

อันนี้ต้องขอขอบคุณ ปตท. นะคะที่ให้โอกาสกับผู้หญิง ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับรองประธานของหน่วยงานขึ้นมา นี่คือ Diversity ที่ดี ที่โลกควรจะเป็น เพราะ ปตท. เป็นองค์กรระดับสากล ผู้ชายหรือผู้หญิงจึงควรมีความเท่าเทียม

เมื่อก่อน ปตท. ให้ความสำคัญภาคการผลิต ดังนั้นผู้ทำตำแหน่งวิศวกร จึงถือว่าเป็นสายงานหลัก เป็นสายงานที่โตและคนทำงานสามารถแสดงความสามารถได้ชัดเจน แต่พอระยะหลังๆ ปตท. ได้กระจายไปทำธุรกิจอื่นๆ ดังนั้นก็จะเป็นภาพกว้างที่จะมีผู้หญิงเข้ามาอยู่ในองค์กรมากขึ้น

ระยะหลังๆ ผู้หญิงเก่ง ลองดูอาชีพที่เข้ามหาวิทยาลัยตอนนี้สิคะ เมื่อก่อนแพทย์ส่วนใหญ่ผู้ชายเยอะ เดี๋ยวนี้แพทย์ที่เป็นผู้หญิงก็เยอะ วิศวกรเป็นผู้หญิงก็มากขึ้น คือความเป็นผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เห็นได้ชัดเลยว่าโลกมันเปลี่ยนไปนะ และมาเปลี่ยนในช่วงของเรา แม้ผู้หญิงจะต้องทำงานหนักกว่าผู้ชาย เพื่อพิสูจน์ว่า สิ่งที่ผู้ชายทำได้รับการยอมรับ ด้วยสายงานในมุมมองเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในเวลานั้นผู้หญิงอาจจะต้องโชว์ความสามารถให้มากกว่า

แต่สิ่งหนึ่งที่พี่มองเห็นเลยนะ ข้อดีของผู้หญิงคือมีความอดทนสูง (ยิ้ม) และมีความละเอียดรอบคอบ

ปรัชญาทำงาน
ถึงเหนื่อยก็คุ้ม

Thairath Talk : ตำแหน่งของคุณอรวดีกำลังทำอยู่ ภาระหน้าที่มากมาย ได้ข่าวประชุมวันหนึ่งเป็นสิบมีตติ้ง เหนื่อยไหมครับ

ถ้าเป็นเมื่อก่อน เหนื่อยจริงค่ะ (เสียงเข้ม) เหนื่อยขนาดเวลากลับถึงบ้านก็อยากจะเอาสมองไปวางไว้ที่อื่น คือมันล้า แต่พอมาดูเนื้องานวางกลยุทธ์องค์กรแล้ว มันเหมาะกับตัวพี่ดี เพราะพี่เป็นคนที่ชอบคิด ชอบมองเห็นแนวทางข้างหน้าขององค์กร แล้วยิ่งพอได้ย้อนกลับมาดูสิ่งที่เราวางแผนล่วงหน้าเอาไว้สัก 5 ปี มันตรงกับที่เราคาดคะเนไว้ มันใช่นี่ มันได้นี่ มันเป็นความภูมิใจ มันเลยสนุกที่จะทำ ถึงเหนื่อยแต่สนุก จริงๆ มันก็คุ้มนะคะ

Thairath Talk : หน้าที่ของคุณอรวดีคือการวางกลยุทธ์องค์กร ติดนิสัยวางกลยุทธ์วางแผน กลับไปใช้ที่บ้านด้วยไหม

(หัวเราะ) เป็นค่ะ มันเป็นไปโดยไม่รู้ตัว เป็นคนชอบคิดล่วงหน้า ตอนเช้าๆ พี่ต้องจดโน้ตว่าวันนี้เราจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะงานมันเข้ามาเยอะ ติ๊กเป็นข้อๆ เลยเพื่อให้ไม่ลืมว่าต้องทำอะไรบ้าง

แต่เสาร์อาทิตย์นี่หยุดจริงๆ นะคะ ช่วงวันหยุดพยายามจะเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด พี่สามารถที่จะนั่งเฉยๆ หรือนั่งดูหนังไร้สาระ หรือบางทีก็อ่านข่าวสาร ติดตามคลิปของยูทูบเบอร์ที่ชอบ แต่งหน้าสวยๆ ทำอย่างไร หาความรู้ที่มันกระจายออกไป ไม่ยึดติดกับเรื่องที่เราทำในงานประจำ

อนาคต
ปตท.

Thairath Talk : ตลอดหลายสิบปีที่คุณอรวดีทำงานใน ปตท. มา และใกล้ที่จะเกษียณอายุ เรามอง ปตท. เป็นอย่างไร

เป็นองค์กรที่ไม่อยู่นิ่ง ให้ความสำคัญกับการบริหารคน การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ดี มีระบบการจัดการที่ดี พี่อาจจะชมเกินไป แต่ว่าเราทำแบบนี้จริงๆ ค่ะ ยิ่งเราอยู่ในหน้าที่ที่ต้องผลักดันเรื่องนี้ด้วย และเป็นองค์กรที่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อตัวเอง ทุกครั้งที่มีการประชุมผู้บริหาร เราวางกลยุทธ์อย่างไร คนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา เราทำอะไรเพื่อใครบ้าง เป็นหลักที่ ปตท. ใช้อยู่เสมอ ซึ่งถ้าเรารักษาตรงนี้ไว้ได้ ปตท. ก็อยากจะเป็นองค์กรร้อยปี

ที่สำคัญคือ จิตวิญญาณที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเพื่อคนอื่นยังอยู่ แต่เราก็ต้องเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมภายนอก มันอาจจะกระทบกับจิตวิญญาณและตัวตน แต่เราก็ต้องไปในทิศทางที่คนอื่นอยากจะไป เปลี่ยนไปตามทิศทางของโลกที่มันจะเป็น