- หลายครั้ง ความคิดแง่ลบที่ไม่ได้รับการดูแลแก้ไข ก็สามารถทำให้เรา ‘ไม่โปรดักทีฟ’ (Non-Productive) หรือ ‘งานไม่เดิน’ และแม้หลายคนจะบอกว่า ชีวิตเราไม่จำเป็นต้องโปรดักทีฟตลอดเวลา แต่โปรดอย่าลืมว่า เรายังต้องทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งงานเหล่านั้นล้วนต้องการ ‘ความโปรดักทีฟ’ จากเรา
- ฉะนั้น การพยายามจัดการกับความคิดที่อาจส่งผลร้ายต่อการทำงานให้ได้บ้าง ก็น่าจะดีกว่าการปล่อยให้มันเข้าครอบงำ และจบวันลงด้วยการที่เรา ‘ทำอะไรไม่เสร็จเลยสักอย่าง’ -- เหล่านี้คือ ‘ความคิดแง่ลบ’ ที่เราต้องคอยจับตา เพื่อไม่ให้พวกมันมาพราก ‘ความโปรดักทีฟ’ ไปจากเรา
ในแต่ละวัน ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ จะกำลังทำงาน หรือพักผ่อน -- สิ่งหนึ่งที่เรามักห้ามตัวเองไม่ได้บ่อยๆ ก็คือ ‘ความคิด’
แต่ถึงเราจะห้ามความคิดของตัวเองได้ยาก ทว่าการพยายาม ‘รู้เท่าทัน’ มัน ก็เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ เพราะหากเราปล่อยให้ความคิดในหัวเป็นไปตามสถานการณ์ตรงหน้า หรืออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ได้ง่ายเกินไป มันก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โรคระบาดยังเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีทางในการทำสิ่งต่างๆ และบีบคั้นให้ผู้คนต้องหดหู่ทุกข์ใจจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร
พูดง่ายๆ ก็คือ หลายครั้ง ความคิดแง่ลบที่ไม่ได้รับการดูแลแก้ไข ก็สามารถทำให้เรา ‘ไม่โปรดักทีฟ’ (Non-Productive) หรือ ‘งานไม่เดิน’ นั่นเอง
และแม้หลายคนจะบอกว่า ชีวิตเราไม่จำเป็นต้องโปรดักทีฟตลอดเวลา แต่โปรดอย่าลืมว่า เรายังต้องทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งงานเหล่านั้นล้วนต้องการ ‘ความโปรดักทีฟ’ จากเรา ฉะนั้น การพยายามจัดการกับความคิดที่อาจส่งผลร้ายต่อการทำงานให้ได้บ้าง ก็น่าจะดีกว่าการปล่อยให้มันเข้าครอบงำ และจบวันลงด้วยการที่เรา ‘ทำอะไรไม่เสร็จเลยสักอย่าง’
...
เหล่านี้คือ ‘ความคิดแง่ลบ’ ที่เราต้องคอยจับตา เพื่อไม่ให้พวกมันมาพราก ‘ความโปรดักทีฟ’ ไปจากเรา
1) ไม่มีตรงกลาง : หากทำไม่ได้ตามเป้า 100% จะถือเป็นความล้มเหลว
‘ไม่มีตรงกลาง’ เป็นความคิดสุดโต่งประเภทที่มีแต่คำว่า ‘ใช่’ กับ ‘ไม่’ อยู่ในหัว เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ได้แบบครบถ้วน 100% เราก็มักจะคิดว่านั่นคือ ‘ความล้มเหลว’ เสมอ ตัวอย่างเช่น วันนี้ เราตั้งเป้าว่าอยากทำงาน 10 อย่างให้เสร็จ แต่ทำได้จริงเพียงครึ่งเดียว ซึ่งเมื่อวัดออกมาเป็นตัวเลขแล้ว จึงทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองเมื่อหมดวัน และอาจส่งผลให้งานในวันถัดๆ ไปไม่โปรดักทีฟเท่าที่ควร
ลองคิดดูใหม่ : เผื่อพื้นที่ ‘ตรงกลาง’ ของเป้าหมายเอาไว้ตั้งแต่ต้น เราไม่จำเป็นต้องวางเป้าหมายให้สุดโต่ง เช่น หากมองว่า 5 เป็นตัวเลขของจำนวนงานที่ทำได้ในวันนั้นจากเป้าหมาย 10 อย่าง เราก็อาจลองคิดว่าตัวเองสามารถทำได้ ‘ตั้งครึ่งหนึ่ง’ ของทั้งหมดแล้ว และเตรียมตั้งหลักเพื่อรับมือกับงานใหม่ๆ ในวันต่อไปแทน
2) เหมารวมเกินเหตุ : หากทำพลาดครั้งนี้ ครั้งหน้าก็คงทำพลาดอีก
‘เหมารวมเกินเหตุ’ เป็นความคิดที่สุดโต่งแทบไม่ต่างจาก ‘ไม่มีตรงกลาง’ เพราะมันคือการคิดไปก่อนล่วงหน้าว่า หากครั้งนี้เราทำพลาด ครั้งหน้าเราก็คงทำพลาดอีกเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น วันนี้ เราทำงานได้แค่ 5 จากเป้าหมาย 10 อย่างที่ตั้งไว้ เราจึงคิดไปล่วงหน้าแล้วว่า พรุ่งนี้คุณก็คงทำได้แค่ 5 อย่าง หรือเผลอๆ อาจน้อยกว่านั้น เพราะเราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ ‘ไม่มีประสิทธิภาพ’ จนทำให้ไม่กล้าที่จะทำตัวโปรดักทีฟอีก
ลองคิดดูใหม่ : คิดไว้เสมอว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต หรือถ้ามันเกิดขึ้นอีก ก็จงนำมาไตร่ตรองอย่างมีสติว่า ปัญหาในแต่ละครั้งคืออะไร เช่น จำนวนงานที่เราตั้งไว้เยอะเกินกว่าจะทำได้จริง (ลดจำนวนลงได้หรือไม่?) หรือวิธีการทำงาน/การจัดลำดับงานในแต่ละวันที่เราทำอยู่นั้น อาจไม่สอดรับกับศักยภาพของตัวเอง ทั้งด้านลักษณะการทำงาน สภาพร่างกาย และปัจจัยแวดล้อม (ปรับเปลี่ยนวิธีการ/ลำดับงานที่ต้องทำได้ไหม?) เป็นต้น
...
3) ไม่ยอมรับคำชม : เอาแต่คิดว่าตัวเองไม่ใช่คนที่สมควรได้รับคำชม
‘ไม่ยอมรับคำชม’ เป็นความคิดที่มักเกิดกับคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง โดยจะสังเกตได้ว่าคนเหล่านี้มักมีปัญหากับการได้รับ ‘คำชื่นชม’ จากผู้อื่น ตัวอย่างเช่น มีคนบอกว่า เราทำงาน 10 อย่างตามเป้าได้ ‘ดีมาก’ แต่เรากลับบอกว่า มันไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่เป็นเพราะคนอื่นหรือปัจจัยอื่นเกื้อหนุนมากกว่า หรือเป็นเพราะยังมีคนอื่นที่ทำสิ่งเดียวกันนั้นได้ดีกว่าเรา จนทำให้ความโปรดักทีฟที่ผ่านมาของเราดู ‘ไร้ค่า’ ในสายตาตัวเอง
ลองคิดดูใหม่ : การสร้างความมั่นใจให้ตัวเองอาจต้องใช้เวลา แต่เทคนิคหนึ่งที่พอจะช่วยได้ คือการ ‘หัดชมตัวเอง’ อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อวัน หรือต่อสัปดาห์ ว่ามีสิ่งใดที่เรา ‘ทำได้’ ไปแล้วบ้าง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดูเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ซึ่งมันอาจเป็นเพียง ‘ชั่วขณะ’ ที่เรารู้สึก ‘มีลูกฮึด’ ในระหว่างการทำงานก็ได้ เช่น ตอนที่คุณสามารถจบงานได้ ‘มากถึง’ 3 อย่างติดต่อกัน หรือตอนที่คุณได้ทดลอง ‘พยายาม’ ทำงานอื่นนอกเหนือไปจากงานที่คุ้นเคย -- จากนั้น คุณก็อาจเริ่มมองเห็นความสามารถหรือความพยายามของตัวเอง และเปิดใจยอมรับคำชมจากคนอื่นได้ง่ายขึ้น
...
4) เอาอารมณ์มาเป็นเหตุผล : เอาแต่ประเมินตัวเองในตอนที่อารมณ์ยังคุกรุ่น
มีหลายครั้งที่การคิด ‘เอาอารมณ์มาเป็นเหตุผล’ คือปัญหาที่ทำให้งานของคุณไม่เดินหน้าไปไหนเสียที เพราะคุณอาจ ‘รู้สึกไปเอง’ ว่างานของคุณไม่ดีพอ หรือตัวคุณยังทำงานไม่เก่ง ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป แต่เป็นการเอาอารมณ์เข้ามาผสมปนเปจนทำให้การประเมินตัวเองนั้นดูย่ำแย่เกินจริง ตัวอย่างเช่น คุณมัวแต่เสียใจกับการทำงานได้เพียง 5 อย่างต่อวัน จนคุณลืมมองว่างานที่ทำไปนั้นอาจ ‘ดีกว่า’ การฝืนทำงานอีก 5 อย่างที่เหลือต่อไปให้ครบ ซึ่งอาจส่งผลให้งานถัดจากนั้นยิ่งแย่ลง เพราะไม่มีที่แก่ใจจะโปรดักทีฟได้
ลองคิดดูใหม่ : ลองใช้เวลาครั้งละไม่เกิน 30 นาที ‘รู้สึก’ ไปกับอารมณ์ที่ผุดขึ้นมาระหว่างการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจ, ความรู้สึกผิด, ความกระวนกระวาย หรือแม้แต่ความโกรธ เมื่อครบเวลาแล้ว ลองลุกไปทำ ‘สิ่งอื่น’ แทน เช่น หากเกิดอารมณ์แง่ลบเหล่านี้ในระหว่างการทำงานที่ 4 กับ 5 ให้ลองเปลี่ยนไปทำงานที่ 5 แทน เพื่อหลีกหนีจากอารมณ์นั้น หรือหากเป็นอารมณ์แง่ลบที่เกิดขึ้นหลังสิ้นสุดวันทำงาน ก็ให้หากิจกรรมผ่อนคลายทำ โดยเลิกคิดวนเวียนถึงงานเก่าที่พลาดไป เพื่อพร้อมรับมือกับงานใหม่ในวันพรุ่งนี้ เป็นต้น
...
5) ยึดติดกับคำว่า ‘ควร’ เกินไป : ตั้งความหวังไว้สูงลิบ จนทำร้ายความรู้สึกตัวเอง
การยึดติดกับคำว่า ‘ควร’ เกินไป มักเป็นความคิดที่เกิดจาก ‘ความคาดหวัง’ ที่คุณมีต่อตัวเอง ว่า ‘ควร’ ต้องทำอะไรบ้าง และ ‘ควร’ ต้องทำมันออกมาได้อย่างมีประสิทธิผลเพียงใด ตัวอย่างเช่น คุณ ‘ควรทำงานที่สมบูรณ์แบบให้ได้ 10 อย่าง’ ต่อวัน แต่คุณกลับทำไม่ได้ตามนั้น ทั้งที่จริงๆ งานที่ทำได้ในแต่ละวันของคุณอาจไม่จำเป็นต้อง ‘สมบูรณ์แบบ’ ถึงเพียงนั้น หรือมีปริมาณที่ ‘เท่ากัน’ ในทุกวันเสมอไป
ลองคิดดูใหม่ : หาให้เจอก่อนว่า คำว่า ‘ควร’ ที่กลายเป็นความคาดหวังที่ทำร้ายคุณให้ไม่โปรดักทีฟนั้น มีที่มาจากไหน จากเจ้านาย, เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัวกันแน่ แล้วลองเจรจา หรือทำความเข้าใจกับพวกเขา เพื่อให้สิ่งที่คุณยึดมั่นว่า ‘ควร’ นั้นสามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้บ้าง หรือหากไม่สามารถปรับเข้าหากันได้จริงๆ ก็อาจต้องพิจารณาว่ามีสิ่งอื่นอีกไหมที่คุณพอจะทำได้ เพื่อไม่ให้ความคาดหวังจากคนอื่น-รวมถึงตัวเอง-ย้อนกลับมา ‘ทำร้าย’ ความรู้สึกมากจนเกินไป
กล่าวโดยสรุปคือ ใส่ใจกับสิ่งที่ ‘สามารถทำได้’ มากกว่าสิ่งที่ ‘ไม่สามารถทำได้’ (เช่น หาทางปรับวิธีการทำงานให้ตัวเองสามารถ ‘รับมือไหว’ ที่สุดเท่าที่พอทำได้ แม้จะยังจำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้ความคาดหวังบางอย่างที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้) และรู้จักภูมิใจกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ (เช่น เลิกยึดติดกับจำนวนและความสมบูรณ์แบบของงานทุกอย่าง แล้วหันไป ‘ให้รางวัลตัวเอง’ จากความพยายามในการทำงานบางชิ้นจนลุล่วงได้ด้วยดี) ในแต่ละวัน
ฉะนั้นแล้ว เมื่อคุณจ๊ะเอ๋เข้ากับความคิดแง่ลบเหล่านี้ในระหว่างวัน ก็จงทำความรู้จักกับพวกมันเอาไว้ และพยายามทำความเข้าใจโดยไม่จำเป็นต้องตามติดความคิดแย่ๆ ให้ตัวเองต้อง ‘จิตตก’ ไปเสียก่อน
เพื่อให้เรายังสามารถมีร่างกายและจิตใจที่พร้อมจะผลักดันตัวเองให้ ‘โปรดักทีฟ’ ต่อไปในอนาคต.
อ้างอิง: Well and Good, Forge, Real Simple