เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน และนางวันทอง คือ หนึ่งในวรรณคดีไทยที่หลายคนรู้จักกันดี ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนระดับชั้นต่างๆ ความงดงามด้านวรรณศิลป์ และเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ชวนติดตาม ทำให้ขุนช้างขุนแผนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ และบทละครอยู่บ่อยครั้ง 

โดยเฉพาะ "วันทอง" ละครโทรทัศน์ที่เพิ่งลาจอไป พร้อมกับการตีความฉบับใหม่ ยิ่งทำให้วรรณคดีเรื่องนี้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้ง เคยสงสัยกันไหมว่า "ขุนช้าง" และ "ขุนแผน" ที่เราเคยได้ยินชื่อมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ จริงๆ แล้วมีความเป็นมาอย่างไร และตัวละครหลักในเรื่องขุนช้างขุนแผน มีตัวตนในประวัติศาสตร์จริงไหม?

เรื่องย่อขุนช้างขุนแผน มหากาพย์รักสามเส้า ที่คนไทยรู้จักกันดี

ขุนช้างขุนแผน เล่าเรื่องราวของ "พิมพิลาไลย" หญิงสาวรูปงามแห่งเมืองสุพรรณบุรี (จังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน) ที่ความสวยเป็นเหตุทำให้ชะตาชีวิตของเธอต้องเจอเรื่องร้ายๆ เพราะพิมพิลาไลยมีผู้ชาย 2 คน แอบหมายปอง ได้แก่ "พลายแก้ว" หนุ่มรูปงาม มีความรู้ด้านวิชาอาคม และ "ขุนช้าง" ชายหนุ่มรูปร่างอ้วน ศีรษะล้าน บุตรชายเศรษฐีตระกูลมั่งคั่ง 

...

ต่อมาพลายแก้ว ได้มาสู่ขอพิมพิลาไลย อยู่กินเป็นสามี-ภรรยา แต่แล้วสมเด็จพระพันวษา เรียกตัวพลายแก้วให้ยกทัพไปปราบศึกที่เชียงใหม่ และเลื่อนยศให้เป็น "ขุนแผน" แต่เมื่อขุนแผนกลับเมืองสุพรรณ กลับนำหญิงสาวคนอื่นกลับมาด้วย ทำให้พิมพิลาไลยไม่พอใจ ขุนแผนจึงพาผู้หญิงคนใหม่ไปอยู่ด้วยกันที่เมืองกาญจน์แทน

ระหว่างนั้นพิมพิลาไลยตรอมใจจนป่วยไข้ จึงเปลี่ยนชื่อแก้เคล็ดเป็น "วันทอง" เมื่อขุนแผนห่างหายไปนาน ทำให้ "ขุนช้าง" ซึ่งแอบหลงรักวันทองมานาน ออกอุบายว่าขุนแผนตายในสนามรบ และตนจะสู่ขอวันทองมาเป็นภรรยาเพื่อไม่ให้ต้องกลายเป็นแม่ม่าย

เรื่องราววุ่นวายมากขึ้น เมื่อขุนแผนกลับมาแล้วรู้ความจริง จนกลายเป็นศึกชิงนางระหว่าง 2 เพื่อนรัก ทำให้ขุนช้างตัดสินใจถวายฎีกาต่อสมเด็จพระพันวษา แต่เรื่องราวกลับตาลปัตรเมื่อวันทองถูกมองเป็นหญิงสองใจ และนำไปสู่การถูกประหารในที่สุด

ประวัติขุนช้างขุนแผน เรื่องจริง หรือเรื่องแต่ง?

ขุนช้าง ขุนแผน และนางวันทอง เป็นตัวละครที่ปรากฏอยู่ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน หรือที่เรียกกันว่า "ขุนช้างขุนแผน" จัดเป็นหนึ่งในวรรณคดีไทยที่คนไทยรู้จักมากที่สุด โดยเนื้อเรื่องประพันธ์ด้วยบทกลอน เรียงร้อยเป็นเรื่องราวที่มีตัวละครหลักเป็น 1 หญิง 2 ชาย จนทำให้เกิดศึกชิงนาง และเรื่องราวรักสามเส้าทำลายมิตรภาพของพวกเขา สำหรับที่มาของขุนช้างขุนแผน แบ่งออกเป็น 2 ข้อสันนิษฐานหลัก ดังนี้

1. เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ข้อสันนิษฐานแรกยึดตามหนังสือคำให้การของชาวกรุงเก่า เชื่อว่าขุนช้างขุนแผนถูกสร้างมาจากเค้าโครงเรื่องจริง ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกลายเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาหลายร้อยปี

โดยในเสภาขุนช้างขุนแผน มีการเอ่ยชื่อ "สมเด็จพระพันวษา" ซึ่งเชื่อว่าหมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034 - 2072) พระมหากษัตริย์องหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดย "ขุนแผน" เป็นทหารเอกของพระพันวษาที่ออกรบปราบกบฏที่เมืองเชียงใหม่

2. เรื่องเล่าของคนในคุก 
แม้คำว่า "เสภา" ที่เรารู้จักกันจะหมายถึง กลอนเรื่องเล่าขนาดยาว ที่มีการตีจังหวะประกอบ แต่คำนี้ยังสามารถแปลว่า "คุก" ได้อีกด้วย ก็อาจเป็นไปได้ว่าขุนช้างขุนแผนคือเรื่องเล่าของคนในคุก ที่ใช้เวลาว่างเล่าเรื่องสนุกกัน โดยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าตัวละครขุนแผน ก็เคยเป็นนักโทษอยู่ในคุกเช่นเดียวกัน เมื่อออกมาจากคุกก็กลายเป็นเรื่องเล่าที่นิยมเล่าสืบต่อกันมา 

จากเรื่องเล่าสู่ "บทเสภาขุนช้างขุนแผน" ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณ ถูกนำมาประมวลเป็นบทเสภาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บางตอนด้วยพระองค์เองด้วย

...

อีกทั้งโปรดเกล้าฯ ให้พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือสุนทรภู่ เป็นผู้ประพันธ์เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม ซึ่งเป็นตอนที่มีชื่อเสียงที่สุด และได้กลายมาเป็นแบบเรียนไทยในปัจจุบัน

เสภาขุนช้างขุนแผน และเรื่องนางวันทอง เป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าด้านวรรณศิลป์ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นวิถีชีวิต คติความเชื่อ และแนวคิดของผู้คนในอดีตได้เป็นอย่างดี แต่ในอีกแง่หนึ่งก็สะท้อนถึงสภาพสังคมชายเป็นใหญ่ และการลิดรอนเสรีภาพของผู้หญิง ซึ่งมีส่วนทำให้ตัวละครวันทองถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงสองใจนั่นเอง

ที่มาของข้อมูลและภาพ : ช่อง One31