ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันขับเคี่ยวรุนแรงที่สุด การจะมาเป็นหัวเรือใหญ่นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงต้องอาศัยฝีไม้ลายมือและวิสัยทัศน์เฉียบคมถึงจะมีชัยเหนือคู่แข่ง “สิงห์ เอสเตท” พลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการอสังหาฯ ด้วยการตั้งมือการเงินสุดแกร่ง “ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์” ขึ้นเป็นซีอีโอหญิงคนแรก ประเดิมความสำเร็จด้วยการสร้าง New S-Curve คว้าสิทธิ์ซื้อหุ้นในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนรวดเดียว 3 แห่ง มูลค่ากว่า 1,392 ล้านบาท พร้อมทะยานสู่เป้าหมายใหญ่เร่งเครื่องขยายธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด 3 เท่า ภายในเวลา 3 ปี
“สิงห์ เอสเตท ประกาศว่าปี 2564 จะเป็นปีสำคัญก้าวสู่เฟสต่อไปของการพัฒนาธุรกิจ โดยจะเดินหน้าแผนเชิงกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ เพื่อต่อยอดและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน เราพร้อมแล้วที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า, ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เพื่อจะมาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับ 3 กลุ่มธุรกิจที่เป็นแกนหลักแต่เดิม คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์, ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม”...ซีอีโอหญิงแกร่งบอกเล่าถึงยุทธศาสตร์ในอนาคต
การรุกคืบปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้ “สิงห์ เอสเตท” ขนาดไหน
ผลจากการผนึกกำลังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง จะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด และสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างมั่นคงให้กับ “สิงห์ เอสเตท” โดยเราตั้งเป้าว่าภายในระยะเวลา 3 ปี จะสามารถเพิ่มรายได้ขึ้น 3 เท่าตัว ให้กลายเป็น 20,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับสร้างธุรกิจให้มีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น จาก 65,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ไปเป็น 80,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ขณะเดียวกัน อัตราผลกำไรในการทำธุรกิจก็จะพุ่งสูงขึ้นด้วย
...
“คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษบ้าง
ท่านมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างธุรกิจนี้ให้ยิ่งใหญ่อย่างมั่นคง และมีผลตอบแทนที่แน่นอนสม่ำเสมอ พร้อมกับสร้างโอกาสใหม่ๆในการเติบโต โดยใช้ประโยชน์จากการผนึกกำลังกันใน 4 กลุ่มธุรกิจของ “สิงห์ เอสเตท” มาเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน
ตั้งแต่เข้ามานั่งเป็นซีอีโอ ภารกิจไหนท้าทายความสามารถที่สุด
ภารกิจหลักเลยคือ การเดินหน้าบูรณาการธุรกิจต่างๆของ “สิงห์ เอสเตท” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยผนึกกำลังธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจที่พักอาศัย, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม เข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจให้บริการด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เพิ่มความสามารถในการคว้าโอกาสทางธุรกิจใหญ่ๆที่กำลังจะมีเข้ามา
มองเห็นโอกาสอะไรใหม่ๆในธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถนัดมาก่อน
การได้สิทธิ์ครั้งนี้เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ “สิงห์ เอสเตท” ก้าวสู่การเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ผลิตกระแสไฟฟ้า และให้บริการด้านวิศวกรรมอันดับต้นๆของประเทศไทย พร้อมขยายธุรกิจของเราให้ใหญ่ขึ้นสามเท่าในเวลาสามปี โดยคาดการณ์ว่าโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะสร้างรายได้ราว 7,500 ล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนน่าดึงดูดใจมาก สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือการรุกคืบธุรกิจครั้งนี้ยังจะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจทั้งหมดในเครือ ด้วยการเข้ามาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจที่มีอยู่เดิม จะว่าไปแล้วใบอนุญาตโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตระดับนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะหามาได้ง่ายๆ “สิงห์ เอสเตท” ได้รับสิทธิ์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญถึง 3 แห่ง ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ทำให้เรามีฐานธุรกิจที่มั่นคงในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ทั้งนี้ ไฟฟ้าจำนวน 270 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นเกือบ 70% ของกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ขายได้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว และจะเป็นราคาตามที่ตกลงกันแล้ว ทำให้มั่นใจว่าจะสร้างรายได้เข้ามาต่อเนื่องและยั่งยืน
3 โรงไฟฟ้าใหญ่ที่เข้าไปถือหุ้น มีความน่าดึงดูดใจแตกต่างกันอย่างไร
เราได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการเข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกัน 400 เมกะวัตต์ โดยเป็นสิทธิ์ซื้อที่ราคาพาร์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 1,392 ล้านบาท โรงไฟฟ้าแห่งแรกคือ “อ่างทอง เพาเวอร์” มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 123 เมกะวัตต์ เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวในเมืองไทยที่ทำกำไรโดยไม่จำเป็นต้องขายไฟให้กับผู้ใช้ทั่วไป และกระแสไฟฟ้าจำนวน 75% ของกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ มีการทำสัญญาซื้อโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต่อเนื่องเป็นเวลา 25 ปี ส่วนแห่งที่สองและสามเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด เป็นเจ้าของใบอนุญาต ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ กำหนดเปิดดำเนินการในปี 2566 จะมีกำลังการผลิตอยู่ที่โรงงานละ 140 เมกะวัตต์
...
วิกฤติไวรัสโควิด-19 มีส่วนกระตุ้นให้ “สิงห์ เอสเตท” เร่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจด้วยไหม
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งยืนยันการตัดสินใจที่ถูกต้องของบริษัทฯในการวางโครงสร้างธุรกิจเป็น 4 กลุ่มเชื่อมโยงกัน เพื่อจะทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากจะคาดเดา ทั้งในประเทศและทั่วโลก ยุคนี้จะโฟกัสอยู่แต่ในอุตสาหกรรมเดียวคงไม่ได้แล้ว ต้องกระจายความเสี่ยง เราหวังว่ากลุ่มธุรกิจที่ 4 จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาต่อยอดธุรกิจอสังหาฯที่เป็นแกนหลักเดิม และจะสร้างรายได้ให้อย่างมากมาย จากเดิมที่รายได้ 15% มาจากธุรกิจอสังหาฯเพื่อการพาณิชย์ ทั้งพื้นที่อาคารสำนักงานและค้าปลีกรวม 140,000 ตารางเมตร, 24% มาจากโรงแรมและรีสอร์ต 39 แห่ง ใน 5 ประเทศ และ 57% มาจากโครงการที่พักอาศัย 23 โครงการ ซึ่งมีทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม
...
ภายใต้การนำของแม่ทัพหญิงคนใหม่ “สิงห์ เอสเตท” จะพลิกโฉม ไปขนาดไหน
ด้วยแนวทางการเดินหน้า 4 กลุ่มธุรกิจของ “สิงห์ เอสเตท” จะทำให้เรามีจุดโดดเด่นที่แตกต่าง และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่เกี่ยวเนื่องได้มากกว่า นอกจากนี้ ยังช่วยให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น จากการเติมเต็มซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ, การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการบูรณาการธุรกิจ พร้อมกันนี้ก็จะช่วยให้เรามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการที่ธุรกิจในเครือมีวงจรทางธุรกิจที่แตกต่างกัน, มีรูปแบบความเสี่ยงไม่เหมือนกัน และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ประจำอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกัน เรากำลังศึกษาแนวคิดและวิธีใหม่ๆระดับโลก นำมาใช้บริหารจัดการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายที่จะแสวงหาความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเสริมความสามารถในการแข่งขันให้แข็งแกร่ง และช่วยขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ