แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ “คลับเฮาส์” (Clubhouse) ได้สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมที่ทำให้คนได้พูดคุย และแสดงความคิดเห็นที่ฮอตสุดตอนนี้ โดยมีรูปแบบของคอนเทนต์ประเภทเดียวคือ เสียง! ไม่มีภาพ ไม่มีข้อความ และเป็นเสียงที่มาจากการจัดรายการสด ไม่มีการฟังย้อนหลัง เสมือนเป็นศูนย์รวมของห้องแชตพูดคุย ที่มีหัวข้อหลากหลายจากทั่วโลก หลายภาษา ไม่มีการเซ็นเซอร์ โดยได้เปิดตัวเมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว แต่ได้รับความนิยมเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อคนดังระดับโลกอย่าง “อีลอน มัสก์” เข้าไปให้สัมภาษณ์ในห้องแชตรูม และทำให้ “คลับเฮาส์” กลายแพลตฟอร์มที่ฮิตและบูมของชาวโซเชียล
เหตุที่ทำให้คลับเฮาส์ กลายเป็นเทรนด์ฮิตทางสังคมนั้น หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เจ้าพ่อไอทีคนดัง ที่ล่าสุดได้เชิญ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” มาพูดคุยทางคลับเฮาส์ ได้ให้มุมมองว่า คลับเฮาส์ ได้มาตอบโจทย์การใช้ชีวิตในช่วงโควิดอย่าง ทันเวลาพอดี เพราะตอนนี้ต้องมีระยะห่างทางสังคม การจัดงานอีเวนต์ งานสัมมนา มีข้อจำกัดเยอะ คลับเฮาส์จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมและบูมมาก และเชื่อว่าจะเป็นขั้วที่ 3 ของโลกโซเชียล รองจากเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ สำหรับเมืองไทยคลับเฮาส์เริ่มบูมในวันที่ 7 ก.พ.ผ่านมา เพียงแค่เดือนเดียว
...
เชื่อว่าน่าจะมีคนโหลดเข้าไปใช้ประมาณ 1 ล้านคนแล้ว ที่จริงคลับเฮาส์ไม่ได้เป็เทคโนโลยีชั้นสูงอะไร แต่ว่าไอเดียโดน คือการสื่อสารด้วยเสียง ซึ่งถือว่าเป็นเบสิก เมื่อก่อนเราก็คุยกันทางโทรศัพท์ ตอนนี้มาคุยกับในรูปแบบอินเตอร์เน็ต ที่ถูกจัดแจงผ่านผู้ควบคุมห้อง (Moderator) มีการเปิด-ปิดไมค์พูด ใครอยากพูดก็กดปุ่มยกมือ คนเข้ามาฟังในห้องก็รู้สึกสนุก จึงถูกจริตของคน และเป็นการรวบรวมกลุ่มก้อนทางความคิด และเป็นที่ชอบของคนที่ชอบพัฒนาตนเอง เพราะอยากจะเก็บเกี่ยวความรู้จากคนที่มีประสบการณ์ที่มาเปิดห้องพูดคุย และคลับเฮาส์เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสังคมครีมๆ หรือสังคมคนคุณภาพมีอยู่จริง มันเป็นจุดบรรจบที่ลงตัวระหว่างคนอยากฟังกับคนอยากพูด ถ้าไม่บรรจบกัน มันคงไม่บูมขนาดนี้
ส่วนจะส่งผลกระทบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหนนั้น เจ้าพ่อไอทีคนดัง “หนุ่ย-พงศ์สุข” บอกว่า ในคลับเฮาส์ไม่มีการเซ็นเซอร์ ดังนั้น การตั้งหัวข้อพูดคุยจึงมีทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สุขภาพ ความงาม ทุกวงการส่วนใหญ่ 95% ยังเป็นเรื่องทางด้านการพัฒนาเชิงธุรกิจ แต่ก็จะมีห่วงๆบ้างในเรื่องที่ผิดศีลธรรมทางเพศ ซึ่งเริ่มเห็นบ้างแล้ว ก็มีพวกนี้หลงหูหลงตา มันหลุดมาบ้าง แต่ตนก็ยังมองภาพรวมว่าคลับเฮาส์ยังคงมีผลดีมากกว่าเสีย เพราะ 95% มันเป็นเรื่องที่คนเขาคุยกันดี หากมีการกระทำผิดต่อกฎหมาย ผู้รักษากฎหมายต้องปราบปราม “รัฐบาลหรือผู้ควบคุมกฎกติกา วันนี้ต้องมีความฉลาดขึ้นไปมากกว่ายุคเดิมที่สักแต่ปิด แต่วันนี้ต้องหาวิธีการไม่ปิด แต่สามารถควบคุมให้คนอยู่ในกฎหมาย แล้วปราบปรามคนที่ทำผิดให้ชัดเจนครับ” เจ้าพ่อไอทีสรุปสั้นๆถึงการป้องปราม
ด้านสาวสายแฟชั่น ปุ๊ก-จงกล พลาฤทธิ์ บรรณาธิการแฟชั่นโว้ก ไทยแลนด์ ที่ได้เข้าไปเปิดห้องพูดคุยเกี่ยวกับแฟชั่นและดนตรี กล่าวว่า ตนได้ใช้ประโยชน์จากคลับเฮาส์มาก เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เราได้แชร์กับผู้คนต่างวงการได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นสมัยก่อนกว่าจะจับคนต่างวงการมานั่งพูดคุยกันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พอมาเป็นคลับเฮาส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงที่คนกำลังสนใจ แล้วก็อยากที่จะทดลอง แล้วก็มันพูดคุยได้ค่อนข้างอิสระ ไม่ต้องเดินทางด้วย ใครสะดวกก็เข้ามาร่วมได้ เป็นโอกาสที่ทำให้คนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจริงๆ ไม่เฉพาะ คนในวงการเดียวกันเท่านั้น แต่เราได้ฟังความคิดเห็นของคนวงกว้าง ซึ่งในคลับเฮาส์มีหลากหลายเรื่องมาก มีทั้งแฟชั่น มีทั้งเศรษฐกิจ ทั้งการเมืองไปจนถึงห้องไร้สาระ อันนี้เราจะเห็นหัวข้อความสนใจของสังคมจริงๆ เราจะเห็น เทรนด์ว่าคนพูดอะไรกัน แชร์อะไรด้วย
...
ขณะที่ “ภาส-ภาสนี กรศรีทิพา” ออร์กาไนเซอร์ที่มีฝีมือทางด้านอาหาร ซึ่งได้เข้าไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านอาหาร มองว่าพอเข้าไปใช้แล้ว สำหรับตนเองก็รู้สึกว่าดี แต่คลับเฮาส์เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีเซ็นเซอร์ ไม่มีอะไรมากรอง ไม่มีใครบอกว่าคนนี้เป็นผู้รู้จริง คนนี้เหมาะที่จะขึ้นมาพูด การที่เอาคนมานำพูดเรื่องที่มันไม่ดี อย่างเรื่องเซ็กซ์ ตนว่าเป็นสิ่งน่ากลัว แล้วเราไม่สามารถห้ามตั้งห้องแบบนั้น ตนมองว่าตัวแพลตฟอร์มนะดี ถ้าคนพูดมีคุณภาพจริงๆ แล้วเราเองควรจะไปฟังสิ่งที่สร้างสรรค์ ที่จะนำไปต่อยอดชีวิตอย่างไรให้มันดีขึ้น.
...