เริ่มต้นฤดูแห่งการยื่นภาษีกันแล้วนะคะ สำหรับมือใหม่คนไหนที่ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมเอกสาร หรือจะต้องไปยื่นภาษีที่ไหนบ้าง วันนี้เราได้คำแนะนำดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญวางแผนการเงินอย่าง คุณสุปาณี เกษมสัมพันธ์ CFP® (Certified Financial Planner™) ตำแหน่ง Senior Personal Financial Planner มาบอกถึงสิ่งที่เราควรรู้ เอกสารที่ต้องเตรียม วิธีคำนวณเงินภาษี และค่าลดหย่อนภาษีมาบอกกันค่ะ


เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับยื่นภาษี

1. สำหรับพนักงานประจำที่มีรายได้จากเงินเดือนและโบนัสอย่างเดียว เตรียมเอกสาร หนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
2. พนักงานอิสระ รวบรวมเอกสารแสดงการหักภาษีของหน่วยงานที่จ้างคุณไว้
3. หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกัน รวมถึงหนังสือใบรับรองการซื้อหน่วยลงทุน

4. หลักฐานแนบในการใช้สิทธิ์ลดหย่อนต่างๆ เช่น ดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัย ใบอนุโมทนา


วิธีคำนวณภาษีเงินได้

...


หลังจากเราเตรียมเอกสารข้อมูลครบถ้วนแล้ว เรามาดูกันต่อถึงวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันบ้างดีกว่า เพื่อเราจะได้คำนวณถูกว่าจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งวิธีการคำนวณมีขั้นตอนดังนี้


เงินได้ - ค่าใช้จ่ายตามประเภทเงินได้ - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
จากนั้น นำเงินได้สุทธิ x อัตราภาษีแบบก้าวหน้า = ภาษี


เงินได้มาจากช่องทางใดได้บ้าง

เงินได้จะมีทั้งหมด 8 ประเภทด้วยกัน
1. เงินที่ได้จากการจ้างแรงงานตามสัญญาจ้าง : เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส

2. เงินที่ได้จากหน้าที่ ตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ตามผลสำเร็จของงาน : เช่น ค่าคอมมิชชั่น ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม

3. ค่าลิขสิทธิ์ : เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์

ค่าลิขสิทธิ์คือ สิทธิเพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ ในงานที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่น การร้องเพลง การใช้บทประพันธ์ ที่ผู้สร้างสรรค์ได้จดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว ผู้ใช้ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับผู้สร้างสรรค์เพลง หรือบทประพันธ์นั้นๆ

ค่ากู๊ดวิลล์ หรือ ค่าความนิยม คือ ส่วนต่างของมูลค่าทางบัญชีกับมูลค่าที่ซื้อขายจริง

4. เงินที่ได้จากค่าดอกเบี้ย หรือเงินปันผล เช่น ได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม เงินได้ส่วนนี้สามารถเลือกได้ว่าจะนำมารวมเป็นเงินได้ เพื่อคำนวณภาษีหรือไม่

5. เงินที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน : บ้าน สิ่งปลูกสร้าง, ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร, ที่ดินไม่ใช้ในการเกษตร, ยานพาหนะ และทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ให้เช่าบ้าน ให้เช่าคอนโด ให้เช่ารถ เป็นต้น

6. เงินได้จากวิชาชีพอิสระ 6 วิชาชีพ : การประกอบโรคศิลปะ กฎหมาย บัญชี สถาปนิก วิศวกร และประณีตศิลปกรรม เช่น แพทย์เปิดคลินิกเอง ผู้สอบบัญชีอนุญาตรับงานเองโดยไม่ได้สังกัดใดๆ

7. เงินได้จากการรับเหมาจัดหาสัมภาระเองนอกเหนือจากเครื่องมือ : ตัวอย่างตามเงินได้ประเภทนี้คือ ค่ารับเหมาทำสินค้า ออกค่าแรง และค่าของเองทั้งหมด

8. เงินได้จากธุรกิจ พาณิชย์ อุตสาหกรรม หรืออื่นๆ : เงินได้นอกจากที่ระบุในข้อ 1-7 รวมถึง นักแสดง นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ และอื่นๆ เช่น เปิดร้านขายอาหาร ขายของออนไลน์ หรือเงินได้อื่นๆ


อัตราการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้

เมื่อเรารู้แล้วว่าเงินได้มาจากช่องทางใดบ้าง ขั้นตอนต่อมาคือการหักค่าใช้จ่ายในเงินได้ของเรา ซึ่งแต่ละข้อจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป


สำหรับประเภท 1 และประเภท 2 ทั้งสองอันนี้จะต้องนำเงินได้มารวมกัน หักได้แบบเหมาอย่างเดียว 50% และต้องไม่เกินจำนวนเงิน 100,000 บาท

...

เช่น สาวๆ มีเงินได้จากเงินเดือน 40 (1) เดือนละ 50,000 บาท ทั้งปี 600,000 บาท และมีเงินได้จากการเขียนคอนเทนต์ความงาม 40 (2) อีก 5 บทความ รวม 100,000 บาท


รวมเงินได้ทั้งปีทั้งหมด 700,000 บาท จะหักค่าใช้จ่ายได้แบบเหมาแบบเดียวคือ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
700,000*50%= 350,000 บาท

ซึ่งจำนวนเงินตรงนี้มันเกิน 100,000 บาท เพราะฉะนั้นจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 บาทเท่านั้น

แต่หากสาวๆ คนไหนมีรายได้รวมทั้งปี 190,000 บาท การหักแบบเหมาอย่างเดียว 50% จะอยู่ที่ 95,000 บาทค่ะ

ประเภทที่ 3 นำค่าใช้จ่ายมาหักได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักได้ตามจริงของค่าใช้จ่าย

ประเภทที่ 4 ไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้

ประเภทที่ 5 หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หรือหักแบบเหมา บ้านและสิ่งปลูกสร้าง 30% ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร 20% ที่ดินแต่ไม่ได้ใช้ในการเกษตร 15% ยานพาหนะ 30% และทรัพย์สินอื่นๆ ที่เราให้เช่าได้ 10%

ประเภทที่ 6 หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หรือหักแบบเหมา การประกอบโรคศิลปจะสามารถหักได้ 60% ส่วนอาชีพอื่นๆ ที่เหลืออีก 5 อาชีพ จะสามารถหักได้ 30%

ประเภทที่ 7 หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หรือหักแบบเหมาได้ 60%

ประเภทที่ 8 หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หรือหักแบบเหมาได้ 60% ยกเว้นในกรณีของอาชีพนักแสดง นักร้อง นักดนตรี นักกีฬา เงินได้ 300,000 บาทแรกจะหักได้ 60% และส่วนที่เกิน 300,000 บาท จะหักได้ 40% แต่ว่าค่าใช้จ่ายรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท


• สำหรับข้อไหนที่บอกว่าสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง สาวๆ จะต้องเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายเอาไว้ ตั้งแต่ต้นปีที่จะยื่นภาษีไปจนถึงปลายปี ถึงจะสามารถนำรายจ่ายตรงนี้มาหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมดค่ะ

...

ค่าลดหย่อนภาษี

สำหรับค่าลดหย่อนภาษีที่เราสามารถใช้ได้ จะแบ่งได้ 8 ประเภทหลักๆ ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้


1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว

- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (กรณียื่นร่วมคู่สมรสจะต้องจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายถึงจะใช้ได้)

- ค่าลดหย่อนพ่อแม่ คนละ 30,000 บาท (พ่อแม่จะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ต่อปี)

- ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท


2. ค่าลดหย่อนสำหรับคนที่มีลูก

- ค่าฝากครรภ์และค่าคลอด ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

- ค่าลดหย่อนลูกคนแรก 30,000 บาท

- ลูกคนที่ 2 (เกิดก่อนปี 2561) 30,000 บาท

- ลูกตั้งแต่คนที่ 2 ขึ้นไป (เกิดตั้งแต่ปี 2561) ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

แต่หากลูกคนแรกเกิดปี 2562 ก็สามารถลดหย่อนได้แค่ 30,000 บาทนะคะ


3. ค่าลดหย่อนเพื่อการเกษียณ

...

- ประกันชีวิตแบบบำนาญ 15% ของรายได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

- RMF 30% ของรายได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

- SSF 30% ของรายได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนครูเอกชน/กบข. 15% ของรายได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

- กองทุนการออมแห่งชาติ 13,200 บาท/ต่อปี

ซึ่งค่าลดหย่อนใน 5 ข้อนี้รวมทั้งหมดแล้วจะต้องเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 500,000 บาท


4. ค่าลดหย่อนประกันชีวิตและประกันสุขภาพ


- เบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท

- เบี้ยประกันชีวิตสุขภาพตนเอง 25,000 บาท (เฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพที่มีการชำระตั้งแต่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป)

ค่าลดหย่อนในข้อนี้รวมทั้งหมดแล้วจะต้องเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท

เช่น เราซื้อประกันชีวิต 1 ฉบับ มีเบี้ยประกันชีวิต 60,000 บาท และมีเบี้ยประกันสุขภาพ 30,000 บาท กรณีนี้จะลดหย่อยได้เป็นเบี้ยประกันชีวิต 60,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพ 25,000 บาท รวมแล้ว 85,000 บาท

แต่ถ้าเรามีเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพ 30,000 บาท จะลดหย่อยภาษีได้สูงสุดเพียง 100,000 บาทเท่านั้น โดยที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะยื่นเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท เต็มจำนวน หรือจะแบ่งเบี้ยประกันชีวิต 75,000 บาท และเบี้ยประกันสุขภาพ 25,000 บาท แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทค่ะ

เบี้ยประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000 บาท

- เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

5. ค่าลดหย่อนที่อยู่อาศัย

- ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

- โครงการซื้อบ้านหลังแรก ซื้อระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2558 - 31 ธันวาคม 2559 ราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 120,000 บาท โดยจะใช้สิทธิ์ได้ถึงปีภาษี 2563


6. ค่าลดหย่อนภาษีพิเศษเฉพาะปี 2563


- ช้อปดีมีคืน 30,000 บาท ใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ มีการซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม 2563 - 31 ธันวาคม 2563

- SSFX คือกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ ซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 - 30 มิถุนายน 2563 ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท

- ประกันสังคม

พนักงานเอกเอกชน มาตรา 33 ปกติ 5% ของฐานค่าจ้าง 15,000 บาท 750 บาท ต่อเดือน 9,000 บาท ต่อปี
มาตรการพิเศษ 2563 (ปรับลด 2 รอบ รอบแรก มี.ค.-พ.ค. 1%, รอบสอง ก.ย.-พ.ย.2%) จ่ายตามจริง หรือสูงสุด 5,850 บาท

ผู้ประกันตนเอง มาตรา 39 ปกติ 9% ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท 432 บาทต่อเดือน 5,184 บาทต่อปี
มาตรการพิเศษ 2563 (ปรับลด 2 รอบ รอบแรก มี.ค.-พ.ค. 1.8%, รอบสอง ก.ย.-พ.ย. 2%) รวม 3,138 บาท

7. ค่าลดหย่อนค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต

- ธุรกิจที่มีเครื่อง EDC เพิ่ม 1 เท่าตามที่จ่ายจริง (ระหว่าง 1 พ.ย.2559 - 31 ธ.ค.2564)

8. ค่าลดหย่อนเงินบริจาค

สำหรับค่าลดหย่อนเงินบริจาคจะได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว

- บริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจริง

- การศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม โรงพยาบาลรัฐ ได้ค่าลดหย่อน 2 เท่าของเงินที่บริจาค

- บริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท

อัตราภาษี

เมื่อเรารู้เงินได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนภาษีของตัวเองแล้ว ให้นำมาเข้าสูตร

เงินได้ - ค่าใช้จ่ายตามประเภทเงินได้ - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

เมื่อเรานำทั้ง 3 อย่างมาหักลบกันแล้ว จะได้เป็นเงินได้สุทธิ (รายได้ทั้งปีของเรา) จากนั้นนำไปคำนวณภาษีตั้งแต่ฐานภาษีก็จะมีภาษีที่ต่างกันดังนี้

- 150,000 บาทแรก จะได้รับการยกเว้นค่าภาษี

- 150,001 – 300,000 อัตราภาษีจะอยู่ที่ 5%

- 300,001 – 500,000 อัตราภาษีจะอยู่ที่ 10%

- 500,001 – 750,000 อัตราภาษีจะอยู่ที่ 15%

- 750,001 – 1,000,000 อัตราภาษีจะอยู่ที่ 20%

- 1,000,001 – 2,000,000 อัตราภาษีจะอยู่ที่ 25%

- 2,000,001 – 5,000,000 อัตราภาษีจะอยู่ที่ 30%

- 5,000,001 ขึ้นไป อัตราภาษีจะอยู่ที่ 35%

เช่น เรามีเงินได้จากเงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท มีเงินได้ทางเดียว ไม่ได้สมรส และยังไม่มีบุตร ส่วนพ่อแม่อายุยังไม่ถึง 60 ปี ไม่ได้ขอใบกำกับภาษีช้อปดีมีคืนไว้ แต่ซื้อเบี้ยประกันชีวิตไว้ 50,000 บาท และเบี้ยประกันสุขภาพไว้ 25,000 บาท

สรุป

เงินได้ทั้งปี คือ 360,000 บาท

นำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท

ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

ค่าลดหย่อนประกันชีวิต 50,000 บาท

ค่าลดหย่อนประกันชีวิตสุขภาพตนเอง 25,000 บาท

ค่าประกันสังคม (ปี 2563) 5,850 บาท

คงเหลือเงินสุทธิ = 119,150 บาท

เมื่อนำมาเข้าคำนวณอัตราภาษีแล้ว จะอยู่ในช่องแรก ซึ่งไม่เกิน 150,000 บาท หมายความว่าคนนี้จะไม่ต้องเสียภาษีค่ะ

แต่ถ้าสาวๆ ลองคำนวณดูแล้วยอดเงินเกิน 150,001 ก็เสียภาษีตามอัตราดอกเบี้ยที่เราบอกไว้ในข้างต้นค่ะ


สำหรับการยื่นภาษีปี 2563 นั้น สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มีนาคม 2564 และสามารถยื่นภาษีง่ายๆ ผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ถึง 8 เม.ย.64 rdserver.rd.go.th นะคะ.