คนที่เกิดมา มีพ่อแม่ที่เก่งและประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ เป็นไอดอล ดูน่าจะมีความสุข เพราะมีต้นทุนมาดี เติบโตมาพร้อมกับโอกาสในการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและการทำงานอย่างประสบความสำเร็จ โดยการสังเกตและซึมซับความรู้และประสบการณ์จากพ่อแม่มาเต็มๆ เรียกว่าความเก่งและความสำเร็จของเขานั้น แทบจะแทรกซึมอยู่ในดีเอ็นเอเลยก็ว่าได้

แต่กลายเป็นว่า มีคนที่มีพ่อแม่เก่งจำนวนหนึ่ง ที่เมื่อต้องเข้ามาสืบทอดกิจการของพ่อแม่ หรือเริ่มต้นทำงานในที่ต่างๆ กลับรู้สึกขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะคิดว่าคนอื่นจับตามองและคอยเปรียบเทียบเขากับพ่อแม่ของเขาอยู่เสมอว่าจะเก่งได้เท่าพ่อแม่หรือไม่ บางคนก็คิดว่าไม่มีใครฟังความคิดเห็นของเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่ในบริษัทที่คุ้นชินกับการบริหารของพ่อแม่ของเขาและเห็นเขามาตั้งแต่เด็กๆ บางคนก็คิดว่าคนอื่นคิดว่าเขาได้รับสิทธิพิเศษในองค์กรมากกว่าคนอื่น เพราะเป็นลูกผู้ใหญ่ และบางคนก็ไม่มี passion ในรับทอดกิจการจากพ่อแม่เลย เพราะใจอยากไปทำอย่างอื่น

ความเครียดของทายาทรุ่นต่อไปของพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จ เกิดจากการถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก หรือถูกบอกอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งเขาต้องรับทอดกิจการต่อจากพ่อแม่ ในด้านหนึ่งมีข้อดีที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาพร้อมเป้าหมายและความรับผิดชอบ แต่อีกมุมหนึ่งกลับกลายเป็นภาระที่หนักอึ้ง (ในความรู้สึกของเด็ก) ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกกลัวว่าถ้าหากตนเองล้มเหลว จะทำให้พ่อแม่เสียใจและไม่ภาคภูมิใจในตัวเขา บางคนไม่อยากจะล้มเหลว จึงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น เช่น ลูกนักธุรกิจแต่ไม่อยากทำธุรกิจของพ่อแม่ ก็อาจจะเปิดธุรกิจใหม่ของตัวเองที่แตกต่างจากธุรกิจของพ่อแม่ หรือประกอบอาชีพอื่นที่แตกต่างจากอาชีพของพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จ

ลูกหลานของผู้ที่ประสบความสำเร็จยังเกิดความเครียดจากคำพูดของคนรอบข้างที่พูดไปตามปกติว่า “หนูเก่งเหมือนคุณพ่อคุณแม่” “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” “คุณพ่อคุณแม่หนูเก่งมาก หนูต้องเก่งให้มากกว่าคุณพ่อคุณแม่นะ” ฯลฯ แต่ในความรู้สึกของเด็กจะรู้สึกว่าเขาถูกเปรียบเทียบกับพ่อแม่ของเขาและผู้คนคาดหวังว่าเขาต้องเก่งเท่าหรือเก่งมากกว่าพ่อแม่ของเขา ทำให้เขาต้องแบกความคาดหวังของผู้คนเอาไว้ตลอดเวลาไม่รู้ตัว

...

การจะเปลี่ยนความรู้สึกถูกเปรียบเทียบ และการแบกความคาดหวังจากผู้อื่นนั้น เราต้องหันกลับมามองตัวเองให้ชัดเจน และยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น ไม่ใช่อย่างที่พ่อแม่หรือผู้อื่นอยากให้เป็น แต่การยอมรับตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร มีนิสัยอย่างไร มีทักษะที่โดดเด่นอะไร ไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดชอบ เช่น ทายาทธุรกิจที่ไม่อยากรับทอดกิจการเลยไปเป็นหมอหรือศิลปิน ลองมองสถานการณ์และโอกาสให้กว้างและนำทักษะที่เป็นจุดแข็งของตนมาใช้ในการสืบทอดธุรกิจหรืองานการที่พ่อแม่สร้างฐานไว้ให้ และขณะเดียวกันก็สานฝันของตัวเองไปพร้อมกันด้วย

จะเห็นได้ว่าทายาทที่สืบทอดธุรกิจจากพ่อแม่ ที่มองเห็นจุดแข็งของตนเองและรู้จักวิธีการนำจุดแข็งนั้นมาใช้ในด้านต่างๆ คนเหล่านี้จะประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน ทั้งด้านการสืบทอดธุรกิจและการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ตนเองชอบ ส่วนทายาทที่ก้าวไม่ข้ามเรื่องการถูกเปรียบเทียบและความคาดหวังจากผู้อื่น ก็จะกลายเป็นคนที่ล้มเหลวซ้ำซาก สร้างปัญหา ไม่ทำอะไรจริงๆ จังๆ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปวันๆ แต่ความสุขที่แท้จริงอันเกิดจากความภาคภูมิใจในตัวเองนั้นไม่มี

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่เองก็ต้องเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่พ่อแม่สร้างมาด้วยความภาคภูมิใจนั้น เป็นความภูมิใจของพ่อแม่ ไม่ใช่ของลูก ในกรณีที่ลูกไม่ต้องการสืบทอดความสำเร็จนั้น พ่อแม่ต้องเคารพในความต้องการของลูก เพราะลูกเองมีสิทธิในการดำเนินชีวิตและสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวของเขาเองเช่นกัน

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม ซึมเศร้า panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ