คนที่บอกคนหนึ่ง ก็คือ คุณอุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี อดีตนักร้องแนวร็อกเจ้าของบทเพลงดัง “ไม่รักดี” เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตสมาชิกเขตพระโขนง จากบทสนทนาในรายการ ถามตรงๆ กับจอมขวัญ

เธอไม่ใช่คนแรกที่พูดแบบนี้ แต่มีอีกหลายคนที่คิดแบบนี้ และในความเป็นจริง มันก็เป็นแค่ความคิดเห็น ไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง”

หากคนได้ยิน หรือได้เห็นประโยคนี้ แล้วรู้สึกคล้อยตาม ก็ไม่น่าแปลก เพราะในภาพจำ หรือภาพรวมๆ ก็น่าจะ “เป็นเช่นนั้น” มิใช่หรือ?

แต่ภาพจำ หรือภาพรวม มันเป็นภาพ “หยาบๆ”

ลองไปถามคนที่เป็นกะเทย หรือในอีกคำหนึ่งที่เรียกพวกเธอว่า ทรานส์เจนเดอร์ พวกเธอคงทำหน้าเหวอๆ

“นี่ชั้นได้เสรีภาพมากที่สุดในโลก…แล้วเหรอ”?

ถ้าเป็นจริงดังนั้น กะเทยไทยก็คงได้เปลี่ยนคำนำหน้านามไปแล้ว

ถ้าเป็นจริงดังนั้น กะเทยไทยก็คงได้จดทะเบียนสมรสกับคู่ของเธอได้แล้ว

ถ้าเป็นจริงดังนั้น กะเทยไทยทุกสถาบันการศึกษาก็คงได้แต่งกายตามเพศสภาพไปเรียน และแต่งกายตามใจปรารถนาไปงานรับปริญญาได้หมดแล้ว

...

ถ้าเป็นจริงดังนั้น กะเทยไทยก็คงไม่โดนบูลลี่ทั้งในที่สาธารณะ บนรถไฟฟ้า ในห้องน้ำ หรือในห้องเรียน

ถ้าเป็นจริงดังนั้น กะเทยไทยก็คงได้งานทำดีๆ มีความก้าวหน้าในทุกๆ วงการ นอกเหนือจากทำงานในวงการความสวยความงาม และวงการบันเทิง…ไปแล้ว

วาทกรรมดังกล่าวของใครๆ ที่เชื่อว่า “กะเทยไทยมีเสรีภาพมากที่สุดในโลก” จึงเป็นแค่ความคิดเห็นที่ขาดพื้นฐานความเข้าในเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการถูกเลือกปฏิบัติ อย่างน่าอัศจรรย์ใจที่สุด

“หรือคนที่เชื่อเช่นนั้น ขอมองข้ามเรื่องนี้ไปก่อน?”

สมาชิกกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนในสังคมเช่นเราๆ ท่านๆ และพวกเขาดำรงอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว จึงต้องรวมตัวกันและต่อสู้เพื่อขอพื้นที่หายใจ พวกเขาไม่ได้ขอสิทธิ “พิเศษ” ใดๆ และไม่ได้ขอการปฏิบัติ “พิเศษ” ใดๆ

ริสา ศิริวัฒน์ (ปิ๋วปิ้ว) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มทรานฯ ปัจจุบันเป็น Fund Manager ให้กับบริษัทด้านการเงินแห่งหนึ่ง
ริสา ศิริวัฒน์ (ปิ๋วปิ้ว) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มทรานฯ ปัจจุบันเป็น Fund Manager ให้กับบริษัทด้านการเงินแห่งหนึ่ง

คุณริสา ศิริวัฒน์ หรือ ปิ๋วปิ้ว เป็นตัวอย่างหนึ่งของการถูกเลือกปฏิบัติ เธอเล่าว่า ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีด้านการเงิน เธอมุ่งมั่นที่จะทำงานด้านการเงินอย่างตั้งใจ เธอส่งใบสมัคร และไปสัมภาษณ์เกินกว่า 10 แห่ง เธอก็ยังไม่ได้งาน

ครั้งหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ให้คำแนะนำเธอว่า ทำไมไม่ไปสมัครงานสายบิวตี้ หรือสายบันเทิงไปล่ะ เพราะ “คนที่เป็นกะเทยไม่เหมาะกับงานด้านการเงิน เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัย ‘ความน่าเชื่อถือ’ ”

คุณผู้อ่านคิดว่า เป็นคุณ ยังอยากจะสมัครงานสายนี้อยู่อีกมั้ย?

เธอยังคง “ไปต่อ” และแล้วความพยายามของเธอก็บรรลุผลเมื่อสถาบันการเงินแห่งหนึ่งต้อนรับเธอ และเธอยังได้ย้ายงานด้านการเงินอีกสองแห่ง จนปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “Fund Manager” ไม่ใช่ “Fun Manager”.

ชีวิตยิ่งคิด…ยิ่งตลก

คุณปิ๋วปิ้วจบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เกียรตินิยมติดตัวมา นี่คือความมั่นใจของเธอ

เขมณัฏฐ์ นราเดช (กบ) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มทรานฯ ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก
เขมณัฏฐ์ นราเดช (กบ) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มทรานฯ ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก

...

แต่ทั้งชื่อคณะ สถาบัน และเกียรตินิยม ก็ไม่ได้ผลอะไร “ในใจ” ของคนในตอนสมัครงาน

แล้วทรานส์เจนเดอร์ที่จบจากสถาบันอื่นๆ หรือไม่ได้มี “เกียรตินิยม” ติดตัวมาล่ะ?

จึงไม่น่าแปลกที่คนในกลุ่มหลากหลายทางเพศที่เป็นทรานส์เจนเดอร์จึงมีโอกาสในอาชีพการงาน การทำมาหากินอยู่ในแวดวงบิวตี้ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และหากไม่ได้มีแต้มต่อในชีวิตมาก

พวกเธอก็จำต้องเข้าสู่วงการบริการทางเพศ ทั้งในและต่างประเทศ

ปิ๋วปิ้ว และเพื่อนรักอีกสองคนที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นประถม จึงตกลงใจ จับมือสร้างเส้นทางสายอาชีพให้กับรุ่นน้อง ด้วยการเปิดเพจชื่อ แนะแนวสาวสอง Transgender advisor: by trans, for trans (เพื่อนทั้งสองคือ เขมณัฏฐ์ นราเดช และ ณิชนัจทน์ สุดลาภา ทั้งสามคนเรียนจบจากวชิราวุธวิทยาลัย และจบธรรมศาสตร์)

ณิชนัจทน์ สุดลาภา (ซาริน่า) ร่วมก่อตั้งกลุ่มทรานฯ ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว
ณิชนัจทน์ สุดลาภา (ซาริน่า) ร่วมก่อตั้งกลุ่มทรานฯ ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว

...

ตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้ประสบการณ์การสมัครงาน การสอบสัมภาษณ์ และความรู้ที่เธอมีกันมาช่วยทรานส์เจนเดอร์รุ่นน้องให้มีทางเลือกในเส้นทางสายอาชีพมากขึ้น

ในเพจมีทั้งประกาศรับสมัครงานที่พวกเธอกรองมาแล้วว่า องค์กร หรือบริษัทเหล่านั้นเปิดกว้างรับทรานส์เจนเดอร์เข้าทำงานได้

ในประเทศไทยมีองค์กร หน่วยงานไม่แสวงหากำไรหลายแห่งที่ทำงานส่งเสริม สนับสนุนด้านสิทธิ ด้านการศึกษา แต่ในด้านโอกาสในหน้าที่การงานถือว่า เป็นเรื่องใหม่

การที่ “รุ่นพี่” หันมาช่วย “รุ่นน้อง” จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมลงตัว เพราะพวกเธอเท่านั้นที่จะรู้ซึ้งถึงการถูกเลือกปฏิบัติ การไม่ถูกยอมรับจากสังคม และหนทางในการประกอบอาชีพที่ถูกจำกัดเพียงเพราะคำนำหน้านามว่า “นาย”

ในอเมริกา มีองค์กรหนึ่ง ตั้งเป็น Social Enterprise โดยทรานส์เจนเดอร์เพื่อช่วยเหลือรุ่นน้องและทรานส์เจนเดอร์ให้ได้งานทำในสาย IT หน่วยงานนี้มีชื่อเก๋ๆ ว่า TransTech

Angelica Ross ผู้ก่อตั้ง TransTech
Angelica Ross ผู้ก่อตั้ง TransTech

...

ปัจจุบัน TransTech ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์บ่มเพาะสำหรับ LGBTQ Talent” ช่วยพวกเขาเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้กับบุคคลคนข้ามเพศ และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกให้ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาทักษะและคุณค่าภายในชุมชน ตั้งมาตั้งแต่ปี 2014

ผู้ก่อตั้ง และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO คือ Angelica Ross เธอยังได้ร่วมแสดงบทเด่นในซีรีส์ทาง NetFlix ชื่อ Pose ช่วง 2018–2019 และตอนนี้เป็นนักแสดงทาง FX anthology horror series ชื่อ American Horror Story).

ไม่มีใครมีเสรีภาพมากที่สุดในโลก

@@@@@@@@

วิทยา แสงอรุณ เป็นคอลัมนิสต์ และประธาน LGBT SMEs and Professionals Thailand และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน