เรื่องควรรู้ก่อนซื้อ “ทองคำแท่ง” และ “ทองรูปพรรณ” มีมากกว่าราคาทองวันนี้ เพราะการซื้อทองแต่ละครั้งมีค่ากำไร และค่าอื่นๆ ที่ถูกผูกรวมเรียกว่า “ค่ากำเหน็จ” หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายใดซ่อนอยู่ในความหมายของค่ากำเหน็จนี้ ไทยรัฐออนไลน์จะพาไปไขคำตอบพร้อมๆ กัน

ค่ากำเหน็จคืออะไรกันแน่

ประกาศโดยกรมการค้าภายใน เรื่อง แนวทางปฏิบัติทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจร้านทองที่เป็นธรรม (มีผลบังคับใช้ 20 เมษายน 2552) ได้ให้นิยามของค่ากำเหน็จไว้ว่า

“ค่ากำเหน็จ” หมายความว่า ค่าผลิตทองคำรูปพรรณให้เป็นแบบลวดลายต่างๆ รวมทั้ง ค่าการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจร้านทอง ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการผลิตชิ้นงานรูปพรรณนั้นๆ

เมื่อตีความจากค่าการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจร้านทอง ก็สามารถรวมถึง ค่าใช้จ่ายในการบริหารร้าน ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงาน ค่าประกันภัย ค่าเช่าสถานที่ ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดในการบริหารจัดการร้าน

เมื่อทราบถึง “ค่ากำเหน็จ” แล้ว เราคงเข้าใจมากขึ้นเมื่อไปซื้อทองรูปพรรณจากร้านทอง โดยราคาทองรูปพรรณ จะประกอบด้วย ราคาทองคำแท่งขายออก บวกด้วย ค่ากำเหน็จ

...

สำหรับกรณีที่เราไปเปลี่ยนทอง (นำทองเก่าไปเปลี่ยนเส้นใหม่) ก็เปรียบเสมือนการนำทองเก่าไปขายคืนร้าน และซื้อเส้นใหม่ออกมา เพียงแต่ทางร้านอาจมีส่วนลดให้มากกว่ากรณีมาซื้อเส้นใหม่ตามปกติ ถือเป็นการให้บริการลูกค้า โดยผู้ซื้อสามารถเลือกทองที่น้ำหนักมากกว่าเดิม หรือ น้อยกว่าเดิมก็ได้ แล้วคำนวณส่วนต่างที่ต้องชำระเพิ่ม หรือจ่ายคืนกรณีที่เลือกทองน้ำหนักน้อยกว่าเดิม

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการซื้อขายทองคำ และการเปลี่ยนทอง

ในประกาศของกรมการค้าภายในฉบับที่กล่าวถึงข้างต้น มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าทองต้องแสดงราคารับซื้อคืนทองและรับซื้อคืนไม่ต่ำกว่ากำหนด คำนวณจากสูตรต่อไปนี้

1. ทองคำแท่ง น้ำหนัก 1 บาท ราคารับซื้อคืน คือ ราคาขายทองคำแท่งน้ำหนัก 1 บาท หักด้วยจำนวนเงิน 100 บาท
2. ทองรูปพรรณหนัก 1 บาท ราคารับซื้อคืน คือ ราคารับซื้อคืนทองคำแท่งหนัก 1 บาท หักด้วยค่าเสียหายจากการหลอมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่เกิน 5% ของมูลค่าซื้อคืนทองคำแท่ง 1 บาท ณ วันที่ทำการซื้อขายตามราคาที่สมาคมค้าทองคำประกาศ ทั้งนี้ เฉพาะทองรูปพรรณที่ซื้อไปจากร้านค้าทองที่รับซื้อคืน

ในส่วนการคิดค่ากำเหน็จทองคำแต่ละเส้นก่อนขาย ผู้ขายต้องแสดงค่ากำเหน็จของทองรูปพรรณให้ชัดเจนไว้ที่ถาดแสดงสินค้า หรือที่ตัวสินค้าที่จำหน่าย โดยคิดค่ากำเหน็จไม่เกินที่แสดงไว้

อย่างไรก็ดี เมื่อต้องซื้อขายทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณในน้ำหนักต่างๆ ต้องมีน้ำหนักที่ชัดเจน โดยทองคำแท่งต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 15.24 กรัม ส่วนทองรูปพรรณต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 15.16 กรัม หากเจอร้านค้าที่แสดงรายการไม่ชัดเจน ก็ควรพึงระวังไว้ก่อนตัดสินใจซื้อ

ที่มา : goldtraders.or.th