วันก่อนมีชายโสดวัย 30 กว่าเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคทด้วยอาการเครียดและวิตกกังวลหลังการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเขายังไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตน เขาจึงต้องพึ่งพาบริการทางเพศ ทุกครั้งที่เขามีเพศสัมพันธ์ เขาจะเกิดความวิตกกังวลว่าเขาจะติดเชื้อ HIV ทั้งๆ ที่เขามีการป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เขากังวลมากถึงกับต้องไปเจาะเลือดตรวจหลายครั้ง เพราะเขาศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จนมีความรู้มากพอเกี่ยวกับชุดตรวจแต่ละประเภทว่า บางชุดตรวจสามารถตรวจเจอหลังจากที่ได้รับเชื้อ 1-2 สัปดาห์ บางชุดตรวจสามารถตรวจเจอหลังจากที่ได้รับเชื้อ 3-4 สัปดาห์ ดังนั้นเขาจึงเวียนตรวจหาเชื้อตามคลินิกและโรงพยาบาลด้วยวิธีการต่างๆ เฉลี่ย 4-5 ครั้ง ต่อการมีเพศสัมพันธ์ 1 ครั้ง และไม่ว่าคุณหมอผู้อ่านผลตรวจและผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกคนจะยืนยันว่าเขาไม่ได้ติดเชื้ออย่างแน่นอน และโอกาสที่เขาจะติดเชื้อนั้นต่ำมาก เพราะเขามีการป้องกันอย่างดีอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังไม่สามารถวางใจ รู้สึกเข็ดขยาด และจะกังวลใจวนไปวนมาอีกนานเป็นปี กว่าที่เขาจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งใหม่ได้

ช่วงหนึ่งเขามีแฟนเป็นตัวเป็นตน ซึ่งแฟนของเขานั้นเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่นิสัยดี เรียบร้อยมาก ไม่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ แต่เมื่อเขาได้มีอะไรกับเธอเพียงครั้งเดียว อาการวิตกกังวลว่าเขาจะติดเชื้อ HIV ก็กลับมาอีก และได้ไปตรวจหาเชื้อหลายครั้งอีกเช่นเดิม เขาพยายามคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใจหนึ่งเขาก็เชื่อว่าไม่มีทางที่เขาจะติดเชื้อมาจากแฟนของเขาอย่างแน่นอน 99.99% แต่แล้วอีกใจหนึ่งก็คิดขึ้นมาว่าเนื่องจากแฟนของเขาเคยมีแฟนมาก่อนหน้าเขาคนหนึ่ง ดังนั้นมีโอกาส 0.01% ที่แฟนเขาจะติดเชื้อขึ้นมาก็ได้ ฯลฯ และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่าเสียดาย เขาไม่สามารถมีอะไรกับแฟนได้อีก เพราะความวิตกกังวลว่าจะติดเชื้อ ไม่นานเขาก็เลิกกับแฟน และเมื่อได้พูดคุยถึงเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้เขาวิตกจริต ก็พบว่าเขามีความย้ำคิดย้ำทำในเรื่องต่างๆ สูง หรือที่เรียกว่า OCD – obsessive compulsive disorder เช่น เขาได้รับข้อเสนองานใหม่ที่ดีมาก แต่ด้วยความกังวลเรื่องนู้นเรื่องนี้ทำให้เขาปฏิเสธงานใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น เขารู้สึกเครียดจนหัวมึนๆ ตึงๆ  คิดมากจนไม่สามารถมีสมาธิกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้

...

การขจัดความวิตกกังวลต่างๆ ที่วนเวียนในใจ ครูเคทได้แนะนำให้เขาอยู่กับหลักฐานความเป็นจริงในปัจจุบัน เช่น ความน่าเชื่อถือของแล็บและแพทย์ และไม่ว่าเขาจะไม่เชื่อผลตรวจที่ตรวจจนนับครั้งไม่ถ้วน ก็ให้ลองเชื่อตัวเองดู โดยการให้เขาสำรวจร่างกายส่วนต่างๆ ว่าเขารู้สึกว่ามีส่วนใดมีความผิดปกติบ้าง ทำให้เขาเริ่มเห็นว่าเขายังมีสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ แต่แล้วก็มีความคิดวิตกกังวลต่อไปอีกว่า อาจเป็นไปได้ว่าขณะนี้เขายังไม่เป็นอะไร แต่อาการของโรคอาจจะปรากฏในอนาคตก็ได้ ครูเคทจึงได้ให้เขาลองฝึกคิดต่อให้ถึงที่สุดว่า ถ้าเขาเป็นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาต้องทำอย่างไร ในที่สุดเขาก็พบว่าถ้าเป็นจริงๆ ก็ต้องรักษา อาจต้องทานยาไปตลอดชีวิต แต่เขาก็ยังดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปได้ แต่ขณะนี้เขาไม่ได้เป็น ส่วนอนาคตถ้าเป็นก็สามารถรับมือได้

ความวิตกกังวลลักษณะนี้เกิดจากความกลัวสิ่งที่ไม่รู้ กลัวสิ่งที่จะเกิดในอนาคต แม้เราจะพยายามหาข้อมูลและเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนว่าโอกาสที่ปัญหาที่กังวลอยู่จริงๆ นั้นมีความน่าจะเป็นต่ำมาก แต่คนที่คิดมากก็ยังคิดว่ามีโอกาสที่ปัญหาจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแทนที่จะเสียเวลาหาเหตุผลว่าจะเกิดหรือไม่เกิดปัญหา ให้ลองมองที่ทักษะและความสามารถของตัวเองในการแก้ไขปัญหา หากปัญหายังไม่เกิด ก็ไม่ต้องทำอะไร หากปัญหาเกิดก็แก้ไขไป มนุษย์มีทักษะในการแก้ไขปัญหาและการเอาตัวรอดติดตัวมาทุกคน และหากเราพยายามแก้ปัญหาเองแล้ว แต่ก็ยังแก้ไม่ได้ ก็ยังมีคนอื่นที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขให้ได้ หรือมีวิธีการแก้ไขปัญหาอีกมากมาย และหากไม่มีใครแก้ไขปัญหานั้นได้ ก็ให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหานั้นโดยไม่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ