วันลอยกระทง 2566 ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน ประเพณีลอยกระทงเป็นความเชื่อโบราณที่มีหลายตำนาน ทุกตำนานตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ บางพื้นที่รวมอยู่ในการเฉลิมฉลองออกพรรษา พุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญ ทำทาน ลอยกระทง หรือลอยประทีปตามประเพณีท้องถิ่น วันนี้ไทยรัฐออนไลน์พาคุณมาย้อนรอยดูประวัติและที่มาวันลอยกระทง รวมถึงกิจกรรมและความสำคัญต่างๆ ในวันลอยกระทงปีนี้

ประวัติวันลอยกระทง จาก 5 ตำนานความเชื่อ

ประวัติวันลอยกระทงเล่ากันเป็นตำนานและความเชื่อ รวมถึงมีบันทึกอยู่ในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรมสรุปตำนานวันลอยกระทงไว้ 5 เรื่อง ดังนี้

ตำนานที่ 1 ประวัติวันลอยกระทงว่าเป็นการบูชาพระพุทธบาท

ตำนานวันลอยกระทงที่เกี่ยวข้องกับการบูชาพญานาคและรอยพระพุทธบาทนั้น มาจากพุทธชาดก เรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา นางสุชาดาผู้เป็นอุบาสิกาได้ถวายข้าวมธุปายาสด้วยถาดทอง วันหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยหมดแล้วจึงนำถาดมาลอยน้ำ โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ ขอให้ถาดนี้ลอยทวนน้ำ ปรากฏว่าถาดนี้ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล จมถูกหางของพญานาคผู้รักษาบาดาล พญานาคจึงขึ้นมาหาพระพุทธเจ้าและขอให้พระองค์ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อให้พวกตนได้ขึ้นมาถวายสักการะ หลังจากนั้นสาวใช้ของนางสุชาดาได้พบเห็นจึงไปบอกนางสุชาดา ทุกปีนางสุชาดาก็นำถาดใส่ดอกไม้ เครื่องหอมมาสักการะพระพุทธบาท 

ตำนานที่ 2 ความเชื่อเพื่อบูชาเทพในศาสนาพราหมณ์

...

ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ มีพิธีกรรมลอยประทีปเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 พระองค์ ได้แก่ พระอิศวร, พระนารายณ์ และพระพรหม ซึ่งตามคัมภีร์ “ทีปาวลี” จะลอยประทีปก่อนการลอยกระทง และต่อมาเมื่อชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงนำมาปรับใช้กับการบูชารอยพระพุทธบาท เพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าในเดือนสิบสอง

ตำนานที่ 3 ตามความเชื่อการสร้างเจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราช

ตำนานลอยกระทงตามความเชื่อชาวพม่า กล่าวไว้ว่า ในยุคสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ต้องการสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวาง พระองค์จึงขอให้พระอรหันต์ช่วย พระอรหันต์องค์นี้คือพระอุปคุต ได้ไปขอให้พญานาคเมืองบาดาลช่วย พญานาคช่วยปราบพระยามารจนสำเร็จ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 ชาวเมืองจึงลอยกระทงเพื่อบูชาพญานาค

ตำนานที่ 4 ประวัติวันลอยกระทงตามความเชื่อล้านนา

ครั้งหนึ่งได้มีโรคอหิวาต์ระบาดที่อาณาจักรหริภุญชัย ส่งผลให้ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่คนที่รอดก็ได้อพยพไปอยู่ที่เมืองสะเทิมและหงสาวดี เป็นเวลา 6 ปี ผู้ที่อพยพกลับจึงจัดธูปเทียนสักการะล่องไปตามลำน้ำ เพื่อรำลึกถึงญาติที่อยู่ในเมืองหงสาวดี เรียกกระทงนี้ว่า สะเพา (สะ-เปา) กระทำในวันเพ็ญเดือนสิบสอง

ตำนานที่ 5 ประวัติวันลอยกระทงตามความเชื่อของจีน

เมื่อในอดีตทางตอนเหนือของจีนเกิดน้ำท่วมจนชาวบ้านอพยพไม่ทัน ตายกันเป็นแสนๆ คน เมื่อญาติหาศพไม่พบ จึงเกิดเป็นประเพณีที่ชาวบ้านนำอาหารใส่กระทงลอย เพื่อเซ่นไหว้วิญญาณผู้ที่เสียชีวิต พิธีกรรมนี้มักทำในตอนกลางคืน เพราะเชื่อว่าผีชอบความสงบ ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงเซ่นวิญญาณนี้ว่า "ปั่งจุ๊ยเต็ง" ตรงกับประเพณีลอยโคมของไทย

นอกจากนี้ ยังมีประวัติวันลอยกระทงของไทย จากหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บนศิลาจารึกได้บันทึกถึงประวัติวันลอยกระทงไว้ว่า เป็นประเพณีที่เริ่มต้นจากนางนพมาศ ผู้เป็นสนมเอกในรัชกาลพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ขณะช่วงเทศกาลออกพรรษา นางนพมาศได้คิดทำกระทงขึ้นมาเป็นรูปดอกบัว ให้ทรงลอยตามกระแสน้ำไหล และคิดคำร้องถวายพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่าพระราชพิธีจองเปรียง มีข้อความระบุไว้ ดังนี้

"… การพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นวันนักขัตฤกษ์ชักโคม ลอยโคม นางนพมาศ ได้ประดิษฐ์โคมลอย ตกแต่งเป็นรูปดอกกระมุทมาน กลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากระทงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษา ลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุระคณาวิหคหงส์ ให้จับจิกเกสรบุปผชาติอยู่ตามดอกกระมุท เป็นระเบียบเรียบร้อยวิจิตรไปด้วยสีย้อมสดสว่างควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซม เทียน ธูป และประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค…"

ลักษณะดอกไม้ที่ใช้ทำเป็นรูปกระทง คือดอกกระมุท หรือดอกโกมุท เป็นดอกบัวที่บานในเวลากลางคืน เมื่อนำไปลอยน้ำก็จะลอยได้ไม่จม ในบันทึกยังระบุว่า ใช้ผลไม้แกะสลักเป็นรูปทรงต่างๆ ที่วิจิตรสวยงามแซมไปกับกระทง และเมื่อประดับด้วยเทียน ก็สวยงามมากขึ้น

ในบันทึกยังระบุถึงการเผาเทียนเล่นไฟ อันเป็นเทศกาลที่มีชาวเมืองมาเที่ยวมาก ดังนั้นในปี พ.ศ. 2520 นายนิคม มูสิกะคามะ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จึงได้รื้อฟื้นประเพณีเผาเทียนเล่นไฟกลับมาอีกครั้ง ทางกรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงได้จัดงานเผาเทียนเล่นไฟที่สุโขทัยมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นประจำทุกปี

...

นอกจากนี้ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กล่าวถึงประเพณีพระราชพิธีสิบสองเดือน ก็ได้กล่าวถึงประเพณีลอยพระประทีป โดยเป็นการละเล่นของหลวงและราษฎร จัดการละเล่นดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ความสำคัญวันลอยกระทง

- เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา และบูชาพระพุทธบาท ตามคติความเชื่อ
- เพื่อรักษาธรรมเนียมของไทยไม่ให้สูญหาย
- เพื่อรู้คุณค่าของน้ำและแม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับดำรงชีวิต

กิจกรรมวันลอยกระทง 2566

ในวันลอยกระทง 2566 ประชาชนเตรียมร่วมทำบุญ ตักบาตร ร่วมกันทำกระทง หรือทำโคมประทีปสำหรับลอยในแม่น้ำลำคลอง ด้วยวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อถือเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ผู้ดูแลสายน้ำให้ได้ใช้ดื่มกิน

บางจังหวัดได้จัดกิจกรรมวันลอยกระทง ประกวดกระทง และประกวดเทพีนางนพมาศ เพื่อสร้างสีสันให้กับงานวันลอยกระทง รวมถึงจัดงานมหรสพต่างๆ และจุดพลุเฉลิมฉลอง พร้อมกับการลอยกระทงไปตามสายน้ำ เพื่อบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงทำความสะอาดแม่น้ำลำคลองในชุมชน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดี

สรุปกิจกรรมที่ควรทำในวันลอยกระทง ได้แก่

1. ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เช่น หยวกกล้วย ใบตอง
2. จัดกิจกรรมการละเล่นพื้นเมือง ประกวดนางนพมาศ เป็นต้น
3. จัดนิทรรศการ หรือพิธีลอยกระทง เพื่อเผยแพร่อนุรักษณ์ประเพณีไทย
4. จัดรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาแม่น้ำลำคลอง

คําถวายกระทงสักการะพระแม่คงคา

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
มะยัง อิมินา, ปะทีเปนะ อะสุกายะ, นัมมะทายะ, นะทิยา, ปุลิเน, ฐิตัง, มุนิโน, ปาทะวะลัญชัง อะภิปูเชมะ อะยัง ปะทีเปนะ, มุนิโม, ปาทะวะลัญชัสสะ, บูชา, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, สังวัตตะตุ

...

แปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอบูชา, ซึ่งรอยพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่เหนือหาดทราย, ในแม่น้ําชื่อ ขอจงเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, สิ้นกาลนานเทอญ”


ที่มา : เว็บไซต์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม