วันก่อนมีหนุ่มน้อยนักศึกษามหาวิทยาลัยเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคท ถึงอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นมาได้ 2 ปีครึ่งแล้ว และรักษากับจิตแพทย์ด้วยการทานยาอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้เกิดอาการจิตตก โหวงๆ ข้างใน หัวใจเต้นเร็ว ไม่อยากทำอะไร ซึ่งในกรณีอย่างนี้ควรรีบกลับไปพบแพทย์ผู้รักษาเพื่อทำการปรับยาที่รักษา และพบนักจิตวิทยาเพื่อปรับกระบวนการคิดที่นำไปสู่อาการซึมเศร้า เมื่อได้ซักถามประวัติของน้อง พบว่าน้องเป็นเด็กไฮเปอร์ที่ซนมากตั้งแต่เล็กๆ ซนมาก ชอบวิ่งไปมา นั่งเรียนนิ่งๆ ไม่ได้ จะมีอาการง่วงนอน แล้วก็จะถูกครูดุที่พูดมาก หรือซน หรือหลับในห้องเรียน น้องมักจะขอครูไปเข้าห้องน้ำ หรือไปดื่มน้ำอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้น้องยังมีอาการสมาธิสั้น ทำอะไรไม่ค่อยเสร็จ พ่อแม่หรือครูต้องคอยกระตุ้น ทำการบ้านก็ห่วงเล่น หรือต้องลุกไปนู่นนี่แล้วจึงกลับมาทำ แต่น้องเป็นคนหัวดีมาก เรียนเก่ง ตอนนี้เรียนวิศวะ

ที่น้องเริ่มมีอาการซึมเศร้า เพราะคิดว่าการเรียนหนัก และน้องมีความเครียดในการเรียน ซึ่งต้องการจะทำเกรดให้ได้ดี มีความคิดอยู่เสมอว่าทำอะไรต้องทำให้ได้ดี ทำอะไรเสร็จแล้วก็มักจะกลับมาดูแล้วคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ นอกจากนี้น้องยังมีลักษณะการตีความคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นไปในทางลบต่อตัวเองอยู่เสมอ เช่น เพื่อนทักว่าเห็นน้องอ่านหนังสือมาเต็มที่ ทำไมได้คะแนนแค่นี้ น้องเข้าใจว่าเพื่อนกำลังว่าน้อง หรือดูถูกน้อง แสดงให้เห็นว่าน้องเข้าใจโลกเพียงด้านเดียว แต่พอได้พูดคุยกันและฝึกให้น้องเข้าใจเจตนารมณ์ที่เป็นไปได้หลายทางของเพื่อนที่พูดอย่างนั้น ทำให้น้องเริ่มคลายเครียด เพราะเข้าใจได้ใหม่ว่าเพื่อนไม่ได้ว่าอะไร เป็นการถามไถ่ด้วยความสงสัยเท่านั้น

ปัจจุบันมักพบคนที่เป็นสมาธิสั้น หรือ ไฮเปอร์ตั้งแต่เด็กๆ เมื่อโตขึ้นมักมีอาการซึมเศร้าตามมาด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะในวัยเด็กมักจะถูกผู้ใหญ่ดุ ตำหนิ เปรียบเทียบ หรือห้ามในเรื่องต่างๆ อยู่บ่อยๆ ทำให้เด็กซึ่งไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรกับตัวเขา เขาไม่เข้าใจว่าเพราะคลื่นสมองที่ไม่เสถียรทำให้เขาซน ยุกยิก หรือแม้แต่ง่วงเหงาหาวนอน ทำให้เขาเข้าใจว่าเขาเป็นเด็กไม่ดี ไม่เก่ง ทำอะไรก็ถูกว่าอยู่เสมอ ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกด้อย กังวลใจ ขาดความเชื่อมั่น และมองโลกในแง่ลบต่อตัวเองโดยไม่รู้ตัว และกลายเป็นความเครียดสะสมจนอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

...

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสอนการควบคุมคลื่นสมองและสภาวะอารมณ์ให้เป็นปกติ โดยให้เด็กหัดสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองบ่อยๆ เมื่อรับรู้ความผิดปกติที่ปรากฏสัญญาณบนร่างกาย เช่น ใจเต้นแรง ร้อน กล้ามเนื้อเกร็ง รู้สึกโหวงๆ ข้างใน ฯลฯ ให้รับรู้และผ่อนคลายบริเวณนั้น หรือรอคอยอย่างใจเย็นให้สัญญาณเหล่านั้นค่อยๆ หายไป ฝึกปรับอารมณ์ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้ นับ 1-2-3 หายใจออกยาวๆพร้อมกับคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง อารมณ์จะดีขึ้น การยิ้มหรือหัวเราะบ่อยๆ จะช่วยเพิ่มสารแห่งความสุขในสมอง หากจะฝึกสมาธิควรฝึกสมาธิแบบเคลื่อนไหว เช่น ในขณะออกกำลังกายให้สังเกตการเคลื่อนไหว ความตึง หด ของกล้ามเนื้อ การถ่ายน้ำหนักขณะเคลื่อนไหว ก็จะช่วยเพิ่มสมาธิได้ดี นอกจากนี้ ควรดูแลปรับเพิ่มสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสภาวะอารมณ์ เช่น วิตามิน B สังกะสี แมกนีเซียม อาหารที่มีโปรตีนสูง โอเมก้า 3 งดอาหารที่มีสารกระตุ้นสมอง เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และวางโทรศัพท์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีพลังงานให้ห่างตัวให้มากที่สุดตอนนอนค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ