(ภาพจากยานมารีเนอร์ 10 ของนาซาเคลื่อนห่างจากดาวศุกร์เมื่อ 7 ก.พ.2517)

“มนุษย์ต่างดาว” หรือ “สิ่งมีชีวิตนอกโลก” ที่จินตนาการของผู้สร้างจะปรากฏตามภาพยนตร์ ซีรีส์ฉายโทรทัศน์ อ่านตามนวนิยาย การ์ตูนแนววิทยาศาสตร์แฟนตาซี มักทำให้ผู้ชมคนอ่านสนุกสนานไม่น้อย ทว่าในโลกแห่งความจริง แม้จะไม่เคยพบหลักฐานอันจะแจ้งของสิ่งมีชีวิตนอกโลก แต่เมื่อได้ยินก็เป็นเรื่องชวนตื่นเต้นเสมอ

จริงอยู่ที่เรื่องของอารยธรรมต่างดาวหรือสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกอาจดูเหลือเชื่อ ไม่รู้ว่าจะมีอยู่จริงไหม แต่ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า นักดาราศาสตร์สามารถตรวจพบสัญญาณที่น่าสนใจจากอวกาศอันไกลโพ้น อย่างการตรวจพบการระเบิดอย่างรวดเร็วของคลื่นวิทยุลึกลับ ที่สงสัยว่าส่งมาจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกหรือเปล่า

Credit : NASA/JPL-Caltech
Credit : NASA/JPL-Caltech

แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่า หากจะเจอสิ่งมีชีวิตนอกโลก พวกเขาก็คงไม่ได้มีหน้าตารูปร่างคล้ายมนุษย์เรา หรือเหมือนสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นไปได้มากที่สุดก็คืออยู่ในรูปของจุลินทรีย์ขนาดเล็กๆ

...

ล่าสุดที่เพิ่งเป็นข่าวดังทั่วโลกก็คือ พบสัญญาณว่าดาวศุกร์อาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ หรือเคยมีเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งนักดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในเวลส์ ประกาศพบก๊าซฟอสฟีน (Phosphine) ในกลุ่มเมฆบนดาวศุกร์ ซึ่งเมฆนั้นมีลักษณะเป็นเมฆกรดก็เพราะมีส่วน ประกอบของกรดซัลฟิวริก จะว่าไปก็สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้า ที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ ในสหรัฐอเมริกา ตั้งสมมติฐาน ว่าในละอองเมฆของดาวศุกร์ อาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ก๊าซฟอสฟีนกลายเป็นกุญแจสำคัญต่อการไขปริศนาว่าบนดาวศุกร์มีสิ่งมีชีวิตอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามีอยู่จริงล่ะ? นั่นก็หมายความว่าปัจจัยเงื่อนไขของการดำรงอยู่ได้ของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ ต้องแตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตบนโลก เพราะก๊าซฟอสฟีนผลิตได้จากกระบวนการอุตสาหกรรม และต้องผลิตขึ้นจากสิ่งมีชีวิตอย่างจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ของสัตว์ หรือตามหนองน้ำที่มีระดับออกซิเจนต่ำ

ภาพดาวศุกร์จากยานสำรวจอาคัตสึกิของแจกซา (JAXA)
ภาพดาวศุกร์จากยานสำรวจอาคัตสึกิของแจกซา (JAXA)
สภาพบนดาวอังคาร Credit : NASA/JPL-Caltech
สภาพบนดาวอังคาร Credit : NASA/JPL-Caltech

หลังจากนี้การวิจัยดาวศุกร์คงคึกคักมากขึ้นไม่แพ้ดาวอังคาร ที่เป็นปลายทางชุกชุมของยานสำรวจจากหลายชาติ เนื่องจากมีหลักฐานทางธรณีวิทยาชวนให้เชื่อว่าเมื่อครั้งโบราณกาลหลายพันล้านปี ดาวเคราะห์สีแดงอาจเคยมีมหาสมุทร และเมื่อมีแหล่งน้ำก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เช่นกัน

แต่การไขปริศนาบนดาวอังคาร ก็คงต้องฝากความหวังกับภารกิจยานอวกาศต่างๆ เช่น โครงการ “มาร์ส 2020” (Mars 2020) ขององค์การนาซา ที่ส่งยานหุ่นยนต์และอุปกรณ์ทันสมัยไปสำรวจเก็บข้อมูล รวมถึงเก็บตัวอย่างบนดาวกลับมาโลก เพื่อปูทางสำหรับการส่งมนุษย์เดินทางไปดาวอังคารในอนาคตอันใกล้

นอกจากการสำรวจหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ใกล้เคียงโลกแล้ว บรรดาดวงจันทร์บริวารของเพื่อนบ้านของเราก็ไม่ได้ถูกละเลย ต้องบอกว่าดวงจันทร์หลายดวงก็มีเบาะแสไม่น้อยหน้าที่อื่นๆ เช่น ดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ของดาวเสาร์ ก่อนยานแคสสินีจะอวสานตัวลง ก็เก็บข้อมูลของเอนเซลาดัสไว้เพียบ ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่ามีมหาสมุทรที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพราะพบไอน้ำร้อนพวยพุ่งออกมา และมีสารอินทรีย์เป็นองค์ประกอบอยู่ในไอน้ำนั้นที่อาจช่วยในการก่อเกิดสิ่งมีชีวิต หรือ ยูโรปา (Europa) หนึ่งในกลุ่มดวงจันทร์กาลิเลียนของดาวพฤหัสบดี ก็มีศักยภาพให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้เพราะ พื้นผิวมีน้ำแข็งปกคลุม เชื่อว่าใต้น้ำแข็งจะมีมหาสมุทร

...

ระบบดาวแทรพพิสต์-1 Credit : NASA/JPL-Caltech
ระบบดาวแทรพพิสต์-1 Credit : NASA/JPL-Caltech

ดาวเคราะห์นอกระบบก็เป็นอีกสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจ นอกจากจะมองหาดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลก การค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเหล่านั้นก็ตามมาโดยปริยาย ระบบดาวแทรพพิสต์–วัน (Trappist–1) ที่มีสมาชิกในระบบประกอบด้วย 1 ดาวฤกษ์และ 7 ดาวเคราะห์บริวาร ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ เพราะมีดาวเคราะห์ 3 ดวงมีขนาดใกล้เคียงกับโลก โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ในตำแหน่งฮาบิเทเบิล โซน (Habitable Zone) หรือเขตที่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ คล้ายกับโลกที่เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 3 ห่างจากดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะมีแหล่งน้ำที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์เหล่านั้น

ทั้งนี้ การพบร่องรอยของแหล่งน้ำ ก็ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณสำคัญที่อาจนำไปพบกับสิ่งมีชีวิต ถึงแม้จะคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีรูปแบบเหมือนหรือแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่ไม่ว่าอย่างไร หากได้พบเจอกับพวกเขาจริง นั่นก็หมายความว่าพวกเราไม่ได้อยู่อย่างลำพังเดียวดายในระบบสุริยะหรือในจักรวาล.

...

พื้นผิวดวงจันทร์เอนเซลาดัส Credit : NASA/JPL/Space Science Institute
พื้นผิวดวงจันทร์เอนเซลาดัส Credit : NASA/JPL/Space Science Institute
กลุ่มดวงจันทร์กาลิเลียน ของดาวพฤหัสบดี Credit : NASA
กลุ่มดวงจันทร์กาลิเลียน ของดาวพฤหัสบดี Credit : NASA

...

กันเกรา