สมัยก่อนที่ระบบอินเตอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู การติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเกมไม่ใช่เรื่องง่าย

มาสมัยนี้ที่ทุกอย่างเร็วเหมือนโกหก จึงบังเกิดความรู้สึกเห็นใจบริษัทเกมทั้งหลาย เพราะถึงตอนนี้ช่องทางเปิดตัว โฆษณาจะเต็มไปหมด แต่สิ่งที่จะมีความเสี่ยงตามมาคือ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียน หลากหลายช่องทางเช่นกัน ยิ่งตอนนี้ที่เรากำลังอยู่ในยุคที่ใครๆก็สามารถรีวิวสินค้าได้

เหมือนดั่งบรรดานักออกแบบ ครีเอทีฟเกม ที่คร่ำหวอดในวงการมานาน ออกมาตัดพ้อมากขึ้นพักหลัง ว่าสร้างเกมได้ยากมาก โดยเฉพาะหากคุณอยู่สังกัดค่ายผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ เพราะกลายเป็นว่าคุณต้องทำเกมขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์การตลาดมาร์เกตติ้ง กระแสนิยมหรือเทรนด์ในขณะนั้น

หมดโอกาสแล้วที่จะสร้างตามความฝัน หรือแรงบันดาลใจ และไม่แปลกที่เกมค่ายใหญ่จะคิดค้นหาวิธีเก็บเงินจากผู้เล่นผ่านระบบซื้อของซื้อไอเท็มในเกมมากขึ้น ทำกำไรแทนยอดจำหน่ายจริงที่ลดลง

ในวงการเกมมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ที่บริษัทผู้ผลิตเริ่มเปิดรับฟีดแบ็กกระแสตอบรับจากผู้เล่นอย่างจริงจัง แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาส จะต้องถูกคัดกรองกันระดับหนึ่ง อาจจะต้องกรอกเอกสารแจงรายละเอียด อย่างเช่นมีความเป็นแฟนพันธุ์แท้แค่ไหน เล่นเกมประเภทนี้มามากน้อยเพียงใด

...

เมื่อได้รับสิทธิคุณก็จะถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการทดสอบ ในฐานะผู้เล่น “เบต้า-เทสเตอร์” ซึ่งบริษัทจะเก็บข้อมูลการเล่นทั้งหมด เพื่อตรวจสอบข้อ ผิดพลาด หรือ “บัค” ที่อาจเกิดขึ้นไปจนถึงความเสถียรของเกม เช่นเล่นไปถึงช่วงนี้แล้วจู่ๆเกมปิดโปรแกรมเอาดื้อๆ สาเหตุมาจากอะไร เอาไปตรวจสอบกันอีกที

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่อยู่ในกรอบความคิดไอเดียของผู้สร้าง เกมที่ออกมา ยังเป็นไปตามจินตนาการของนักทำเกม แต่ยุคปัจจุบันมิใช่อีกต่อไป มีการตลาดเข้ามาครอบงำการสร้างสรรค์ผลงาน เกมจะต้องวางขายตามแผนการตลาด ขั้นตอนทดสอบลดได้ลด ทำไม่เสร็จก็จำหน่ายไปแล้วค่อยแก้ไข

ภายใต้รูปแบบของไฟล์อัปเดต ปรับปรุงโปรแกรมให้ทันทีที่เชื่อมอินเตอร์เน็ต หรือบางบริษัทโหดหน่อย ทำเกมไม่สมบูรณ์ออกจำหน่าย และหากผู้เล่นอยากรับอรรถรสเต็มที่ ก็จงซื้อตัวเสริมเพิ่มให้ครบเสีย เช่นเกมตัวหลัก 1,000 บาท ก็จะมีตัวเสริมให้ซื้อชุดละ 100-500 บาท กว่าจะครบเผลอๆ เสียเงิน 3,000-4,000 บาท

ด้วยเหตุนี้เองในช่วงปีที่ผ่านมา จึงมีผู้ผลิตเกมค่ายเอสเอ็มอีทั้งหลาย พัฒนาเกมในรูปแบบ “เออร์ลี แอ็กเซส” (Early Access) กันมากขึ้น โดยรูปแบบนี้จะคล้ายกับคิกสตาร์ตระดมทุนที่ช่วงนี้ฮิตกัน แต่ไม่เหมือนซะทีเดียว คือผู้ผลิตเกมจะเขียนโปรแกรมตัวเกมที่สามารถเล่นได้เลยขึ้นมาก่อน แต่จะไม่ใส่รายละเอียดลงไป

เอาเป็นว่าคิกสตาร์ตขายไอเดีย ระดมทุนแล้วค่อยทำ แต่เออร์ลี แอ็กเซสใช้ทุนสร้างแก่นของเกมขึ้นมา แล้วค่อยเพิ่มปรับปรุงเนื้อหา ยกตัวอย่างเกมยุคอัศวินที่กำลังได้รับความนิยมขณะนี้ “เมาต์ แอนด์ เบลด : แบนเนอร์ลอร์ด” (Mount & Blade : Bannerlord) ที่ผู้เล่นจะมีโอกาสสวมบทบาท เป็นได้ทั้งทหารเลวจนกระทั่งแม่ทัพ ร่วมสู้ศึกชิงเมือง บนแผนที่อันกว้างใหญ่ มีทหารเป็นหลักพันคน (ซึ่งกินทรัพยากรเครื่องอย่างมาก)

งานนี้ผู้ผลิตค่ายย่อย ทำเสร็จแล้วขายเลยราคาประมาณ 1,200 บาท จากนั้นจึงค่อยใส่รายละเอียดเพิ่มเติมหรือแก้ไขปรับปรุงลงไปในเกม ตามคำเรียกร้องส่วนใหญ่ของผู้เล่นที่ส่งฟีดแบ็กกลับไป เช่นระบบการใช้โล่ป้องกันยากเกินไป หรือพลธนูทำไมชักดาบบุกปีนกำแพงตีเมือง แทนที่จะยืนยิงเก็บศัตรู

...

หรืออีกเกมที่ค่อนข้างน่าสนใจ ขายราคาประมาณ 500 บาท (ผู้เขียนซื้อตอนลดราคาวันทหารผ่านศึกเหลือ 200 กว่าบาท) “เฮล เล็ท ลูส” (Hell Let Loose) เออร์ลี แอ็กเซสจากค่ายอินดี้ เล่นผ่านออนไลน์ พาผู้เล่นกลับไปสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สวมบทบาททหารฝ่ายสัมพันธมิตรและอักษะ ยิงต่อสู้กันบนแผนที่มหึมา กว่าจะเดินจากแนวหลังตรงจุดเกิด มุ่งสู่แนวหน้าใช้เวลากันหลายนาที แถมสมจริงยิงกันนัดเดียวร่วง

โดยตั้งแต่ปล่อยจำหน่าย เกมก็ค่อยพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ มีการใส่ระบบสนับสนุนการรบ เรียกเครื่องบินทิ้งระเบิด ปืนใหญ่สนับสนุน ไปจนถึงการเติมรถถัง เพื่อยกระดับสงครามให้จริงจัง

...

ปกติส่วนตัว เคยชินกับการซื้อสินค้าเสร็จสมบูรณ์ แต่หลังจากได้สัมผัสกับเกมรูปแบบนี้ ก็ไม่แย่นัก และกลับดีเสียอีกเมื่อทิ้งระยะไปทำอย่างอื่นสักพัก พอกลับมาเกมก็เปลี่ยนแปลงเหมือนเป็นเกมใหม่ ได้สนุกรอบใหม่กันอีกครั้ง ใครสนใจก็ขอเชิญลองกันนะครับผม ในออนไลน์มีเยอะแยะเลย.


พจน์ พลวัต