“กาฬทวีป” หรือ “ทวีปมืด” คืออีกชื่อหนึ่งของ “ทวีปแอฟริกา” ที่ถูกเรียกขานเช่นนี้ เพราะในอดีตมีสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงยากและเป็นอุปสรรคทำให้เรื่องราวความเป็นไปเกี่ยวกับทวีปลึกลับที่ว่านี้ไม่ค่อยถูกนำมาศึกษาสักเท่าไร ถึงแม้ว่าแอฟริกาจะเป็นดินแดนที่นักวิชาการส่วนใหญ่เสนอกันว่าเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์โบราณที่ค่อยๆ แพร่กระจายออกไปยังสถานที่ต่างๆของโลกก็ตามที แต่ “วัฒนธรรม” หรือ “อารยธรรม” ที่ชนโบราณได้รังสรรค์ขึ้นมาในทวีปมืดกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ทั้งที่ทวีปนี้ก็มีอารยธรรมโบราณที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งทุกวันนี้เรารู้จักพวกเขากันในชื่อเรียกง่ายๆพยางค์เดียวว่าอารยธรรม “นก” (Nok) ครับ

และแน่นอนว่า วันนี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนจะพาแฟนานุแฟนไปรู้จัก “นก” กันครับ

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกับชื่อเรียกของอารยธรรม “นก” กันก่อนครับ คำว่า “นก” อาจจะทำให้หลายๆท่านคิดไปถึง “นก” ที่บินอยู่บนท้องฟ้า แต่ “นก” ที่เป็นชื่ออารยธรรมลึกลับนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคำว่านกในภาษาไทยแต่อย่างใด เพราะชื่อเรียก “นก” นี้เป็นเพียงแค่ชื่อ “หมู่บ้าน” ที่นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นถึงการมีตัวตนอยู่ของอารยธรรมลึกลับที่สาบสูญ และหมู่บ้าน “นก” ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ของประเทศ “ไนจีเรีย” นี่เองครับ

รูปหล่อทองเหลืองของชาวอีเฟ หลังอารยธรรมนกล่มสลาย.
รูปหล่อทองเหลืองของชาวอีเฟ หลังอารยธรรมนกล่มสลาย.

...

แรกเริ่มเดิมทีนักโบราณคดีไม่ทราบถึงการมีตัวตนอยู่ของอารยธรรมนกแห่งไนจีเรียมาก่อนเลยครับ เรียกว่าเป็น “อารยธรรมที่สาบสูญ” ไปจาก องค์ความรู้ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างนั้นข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวนกโบราณเคยสร้างเอาไว้และบ้างก็อาจจะทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นดินจนถูกทับถมไปตามกาลเวลาก็ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาอีกครั้งในช่วงของการทำเหมืองดีบุกบริเวณรัฐกาดูนา (Kaduna) ราวปี ค.ศ.1928 สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของทีมขุดเหมืองคือ “หุ่นดินเผา” (Terracotta) รูปทรงแปลกประหลาด บ้างก็เป็นรูปมนุษย์ บ้างก็เป็นรูปสัตว์ แต่กว่าที่ทีมนักโบราณคดีจะเข้ามาทำการศึกษาบรรดาหุ่นดินเผาลึกลับเหล่านี้ก็ล่วงเลยเข้าไปถึงปี ค.ศ.1943 แล้วครับ นักโบราณคดีชาวอังกฤษยุคบุกเบิกคือเบอร์นาร์ด แฟกก์ (Bernard Fagg) เขาพยายามเปรียบเทียบลักษณะทางศิลปะของหุ่นดินเผาที่ค้นพบจากไนจีเรียเข้ากับหุ่นดินเผาจากวัฒนธรรมอื่นๆ ทว่ามันไม่คล้ายคลึงกับผลงานศิลปะของกลุ่มวัฒนธรรมใดๆเลยน่ะสิครับ

หุ่นดินเผาร่างกายคล้ายแมวแต่ศีรษะเป็นมนุษย์.
หุ่นดินเผาร่างกายคล้ายแมวแต่ศีรษะเป็นมนุษย์.

นั่นทำให้แฟกก์เสนอว่าเขาได้ค้นพบหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมลึกลับที่สาบสูญของทวีปแอฟริกาเข้าให้แล้ว และเมื่อทีมขุดค้นของแฟกก์ได้ปักหลักค้นหาหลักฐานบริเวณหมู่บ้าน “นก” ก็ทำให้พวกเขาได้พบกับหุ่นดินเผามากมายถึง 200 ชิ้น ที่บ้างก็เพิ่งค้นพบสดๆร้อนๆ บ้างก็ขอซื้อมาจากคนที่ขุดค้นเจอก่อนหน้านี้ และเมื่อนำเอาตัวอย่างของชั้นดินที่ค้นพบโบราณวัตถุเหล่านี้ไปตรวจสอบหาอายุก็พบว่ามันมีความเก่าแก่ย้อนกลับไปได้ไกลถึงช่วงประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล และเมื่อนักโบราณคดีทำการขุดค้นมากขึ้นพวกเขาก็ได้ค้นพบโบราณวัตถุโดยเฉพาะหุ่นดินเผาอันเป็นเอกลักษณ์จากกลุ่มวัฒนธรรมนี้มากมายแสดงให้เห็นว่าชาวนกโบราณคืออารยธรรมที่สาบสูญแห่งแอฟริกาตะวันตกที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในช่วงประมาณ 900 ปีก่อนคริสตกาลมาจนถึงปี ค.ศ.200 นอกจากนั้นการกระจายตัวของโบราณวัตถุจากอารยธรรมนกโบราณในประเทศไนจีเรียยังแผ่ขยายกว้างไกลออกไปราว 78,000 ตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศไนจีเรียเอาไว้เกือบทั้งหมด หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้ง่ายก็คืออาณาเขตของอารยธรรมนกอันลึกลับนี้มีพื้นที่เทียบเท่ากับประเทศโปรตุเกสทั้งประเทศเลยล่ะครับ

หุ่นดินเผาคนขี่ม้า.
หุ่นดินเผาคนขี่ม้า.

...

เรามาดูหุ่นดินเผาอันเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ช่วยเปิดเผยตัวตนของอารยธรรมนกกันก่อนครับ หุ่นดินเผาที่นักโบราณคดีค้นพบส่วนใหญ่มักจะเป็นรูปมนุษย์ที่มีศีรษะขนาดใหญ่ ดวงตาเรียวยาว ปากเผยอเล็กน้อย บางรูปมีการสวมเครื่องประดับศีรษะหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็น “ชนชั้นสูง” และนั่นทำให้เราตีความเพิ่มเติมไปได้อีกด้วยครับว่าบางทีระบบสังคมของชาวนกโบราณอาจจะมีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจนแล้วด้วยก็เป็นได้

ท่วงท่ายอดนิยมที่มักจะปรากฏในงานหุ่นดินเผาของชาวนกโบราณคือท่านั่งชันเข่า มือทั้งสองข้างพาดวางเอาไว้บนเข่า ดูประหนึ่งว่าหุ่นดินเผากำลัง “คิดไม่ตก” กับอะไรบางอย่าง นอกจากนั้นงานหุ่นดินเผายังแสดงให้เห็นถึงจินตนาการของการนำเอา “มนุษย์” และ “สัตว์” มาผสมผสานกันอย่างชัดเจน เช่น หุ่นดินเผาที่มีร่างกายเป็นแมวแต่มีศีรษะเป็นมนุษย์ก็มีครับ

หุ่นดินเผาที่มีการเจาะรูบริเวณดวงตา จมูก หู และปาก.
หุ่นดินเผาที่มีการเจาะรูบริเวณดวงตา จมูก หู และปาก.

...

คำถามที่นักโบราณคดีสนใจก็คือชาวนกโบราณสร้างหุ่นดินเผาเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดกันแน่? น่าเสียดายครับที่ชาวนกโบราณไม่ได้ทิ้งหลักฐานของ “ตัวเขียน” หรือบันทึกใดๆเอาไว้ ดังนั้น นักโบราณคดีจึงทำได้เพียงแค่ตีความจากรูปร่างลักษณะของโบราณวัตถุ เช่น ชิ้นงานบางชิ้นที่แสดงภาพมนุษย์ที่ดูเหมือนว่าเป็น “โรคเท้าช้าง” (Elephantiasis) หรือบ้างก็เป็น “โรคอัมพาตใบหน้า” (Facial Paralysis) ก็ได้รับการเสนอกันว่าหุ่นดินเผาเหล่านั้นอาจจะถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อช่วยทางด้านการเยียวยารักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยต่างๆก็เป็นได้

นอกจากนั้น เมื่อนักโบราณคดีนำเอาหุ่นดินเผาเหล่านี้ไปตรวจสอบเพิ่มเติมก็ได้พบกับความจริงที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือหุ่นดินเผาที่ค้นพบจากแหล่งวัฒนธรรมนกโบราณอันกว้างใหญ่ที่มีขนาดเทียบเท่ากับประเทศโปรตุเกสนี้กลับใช้ “ดินเหนียว” ที่มาจากแหล่งเดียวกัน!! ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าชาวนกโบราณต้องมีการบริหารจัดการและกระจายวัตถุดิบที่เป็นระบบ อีกทั้งบางทีพวกเขาอาจจะมี “สมาคม” ช่างดินเผาที่คอยสอนวิธีการทำชิ้นงานศิลปะส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น แสดงให้เห็นว่าสังคมของพวกเขาน่าจะเป็นแบบรวมอำนาจจากศูนย์กลางด้วยเช่นกันครับ

เตาหลอมเหล็กที่ค้นพบจากพื้นที่อารยธรรมนก.
เตาหลอมเหล็กที่ค้นพบจากพื้นที่อารยธรรมนก.

...

ยิ่งไปกว่านั้นชิ้นงานดินเผาของชาวนกโบราณยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางด้านการผลิตชิ้นงานที่น่าทึ่ง ด้วยว่าหุ่นดินเผาที่มีขนาดใหญ่ (บางครั้งมีขนาดชิ้นงานใหญ่เท่าตัวจริง) ส่วนมากภายในมักจะ “กลวง” ซึ่งเมื่อนำไปเผาในเตาแล้วมีโอกาสที่ก๊าซและความร้อนต่างๆจะส่งผลให้ชิ้นงานเกิดรอยร้าว หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือทำให้ชิ้นงานแตกหักเสียหายได้ ดังนั้น พวกเขาจึงมักจะเจาะ “รู” ชิ้นงานเอาไว้บริเวณดวงตา จมูก หู และปาก เพื่อช่วยระบายก๊าซต่างๆ และการเจาะรูที่อวัยวะบนใบหน้ายังเป็นการเพิ่ม “สุนทรียศาสตร์” ให้ชิ้นงานของพวกเขามีความสมจริงมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ นักโบราณคดียังพบว่าชิ้นงานหุ่นดินเผารูปมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการผลิตด้วยแม่พิมพ์ แต่มักจะแสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของใครของมัน ประหนึ่งว่าชิ้นงานแต่ละชิ้นถูกปั้นขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเลยก็ว่าได้

อีกหนึ่งความโดดเด่นของอารยธรรมนกโบราณแห่งไนจีเรียคือ “เทคโนโลยี” ที่ก้าวกระโดดไปจากกลุ่มอารยธรรมโบราณอื่นๆ ที่มักจะมีลำดับจากยุคหิน ไปสู่ยุคทองแดง ตามด้วยยุคสำริด แล้วจึงก้าวเข้าสู่ยุคเหล็ก แต่สำหรับชาววัฒนธรรมนกแล้ว พวกเขา “กระโดด” จากยุคหินเข้าสู่ “ยุคเหล็ก” โดยตรงเลยโดยไม่เคยรู้จักการผลิตชิ้นงานจากโลหะทองแดงหรือสำริดมาก่อน นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานของเตาหลอม (Furnace) อย่างน้อย 13 แห่งที่มีหลักฐานของการใช้งานเพื่อหลอมเหล็กมาตั้งแต่เมื่อราว 519 ปีก่อนคริสตกาลแล้วครับ และความสามารถทางด้านการถลุงเหล็กของวัฒนธรรมนกโบราณนี่ล่ะครับ ที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับนักโบราณคดีได้ไม่น้อย เพราะเมื่อชนโบราณมี “เครื่องมือ” ที่ดีขึ้น นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่สังคมที่ซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

หุ่นดินเผาที่ดูเหมือนกำลัง “ครุ่นคิด”.
หุ่นดินเผาที่ดูเหมือนกำลัง “ครุ่นคิด”.

บรรดาเครื่องมือเหล็กที่นักโบราณคดีค้นพบจากวัฒนธรรมนกที่สาบสูญมีทั้งเครื่องประดับอย่างกำไล ไปจนถึงเครื่องมือเกษตรกรรมอย่างจอบและขวานขนาดใหญ่รวมถึง “อาวุธ” ที่ทำจากเหล็กอีกหลากชนิดเลยล่ะครับ ทั้งกริช หัวธนูและใบมีดสำหรับทำหอก ซึ่งการผลิตอาวุธเช่นนี้ยังแสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้ “ราบรื่น” เสมอไป แต่อาจจะมีการกระทบกระทั่งกับชนเผ่าต่างถิ่นในสมัยนั้นด้วยก็เป็นได้

นักโบราณคดีเสนอว่าการเปลี่ยนผ่านจาก “ยุคหิน” ไปสู่ “ยุคเหล็ก” ในอารยธรรมนกเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงแรกที่เริ่มมีการถลุงเหล็กนั้น อาวุธหรือเครื่องมือจากเหล็กยังปรากฏให้เห็นน้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่องมือที่ทำจากหินแบบดั้งเดิม แต่เมื่อเทคโนโลยีการถลุงเหล็กพัฒนามากขึ้นประกอบกับมีแร่เหล็กเพียงพอในการผลิตชิ้นงาน นักโบราณคดีก็พบว่าเครื่องไม้เครื่องมือจากเหล็กเริ่มเข้ามา “ทดแทน” เครื่องมือจากหิน จนกลายเป็นที่นิยมไปในที่สุด

สิ่งที่น่าเสียดายก็คือนักโบราณคดียังไม่ค้นพบหลักฐานที่จะนำมาให้คำตอบได้ว่าชาวนกโบราณรับเอาความสามารถอันน่าทึ่งเหล่านี้มาจากอารยธรรมไหน จะเป็นไปได้ไหมที่พวกเขาจะคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆขึ้นมาได้เองอย่างอิสระโดยไม่ได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอื่นใดเลย หรือไม่อย่างนั้น บางทีชาวนกโบราณอาจจะเป็นเพียงแค่ “ทายาท” ของอารยธรรมอื่นที่เคยรุ่งเรืองอยู่ก่อนหน้าทว่ายังคง “หายสาบสูญ” ก็เป็นได้อีกเช่นกันครับ

สุดท้าย นอกจาก “ปฐมบท” ของอารยธรรมนกจะเป็นปริศนาแล้ว “ปัจฉิมบท” ของอารยธรรมนกก็ชวนให้พิศวงไม่แพ้กัน นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของกลุ่มวัฒนธรรมนกโบราณถึงเพียงแค่ช่วงปี ค.ศ.200 เท่านั้นเองครับ หลังจากนั้นเป็นต้นมา จำนวนประชากรของวัฒนธรรมนกโบราณก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด สำหรับสาเหตุของการล่มสลายนั้นก็มีการตั้งสมมติฐานขึ้นมาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่เกินขีดจำกัดจนเกิดการขาดแคลน ไปจนถึงทฤษฎีทั่วๆไปอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นำมาซึ่งการขาดแคลนอาหาร ไม่ก็อาจจะถูกรุกรานจากชนเผ่าต่างถิ่นหรือแม้แต่กระทั่งอาจจะเกิด “โรคระบาด” บางอย่างเข้ามาทำให้วัฒนธรรมของพวกเขาต้องถึงกาลอวสานไปในที่สุด

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร หลังจากปี ค.ศ.200 วัฒนธรรมโบราณแห่งนี้ก็หายสาบสูญออกไปจากประเทศไนจีเรีย กลุ่มวัฒนธรรมใหม่ที่ถือกำเนิดต่อจากชาวนกมีชื่อว่า “อีเฟ” (Ife) ซึ่งครองความเป็นใหญ่อยู่ในบริเวณเดียวกับชาวนกโบราณ ทว่าพวกเขารุ่งเรืองอยู่ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 15 โดยมีผลงานโดดเด่นคือรูปหล่อศีรษะมนุษย์จากทองเหลือง ซึ่งนักโบราณคดีส่วนหนึ่งเสนอว่าพวกเขาอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมนกโบราณที่รุ่งเรืองอยู่ก่อนหน้าพวกเขาถึงเกือบหนึ่งสหัสวรรษก็เป็นได้

ไม่ว่าชาวอีเฟกับชาวนกจะมีความเกี่ยวข้องกันจริงหรือไม่ อย่างน้อยเราก็ได้เห็นแล้วว่าชนเผ่าแห่งแอฟริกาตะวันตกในกาฬทวีปก็มีความเจริญก้าวหน้าไม่แพ้อารยธรรมอื่นๆในโลกโบราณเลยล่ะครับ.

ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน โดย โดย : ณัฐพล เดชขจร