โคเคนเป็นยาเสพติดที่สร้างปัญหาให้กับสหรัฐอเมริกามากที่สุดในโลก โดยมีข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศสสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่าอัตราการเสพโคเคนของประชากรในปี พ.ศ. 2560 สูงขึ้น และปีพ.ศ. 2562 พบการลักลอบนำโคเคนขึ้นฝั่งเมืองฟิลาเดลเฟีย 14,900 กิโลกรัม ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ส่วนประเทศไทยมีข้อมูลระบุจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีว่า “โคเคน” เข้ามาแพร่หลายในปี พ.ศ. 2538 ในกลุ่มดาราวัยรุ่น และระบุที่มาว่าเป็นยาเสพติดที่มีต้นกำเนิดมากว่า 1,000 ปี ด้วยการเสพโดยตรงจากใบโคคา

ประวัติการใช้ “โคเคน” ในสังคม

...

  • 1,000 ปีก่อน ชาวพื้นเมืองอินเดียนในเปรู เสพโคเคนด้วยวิธีเคี้ยวใบโคคา
  • โคเคนถูกนำมาสกัดทำยารักษาอาการซึมเศร้า และภาวะติดยาเสพติดอื่นๆ ในด้านการแพทย์ โคเคนเคยถูกนำมาสกัดเป็นยาชาใช้เฉพาะที่
  • เครื่องดื่มยี่ห้อดังจากสหรัฐอเมริกา เคยผลิตเครื่องดื่มมีสารสกัดจากใบโคคา ปัจจุบันได้นำสารโคเคนออกจากใบโคคาก่อนผลิตแล้ว
  • พ.ศ. 2493 พบการใช้โคเคนเป็นยาเสพติดเป็นยุคแรก
  • พ.ศ. 2513 พบการใช้โคเคนเป็นสารเสพติดระบาดหนักที่สุด

และปัจจุบันก็ยังพบการใช้โคเคนเป็นยาเสพติด เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ และการดื่มกาแฟ

เสพโคเคนแล้วมีอาการอย่างไร

เว็บไซต์สถาบันบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการ อันตราย และพิษของโคเคนไว้ว่า

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อเสพโคเคน จะทำให้กระปรี้กระเปร่า ความคิดแคล่วคล่อง ฉับไว และหากสูบควันจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทอย่างรวดเร็ว แต่หลังหมดฤทธิ์จะรู้สึกซึมเศร้าอย่างรุนแรง และพิษของโคเคนจะทำให้ใจสั่น แน่นหน้าอก ชัก อาจมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ร่วมด้วย หากใช้ต่อเนื่องจะเกิดการเสพติด และมีอาการทางจิตได้

ในอดีตเคยพบว่าโคเคนเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรค HIV และโรคติดต่ออื่นๆ สูง ในกลุ่มผู้เสพ เพราะสารกระตุ้นนี้จะนำไปสู่พฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงกับคู่ติดเชื้อ รวมถึงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน


โคเคนเป็นพิษต่อร่างกายอย่างไร

อันตรายของโคเคนเมื่อเสพติดจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เสพ และมีโอกาสกระตุ้นให้ผู้เสพก่ออาชญากรรม ในอดีตพบการชี้ชวนให้ใช้โคเคน จนผู้เสพต้องประสบปัญหาสูญเสียเงินทองเพื่อซื้อหา นอกจากนี้ยังเป็นโทษแก่ร่างกายนานัปการ ดังนี้

  • เกิดโรคในทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ, เลือดออกในจมูก, ผนังกั้นจมูกทะลุ
  • ไม่อยากอาหาร ทำให้น้ำหนักลด
  • มีอาการชักเช่นเดียวกับโรคลมบ้าหมู
  • ใจสั่น
  • เป็นโรคหัวใจขาดเลือด

การเสพโคเคนเป็นประจำจะลดปริมาณออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อผู้เสพ มีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย และในเด็กจะส่งผลให้ร่างกายไม่สร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ทำให้การเติบโตหยุดชะงัก


โคเคนยาเสพติดประเภทที่เท่าไร

ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โคเคน จัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษทั่วไปประเภทที่ 2 และเมื่อแบ่งตามการออกฤทธิ์ จะถูกจัดอยู่รวมกับกลุ่มยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ในกลุ่มเดียวกับบุหรี่ และกาแฟ


ครอบครองและเสพโคเคน มีความผิดทางกฎหมายในข้อใด

...

เมื่อถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ผู้เสพโคเคนจะถูกสอบสวนด้วยการตรวจพิสูจน์ก่อน หากปริมาณในร่างกายและปริมาณที่ตรวจพบนั้นอยู่ในข้อกฎหมายกำหนด ผู้เสพมีโอกาสได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 มาตรา 19

แต่หากค้นพบว่ามีโคเคนเกินกว่าจำนวนที่กฎกระทรวงกำหนด แม้ว่าจะไม่ได้มีไว้ขาย ก็ต้องถูกดำเนินคดีฐานมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ไว้ในครอบครอง

โดยยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ได้แก่ มอร์ฟีน, โคเคน, เคตามีน, โคดีน, ฝิ่น, สารสกัดจากฝิ่น, เมทธาโดน มีโทษจำคุกขั้นสูง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สรุปแล้ว โคเคนออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทให้รู้สึกสนุก แต่หลังเสพก็จะกลับมาซึมเศร้า และติดจนต้องหาซื้อมา สูญเสียเงินทอง หากถูกดำเนินคดีก็จะทำให้คนในครอบครัวเดือดร้อน ต้องสูญเสียทรัพย์สินมาประกัน เพราะฉะนั้นครอบครัวควรดูแลกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการถูกชักจูงเข้าสู่วงการยาเสพติดอย่างใกล้ชิด