แฟชั่นถือเป็นวัฏจักรที่มาแล้วก็ไป ไปแล้วก็มาหมุนวนอยู่อย่างนี้ ชุดที่เคยใส่เมื่อหลายสิบปีก่อนอาจกลับมาทันสมัยในยุคนี้ แม้แต่คนที่เป็นแบบก็ใช่ว่าจะมีแต่เฉพาะหนุ่มสาว เพราะโลกออนไลน์และออฟไลน์...อะไรก็ล้วนเป็นไปได้เสมอ

นางซู ซิ่ว–เอ๋อ คุณย่าวัย 84 ปี กับนายฉาง หว่าน–จี สามีวัย 83 ซึ่งมีคนติดตามในอินสตาแกรมจากทั่วโลก ณ ตอนนี้อัปๆแล้วเกือบ 600,000 ฟอลโล!!! จากแรกๆที่มียอดแสนกว่า นิตยสารแฟชั่น “โว้ก” กับ “มารี แคลร์” ในประเทศทำเป็นสารคดี สื่อสำนักข่าวต่างประเทศก็นำเสนอพึ่บพั่บ

เพราะการเป็นนางแบบนายแบบรุ่นเก๋าด้วยเสื้อผ้าของลูกค้า ซึ่งมีอยู่หลายร้อยตัว ที่ไม่มารับคืนหรือตั้งใจทิ้งไว้ในร้านซักรีดของทั้งคู่ที่ เขตโหวลี่ นครไถจง เขตเทศบาลพิเศษของไต้หวันกลาง ตั้งหลายสิบปีที่ผ่านมา

...

ด้วยเหตุผลที่ว่า บางคนก็ละทิ้งถิ่นฐานแล้วลืมมาเอา หรือบางคนก็เสียชีวิตแล้วทางครอบครัวก็ไม่สนใจ บางคนวิถีชีวิตก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น หย่าร้าง ทุกคนจึงไม่คิดที่จะกลับมารับเสื้อผ้าที่จ้างซัก-รีดไว้

นายหว่าน–จี ซึ่งเริ่มทำหน้าที่ซักเสื้อผ้าตั้งแต่อายุ 14 เพื่อช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัว เล่าให้ฟังว่า “สมัยนี้คนชอบทิ้งเสื้อผ้า เพราะมองว่าซื้อหาง่ายขึ้น หากเป็นเมื่อก่อน เสื้อผ้าเป็นสิ่งที่มีราคาแพงมาก ตอนที่ตัวเองแต่งงาน ราคาของเสื้อสูทต้องจ่ายเป็นข้าวสาร 20 กระสอบ ในทางเดียวกัน สมัยนั้นเสื้อผ้าก็มีราคาจนคุณสามารถเอาไปจำนำได้ถ้าเงินขาดมือ”

แม้ทั้งคู่นำออกบริจาคให้ การกุศลไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงภัยพิบัติธรรมชาติ กับให้ครอบครัวที่ขัดสน เสื้อผ้าก็ยังตกค้างเต็มร้าน นายรีฟ ฉาง หลานชาย เลยได้ไอเดีย ชักชวนอากง อาม่ามั่นใจเรื่องการเป็นแบบเสื้อผ้า และให้ลองใส่เสื้อผ้าเหล่านี้โพสต์ลงอินสตาแกรม แต่ไม่ได้ต้องการชื่อเสียงอะไร นอกจากอยากให้ทั้งสองท่านหายเบื่อในเขตโหวลี่ ซึ่งเป็นเมืองเงียบหงอย มีประชากรราว 50,000 คน

“ตัวเองนั่งดูคุณปู่คุณย่ากับสายตาที่ว่างเปล่ามองไปยังถนน เพราะธุรกิจซบเซา ก็เลยอยากหาอะไรสนุกๆให้ท่านทำ”

ด้วยคำแนะนำจากเพื่อนๆที่เป็นสายแฟชั่น ช่วยกันประยุกต์มิกซ์แอนด์แมตช์ เสื้อเชิ้ต เสื้อยืด กางเกงขาสั้น กระโปรง เครื่องประดับ แอคเซสเซอรี กระเป๋า รองเท้า แว่นตาที่ยืมๆกันมาแล้วถ่ายรูปให้เหมือนช่างภาพนิตยสารแฟชั่นโดยมีพร็อพหน้าเครื่องซักผ้าบ้าง เครื่องอบผ้าภายในร้านที่เปิดมานานร่วมๆ 70 ปี ซึ่งทั้งคู่ก็โพสท่าต่อหน้ากล้องด้วยท่าทางที่เป็นธรรมชาติ

นายฉาง เผยว่า “ช่วงแรกทั้งสองท่านไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทรนด์แฟชั่น และรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะใส่เสื้อผ้าของลูกค้า แต่ตนเองก็พูดให้ทั้งสองมั่นใจว่าเป็นการตีความแฟชั่นใหม่ ให้ทุกคนรู้ว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคที่จะสนุกสนานกับการใส่เสื้อผ้า แม้แต่ชุดเก่าก็สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นชุดชิกๆ เก๋ๆได้”

...

นางซิ่ว–เอ๋อ เองก็พูดแล้วยิ้มด้วยความภาคภูมิใจว่า “ตัวเองไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า อายุขนาดนี้แล้วจะมีคนตั้งมากมายอยากดูรูปที่ถ่าย การเป็นแบบกับเสื้อผ้าเหล่านี้ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าอ่อนวัยขึ้น 30 ปี หลายคนก็บอกว่า ดังใหญ่แล้วนะ แล้วก็ดูสาวขึ้นด้วย ตัวเองก็รู้ว่าแก่แต่จิตใจยังไม่แก่ และเริ่มชอบที่จะใส่เสื้อผ้าสวยๆ แล้วออกมาทำอะไรที่สนุกๆ แถมยังไปค้นเจอเสื้อผ้าบางตัวที่เคยซื้อทิ้งไว้เมื่อ 30 ปีก่อน หยิบมาก็ยังใส่ได้ดี เพราะรูปร่างไม่เปลี่ยน ยิ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก”

ส่วนรางวัลที่นายฉางได้รับ ไม่เพียงแต่ทำให้ทั้งสองมีความสุขมากขึ้น แต่ยังย้ำเตือนไปถึงคนหนุ่มสาว ให้มีเวลากับคนเฒ่าคนแก่ที่รักของตัวเองมากขึ้น

ขณะที่อากง อาม่าสายแฟคิดว่าจะใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ส่งเสริมแนวความคิด “แฟชั่นรักสิ่งแวดล้อม”

คือแทนที่จะวิ่งตามกระแสที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว และต้องจ้องเพื่อซื้อชุดใหม่ๆให้ทันรันเวย์โลก ก็หวังจะเป็นอีกช่องทางที่พิสูจน์ให้คนอื่นได้เห็นว่าเสื้อผ้าเก่าๆ หรือเสื้อผ้ามือสองก็สามารถอินเทรนด์ หรือนำเทรนด์ได้ หากคิดปรับเปลี่ยน ผสมผสาน สลับที่สลับทางด้วยวิธีใหม่ๆ ซึ่งช่วยลด–ละ–เลิกทำลายสิ่งแวดล้อมและโลกได้...

...

@เจ๊หม่า