ไม่ว่าราคาทองจะขึ้นสูงหรือคงที่ ก็มีคนขายทองออนไลน์ โดยเฉพาะที่เป็นมิจฉาชีพมาขาย ซึ่งมักจะใช้เล่ห์อุบายหลอกว่าให้ลงทุนทองออนไลน์แบบเก็บออมสะสม หรือซื้อเป็นทองแท่งเต็มบาทไปเก็บไว้ขายต่อร้านทองเพื่อรับส่วนต่าง วันนี้ไทยรัฐออนไลน์มีคำแนะนำการเลือกซื้อทองออนไลน์มาฝากกัน

ทองออนไลน์ คืออะไรกันแน่

หากเปิดขายทองออนไลน์ แต่ไม่มีหน้าร้าน ห้ามซื้อเด็ดขาด ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นมิจฉาชีพแน่ๆ เพราะการจำหน่ายทองคำ มีกฎหมายควบคุมการซื้อขายทองคำเอาไว้ อาทิ

  • กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
  • กฎหมายเกี่ยวกับภาษีร้านทอง, กรมสรรพากร
  • กฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกทองคำ
  • กฎหมาย และประกาศกระทรวงพาณิชย์
  • กฎหมาย และประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
     

และมีกฎหมายสำคัญจากทาง ปปง. เกี่ยวกับการฟอกเงิน คือ ลูกค้าที่ซื้อขายทองตั้งแต่ 100,000 บาท ต้องแสดงตนกับทางร้านค้า และซื้อขายด้วยเงินสดตั้งแต่ 2,000,000 บาท ขึ้นไป ทางร้านทองต้องรายงานต่อ ปปง.

...

เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีร้านทองออนไลน์ แต่หากมีอยู่จริงทางร้านทองจะต้องขอเอกสารแสดงตัวของลูกค้าเมื่อสั่งซื้อ 100,000 บาท ขึ้นไป

กลโกงซื้อขายทองออนไลน์สไตล์มิจฉาชีพ

มิจฉาชีพใช้ช่องว่างของการซื้อขายทองคำ ในเรื่องส่วนต่างราคาเมื่อขายวันต่อวัน เพื่อจูงใจลูกค้า ด้วยกลอุบายต่างๆ ให้ลูกค้าหลงเชื่อ และหลงโอนเงิน เช่น

1. ถ่ายรูปทองคำแท้ แต่ส่งทองคำปลอมให้
2. พูดจาโน้มน้าวให้ลูกค้าเชื่อว่านำไปขายต่อร้านทองทั่วไปได้ส่วนต่างเยอะ
3. สอดไส้ข้างในเป็นทองปลอม
4. ส่งทองที่น้ำหนักไม่ตรงกับที่ซื้อ
5. บอกเปอร์เซ็นต์ทองไม่ตรงกับทองคำที่ส่งให้

การเลือกซื้อทองออนไลน์แบบไม่โดนโกง

หากคุณต้องการซื้อทองคำ ควรเดินทางไปที่ร้านโดยตรง แม้ว่าร้านจะมีช่องทางให้ติดต่อทางโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางโฆษณา โชว์รูปภาพ และให้สั่งซื้อทาง Facebook, LINE ได้ แต่ว่าคุณต้องตรวจสอบเลขบัญชีให้ถูกต้อง

1. ทราบว่าร้านทองมีหน้าร้านอยู่จริง

เคยเห็นมากับตา หรือตรวจสอบชื่อร้านกับสมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย (ดูทางเว็บไซต์ www.goldtraders.or.th ได้)


2. เลขบัญชีที่จะโอน ตรงกับชื่อเจ้าของร้าน

โดยส่วนใหญ่วิธีการซื้อทองออนไลน์นี้ ทางผู้ซื้อจะรู้จักกับเจ้าของร้านอยู่แล้ว หากจะโอนเงินก็ต้องทราบชื่อสกุลที่ตรงกับเจ้าของร้าน (แม้เป็นชื่อลูกน้องในร้านก็ไม่ควรโอน)

3. น้ำหนักทองต้องตรง

ทางร้านจะต้องแสดงหลักฐานวางทองไว้บนตาชั่ง แสดงทศนิยม 2 ตำแหน่ง ส่งภาพให้ลูกค้าดูก่อนส่งของ

4. การจัดส่งแบบ EMS แบบมีรับประกัน

ปัจจุบันการจัดส่งผ่านไปรษณีย์ไทย เป็นเจ้าเดียวที่มีรับประกันสินค้าสูงสุดถึง 50,000 - 200,000 บาท และหน้าพัสดุจะต้องไม่แจ้งรายการว่าจัดส่งจากร้านทอง เพราะเสี่ยงกับการโจรกรรม

5. มีรับประกันทอง

ร้านที่น่าเชื่อถือจะแจ้งกับลูกค้าเช่นเดียวกับการซื้อหน้าร้าน คือ มีใบรับประกันทอง เขียนว่าจำหน่ายทองลักษณะใด น้ำหนักทองเท่าไร ซื้อขายทองวันที่เท่าไร และจำหน่ายออกราคาเท่าไร เพื่อให้ลูกค้าสามารถเคลมหรือนำมาขายคืนในราคาที่ตรวจสอบได้


การโดนโกงที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ผู้ขายขอรับซื้อคืนในราคาที่หักเปอร์เซ็นต์สูงเกินไป เช่น ขาย 20,000 บาท ทางร้านรับซื้อโดยหัก 35% ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริง หากเป็นทองแท่งร้านที่จดทะเบียนถูกต้อง จะหักเพียงค่ากำเหน็จเท่านั้น หากมีค่าใช้จ่ายที่หักเพิ่มเติมทางร้านต้องแจ้งกับลูกค้าชัดเจนตั้งแต่ก่อนซื้อขาย

สุดท้ายนี้เตือนผู้ที่ต้องการซื้อทองออนไลน์ อย่าเพิ่งรีบโอน หลังจากได้เลขบัญชีมา เอาไปตรวจสอบชื่อบัญชีคนโกงก่อน โดยคัดลอกชื่อไปวางใน Google ก็พอจะเห็นประวัติได้บ้าง แต่ทางที่ดี ไม่เห็นทองจริง ไม่ได้จับ ไม่ควรซื้อ ยอมเสียค่ารถเดินทางไปที่ร้านโดยตรง ดีกว่ามาเสียใจภายหลัง