แฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน เคยสงสัยกันไหมครับว่าสิ่งใดคือหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังแรงศรัทธาเกี่ยวกับ “เทพเจ้า” ของชนโบราณ “บางกลุ่ม” ในอดีต จนทำให้พวกเขามี “ความเชื่อ” ว่าสามารถติดต่อกับพลังเหนือธรรมชาติ หรือสามารถพูดคุยกับเทพเจ้าที่พวกเขาเคารพนับถือได้จริง

คำตอบก็คือการใช้ “สารหลอนประสาท” ระหว่างพิธีกรรมทางศาสนานั่นเองครับ!!

ถ้าลองดูอารยธรรมดึกดำบรรพ์ทั่วโลกจะพบว่าการใช้ “สารหลอนประสาท” จากพืชพันธุ์ในธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะ “ฝิ่น” หรือการใช้ “ไวน์” ซึ่งเป็นสารมึนเมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนานั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาเลยล่ะครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่นอารยธรรมชาวีน (Chavin) ในประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ที่มีการใช้สารหลอนประสาทจากเห็ดหรือใบโคคา รวมถึงกระบองเพชรซานเปโดร (San Pedro Cactus) ที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทเข้ามาช่วยทำให้พวกเขาเคลิบเคลิ้มและเข้าสู่ภวังค์จนสามารถ “เข้าถึงเทพเจ้า” ระหว่างประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

ตราประทับจากรัชสมัยของกษัตริย์เฮเซคียาห์ พระองค์มีบัญชาให้ทำลายวิหารนอกกรุงเยรูซาเล็ม.
ตราประทับจากรัชสมัยของกษัตริย์เฮเซคียาห์ พระองค์มีบัญชาให้ทำลายวิหารนอกกรุงเยรูซาเล็ม.

...

หรือแม้แต่ในอารยธรรมของชาวจีนโบราณใกล้บ้านเรา จากสุสานจีร์ซานคาล (Jirzankal) เมื่อราว 2,500 ปีก่อน ก็ปรากฏหลักฐานว่าพวกเขามีการเผา “กัญชา” ระหว่างประกอบพิธีกรรมบางอย่าง ด้วยว่ามีการค้นพบกระถางเผาเครื่องหอมทำจากไม้จำนวน 10 ใบ ซึ่งเมื่อนำมาตรวจสอบด้วยเครื่องวิเคราะห์สาร (Mass spectrometry) แล้วพบว่ามี “เตตราไฮโดรแคนนาบินอล” (THC) ซึ่งเป็นสารในพืชจำพวกกัญชาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลงเหลืออยู่ในระดับสูงเลยทีเดียวล่ะครับ นั่นหมายความว่ากระถางเผาเครื่องหอมเหล่านี้ต้องเคยใช้เผา “กัญชา” มาก่อน ทำให้เข้าใจได้ว่าชาวจีนโบราณในพื้นที่บริเวณนี้ เมื่อ 2,500 ปีก่อน เคยเผากัญชาแล้วสูดดมเปลวควันเข้าไปเพื่อให้ตนเองเข้าถึงเทพเจ้า หรือสามารถสื่อสารกับผู้วายชนม์ได้ ซึ่งการค้นพบหลักฐานของการเผากัญชาในจีนโบราณเคยถูกเสนอให้เป็นหลักฐานชิ้นเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา ที่บ่งบอกว่ามนุษย์เราใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอีกด้วย

แต่ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนว่าการใช้กัญชาในจีนโบราณอาจจะต้องสละตำแหน่งเสียแล้วล่ะครับ เพราะเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2020 นักโบราณคดีเพิ่งประกาศการค้นพบครั้งใหม่จากดินแดนแห่งพันธสัญญา ประเทศอิสราเอล ที่บ่งบอกว่าชาวอิสราเอลโบราณเมื่อ 2,700 ปีก่อน ก็อาจจะเคยใช้ “กัญชา” เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมาแล้วเช่นกัน!! แถมยังมีความเก่าแก่กว่าหลักฐานของจีนโบราณถึง 200 ปีเลยทีเดียว การค้นพบในครั้งนี้มาจากแหล่งโบราณคดี “เทล-อาราด” (Tel-Arad) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem) นครแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการ นอกจากนั้นยังมี “วิหาร” ที่ชาวอิสราเอลโบราณสร้างเอาไว้เพื่อใช้ในการบูชาพระยาห์เวห์ (Yahweh)และ อาจจะรวมถึงเทพี “อาเชราห์” (Asherah) อีกด้วย!!

ป้อมปราการแห่งเทล-อาราด ที่ตั้งของวิหารบูชาพระยาห์เวห์.
ป้อมปราการแห่งเทล-อาราด ที่ตั้งของวิหารบูชาพระยาห์เวห์.

เทล-อาราด คือแหล่งโบราณคดีในแถบทะเลทรายเนเกฟ (Negev) ที่มนุษย์ดึกดำบรรพ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานกันตั้งแต่เมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาลในช่วงยุคสำริด ความโดดเด่นของเทล-อาราดอยู่ที่ “วิหาร” ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบูชาพระยาห์เวห์นอกกรุงเยรูซาเล็ม อีกทั้งยังมีอายุร่วมสมัยกับวิหารแห่งโซโลมอน หรือ “วิหารแรก” (First Temple) ในกรุงเยรูซาเล็มอีกด้วยล่ะครับ ปัจจุบันนักโบราณคดีมีข้อมูลเกี่ยวกับวิหารแรกเพียงแค่หยิบมือ ดังนั้นวิหารแห่งเทล-อาราด ซึ่งร่วมสมัยกับวิหารแรก จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่นักโบราณคดีนำมาใช้ทำความเข้าใจทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมของวิหารแรก รวมถึงพิธีกรรมต่างๆที่นักบวชแห่งพระยาห์เวห์เคยกระทำกันในวิหารแรกด้วย

แต่ถึงอย่างนั้นวิหารแห่งเทล-อาราดเองก็ไม่ได้สมบูรณ์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกครับ เพราะในช่วงที่นักโบราณคดีมาค้นพบนั้น ในส่วนของ “อภิสุทธิสถาน” (Holy of Holies) ซึ่งเป็นห้องบูชาชั้นในสุดได้ถูกฝังไปในสมัยของกษัตริย์เฮเซคียาห์ (Hezekiah) ช่วงราว 715 ปีก่อนคริสตกาลแล้วครับ อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีก็พอจะสามารถจำลองสภาพดั้งเดิมของห้องอันศักดิ์สิทธิ์นี้ขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน และในปัจจุบันห้องบูชาจำลองของวิหารเทล-อาราดก็ได้รับการจัดแสดงเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์อิสราเอล (Israel Museum) ในกรุงเยรูซาเล็มเรียบร้อยแล้วด้วย

...

กัญชาเป็นพืชต่างถิ่นราคาแพง เป็นไปได้ว่าภาครัฐของอิสราเอลโบราณเป็นผู้จัดหาเข้ามาให้ใช้.
กัญชาเป็นพืชต่างถิ่นราคาแพง เป็นไปได้ว่าภาครัฐของอิสราเอลโบราณเป็นผู้จัดหาเข้ามาให้ใช้.

นักโบราณคดีเสนอว่าห้องบูชานี้สร้างขึ้นในช่วงประมาณศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล เมื่อหันหน้าเข้าไปยังห้องอภิสุทธิสถานของวิหารเทล-อาราด ด้านหน้าทางเข้าทั้งทางด้านซ้ายและขวาประดับไปด้วยแท่นบูชา (Altar) ลักษณะสี่เหลี่ยมทรงสูงสลักจากหินปูน เสาทางด้านซ้ายมีความสูงราว 52 เซนติเมตร ส่วนเสาทางด้านขวาสูงราว 40 เซนติเมตร ด้านบนขุดเป็นหลุมตื้นๆ ที่ยังคงปรากฏหลักฐานของ “เครื่องบูชา” ที่เคยถูกเผาถวายแด่เทพเจ้าในอดีตหลงเหลืออยู่

ถัดเข้าไปด้านในที่ปลายสุดของห้องบูชาคือ “เสาหิน” ปลายด้านบนโค้งมนจำนวนสองแผ่น นักโบราณคดีเสนอกันว่าแผ่นหินทั้งสองคือแผ่นหินศักดิ์สิทธิ์ (Massebah) แผ่นหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระยาห์เวห์ส่วนอีกแผ่นหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของเทพีอาเชราห์

...

และซากที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของ “เครื่องบูชา” ที่เคยใช้เผาถวายเทพเจ้าในอดีต ซึ่งยังคงติดแน่นอยู่บนแท่นหินบูชาทั้งสองชิ้นบริเวณปากทางเข้าไปยังอภิสุทธิสถานนี่ล่ะครับที่ทำให้นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานสำคัญว่าชาวอิสราเอลในอดีตเคย “เผากัญชา” บนแท่นบูชาแห่งนี้ถวายแด่พระยาห์เวห์มาก่อน!!

แท่นบูชาฝั่งขวามือยังคงหลงเหลือเครื่องบูชาที่เคยถูกเผาในอดีต.
แท่นบูชาฝั่งขวามือยังคงหลงเหลือเครื่องบูชาที่เคยถูกเผาในอดีต.

การใช้กัญชาในวัฒนธรรมอิสราเอลโบราณถือเป็นเรื่องใหม่เอี่ยมอ่องที่นักโบราณคดีไม่เคยทราบมาก่อนเลยครับ ด้วยว่าถ้าอ้างอิงตามพระคัมภีร์ไบเบิลแล้ว ไม่เคยมีการกล่าวถึงพืชที่มีฤทธิ์หลอนประสาทอย่างกัญชาปรากฏในเนื้อหาของพระคัมภีร์ไบเบิลมาก่อนเลยครับ และถ้ามีการเผากัญชาในวิหารที่เทล-อาราดจริงๆ บางทีวิหารแห่งโซโลมอนที่ร่วมสมัยกับวิหารแห่งเทล-อาราด ก็อาจจะเคยมีการเผากัญชาเพื่อใช้เปลวควันอันศักดิ์สิทธิ์เข้ามาช่วยให้พวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้าเช่นเดียวกันด้วยก็เป็นได้ แต่ก่อนอื่น เรามาดูกันครับว่านักโบราณคดีค้นพบหลักฐานของการใช้กัญชาในวิหารแห่งเทล-อาราด ได้อย่างไร

...

การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นักโบราณคดีนำซากเครื่องบูชาปริศนามาตรวจสอบด้วยเครื่องวิเคราะห์สารเช่นเดียวกับการวิเคราะห์กระถางเผาเครื่องหอมจากอารยธรรมจีนโบราณนั่นล่ะครับ สุดท้ายสิ่งที่ปรากฏออกมาในรายงานแสดงให้เห็นว่าเครื่องบูชาจากแท่นซ้ายมือซึ่งมีขนาดสูงกว่านั้นมีส่วนผสมของ “กำยาน” (Frankincense) ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าน่าตกอกตกใจเท่าใดนัก เพราะนักโบราณคดีทราบดีว่ากำยานถูกนำมาใช้เผาในพิธีกรรม เพื่อถวายแด่เทพเจ้าอยู่บ่อยครั้ง ทว่าผลลัพธ์จากรายงานของแท่นบูชาฝั่งขวามือกลับเหนือความคาดหมาย เพราะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นคือหลักฐานของ “เตตราไฮโดรแคนนาบินอล” หรือ THC พร้อมด้วย “น้ำมันกัญชา” (CBD) และ “แคนนาบินอล” (CBN) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารประกอบสำคัญใน “กัญชา” ทั้งสิ้น!!

ห้องบูชาชั้นในสุดของวิหารแห่งเทล-อาราด มีแท่นบูชาสองชิ้น.
ห้องบูชาชั้นในสุดของวิหารแห่งเทล-อาราด มีแท่นบูชาสองชิ้น.

คำถามต่อมาก็คือชาวอิสราเอลโบราณเผากัญชาไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดกันแน่? จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องมาดูที่องค์ประกอบอื่นๆ ที่ค้นพบร่วมกับกำยานและกัญชาจากแท่นบูชาทั้งสองแห่งครับ รายงานการตรวจสอบจากห้องทดลองระบุว่า แท่นบูชาฝั่งซ้ายมือที่มีหลักฐานของกำยานแสดงให้เห็นว่ากำยานถูกเผาโดยใช้ “ไขมันสัตว์” เป็นเชื้อไฟ ส่วนกัญชานั้นแตกต่างออกไป ด้วยว่าเชื้อไฟที่ใช้กลับกลายเป็น “มูลสัตว์” แทน หลักฐานนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยครับว่าชาวอิสราเอลโบราณจงใจ “เลือก” เชื้อไฟที่แตกต่างกันมาเผาเครื่องบูชา

การเลือกใช้ “ไขมันสัตว์” ช่วยทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นไปได้ถึง 260 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดที่กำยานจะเริ่มปลดปล่อยกลิ่นหอมของมันออกมา ส่วนการเลือกใช้ “มูลสัตว์” ในการเผากัญชาก็เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 150 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้กัญชาปลดปล่อยเปลวควันพร้อมคุณสมบัติของสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทออกมา แต่ถ้าเผาด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่านี้ ผลลัพธ์ก็จะมีเพียงแค่เขม่าดำเท่านั้นเองครับ

นั่นหมายความว่าชาวอิสราเอลโบราณทราบดีว่าจะ “พี้” กัญชาอย่างไร พวกเขาจึงจงใจเลือกใช้เชื้อไฟให้เหมาะสมเพื่อให้ควันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะนำพาพวกเขาเข้าใกล้กับพระเจ้าลอยออกมาจากแท่นบูชา ซึ่งการจงใจเลือกใช้กัญชาซึ่งไม่ใช่พืชพื้นถิ่นของอิสราเอล อีกทั้งยังมีราคาสูงในสมัยนั้นทำให้นักโบราณคดีตั้งสมมติฐานขึ้นมาอีกมากมาย และกัญชาก็คงจะไม่ได้ถูกเผาเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสุคนธบำบัด หรือการบำบัดรักษาด้วยกลิ่นเท่านั้นหรอกครับ เพราะในดินแดนของชาวอิสราเอลเองยังมีเครื่องหอมพื้นถิ่นที่สามารถนำมาใช้ได้อีกมากมาย แต่กัญชาต้องนำเข้ามาจากแดนไกล แสดงว่าภาครัฐของชาวอิสราเอลโบราณจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างแน่นอน

หลักฐานของเครื่องบูชาที่พบว่ามีส่วนประกอบของกัญชา.
หลักฐานของเครื่องบูชาที่พบว่ามีส่วนประกอบของกัญชา.

แต่ด้วยว่านักโบราณคดีไม่เคยค้นพบหลักฐานของการปลูกกัญชาในพื้นที่ของชาวอิสราเอลโบราณมาก่อนเลย อีกทั้งยังไม่เคยพบแม้กระทั่งเมล็ดหรือละอองเกสรของกัญชาจากดินแดนตะวันออกใกล้อิสราเอลโบราณด้วยเช่นกัน จึงมีการเสนอกันว่าแหล่งที่มาของกัญชาในอิสราเอลโบราณอาจจะมาจากพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศรัสเซียหรืออาจจะมาจากที่ราบสูงทิเบต (Tibetan Plateau) ผ่านเส้นทางการค้า นอกจากนั้นกัญชาที่ใช้ยังอาจมาในรูปแบบของ “ฮาชิช” (Hashish) หรือ “ยางไม้แห้ง” ที่ได้มาจากยอดช่อดอกของกัญชาซึ่งออกฤทธิ์แรงทีเดียวล่ะครับ

ในเมื่อเครื่องบูชาที่เคยจุดถวายแด่เทพเจ้าในวิหารเทล-อาราดใช้วัตถุดิบจากต่างถิ่นที่มีราคาแพง ดังนั้นวัตถุดิบเหล่านี้คงไม่สามารถเข้ามาถึงเทล-อาราดที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเยรูซาเล็มได้โดยที่พวกเขาไม่รู้ไม่เห็น นักโบราณคดีจึงตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่าทางเยรูซาเล็มเองนั่นล่ะครับที่เป็นคนจัดหากัญชาเข้ามาให้ใช้ จนมีคำถามต่อไปว่าถ้าเช่นนั้นวิหารในเยรูซาเล็มเองก็น่าจะต้องมีการเผากัญชาเพื่อให้ได้มาซึ่งควันอันศักดิ์สิทธิ์ให้พวกเขาได้สูดดมด้วยเหมือนกันน่ะสิ!?

นักโบราณคดียังไม่สามารถฟันธงคำตอบที่ชัดเจนได้ในเวลานี้หรอกครับ เพราะยังไม่มีการค้นพบหลักฐานแบบคาหนังคาเขาของการใช้กัญชาในวิหารแห่งโซโลมอนมาก่อนเลย และก็คงต้องเป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีที่จะออกตามหาคำตอบจากวิหารในอิสราเอลโบราณที่สร้างขึ้นในยุคสมัยใกล้เคียงวิหารแห่งเทล-อาราดและวิหารแห่งโซโลมอนกันต่อไป

ว่าแต่ ถ้าชาวอิสราเอลเคยใช้กัญชาในพิธีกรรมทางศาสนาจริงๆ แล้วล่ะก็ ทำไมพระคัมภีร์ไบเบิลจึงไม่กล่าวถึงไว้เลยล่ะ?

คำตอบแตกออกไปเป็นสองทางครับ ทางแรกคือไบเบิลได้กล่าวถึงกัญชาเอาไว้แล้ว เพียงแค่ว่านักภาษาศาสตร์ไม่ได้แปลคำศัพท์นั้นว่า “กัญชา” อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนอีกทางหนึ่งก็คือกัญชาอาจจะถูกใช้เพียงแค่ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อาจจะเลิกใช้งานไปก่อนที่พระคัมภีร์ไบเบิลจะถูกเรียบเรียงเขียนขึ้นก็เลยไม่ถูกใส่เข้าไปในเนื้อหาด้วยก็เท่านั้นเอง.


โดย : ณัฐพล เดชขจร
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน