หนึ่งในนครสำคัญของชาวมายาโบราณยุคคลาสสิก (Classic Period) ที่รุ่งเรืองอยู่ในประเทศเม็กซิโกระหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8 คือนคร “ปาเลงเก” (Palenque) อันเป็นที่ตั้งของพีระมิด, วิหารและอาคารนับร้อยแห่งที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ป่าฝนอันเขียวชอุ่มของรัฐเชียปัส (Chiapas)

นักมายันวิทยาเปรียบเปรยปาเลงเกประหนึ่ง “เพชรเม็ดงาม” แห่งอาณาจักรมายา ด้วยว่าผลงานสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างในนครแห่งนี้ ล้วนยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะผลงานที่กษัตริย์ผู้โด่งดังแห่งปาเลงเกที่ปกครองนครแห่งนี้อยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.615 ถึง ค.ศ.683 พระนามว่า “คอินิช ฮานาบ ปาคาล” (K’inich Janaab Pakal) ได้รังสรรค์เอาไว้อย่าง “วิหารแห่งคำจารึก” (Temple of Inscriptions) ซึ่งถูกใช้งานเป็นสุสานของพระองค์ก็มีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นทางด้านทิศตะวันตกติดกับวิหารแห่งคำจารึกยังมี สุสานอีกแห่งหนึ่งที่ใช้สำหรับฝังศพสตรีนิรนามที่นักมายันวิทยาเรียกขานกันว่า “ราชินีสีโลหิต” (Red Queen) อีกด้วย ว่าแต่สตรีลึกลับผู้นี้จะเป็นใคร และสุสานของนางจะน่าทึ่งขนาดไหน ขอเชิญแฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน มาร่วมแกะรอยสุสานบันลือโลกจากรัชสมัยของกษัตริย์ปาคาลมหาราชแห่งอาณาจักรมายาไปพร้อมๆกันเลยครับ

ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1949 นักโบราณคดีนามว่า “อัลเบอร์โต รูซ (Alberto Ruz)” ได้เข้าไป ทำการศึกษาอาคารที่เรียกว่า “วิหารแห่งคำจารึก” ซึ่งมีลักษณะคล้ายพีระมิดขั้นบันได 9 ขั้น เท่ากับจำนวน “ชั้น” ของยมโลกตามความเชื่อของชาวมายาโบราณ ชื่อของวิหารแห่งนี้มาจากอักษรภาพภาษามายาโบราณจำนวนมหาศาลที่สลักเสลาเอาไว้บนผนังห้องด้านบนสุดของพีระมิดทำให้นักมายันวิทยาเข้าใจได้ในทันทีว่าวิหารแห่งนี้รังสรรค์ขึ้นโดยกษัตริย์ปาคาลมหาราช

...

ฝาโลงศพสกัดจากหินอันงดงามวิจิตรของกษัตริย์ปาคาล.
ฝาโลงศพสกัดจากหินอันงดงามวิจิตรของกษัตริย์ปาคาล.

และเมื่อรูซขึ้นไปสำรวจห้องที่อัดแน่นไปด้วยอักษรภาพด้านบนวิหาร ก็พบว่าแผ่นหินที่ปูพื้นห้องนี้อยู่บางส่วนสามารถเปิดออกได้ ช่องเปิดนี้เผยให้เห็นโถงทางเดินพร้อมขั้นบันไดที่ทอดตัวลึกลงไปในตัวพีระมิดซึ่งนำพาไปยังห้องสำคัญที่สุดที่ยังคงถูกผนึกเอาไว้ตั้งแต่ครั้งอดีตกาล

13 มิถุนายน ค.ศ.1952 แสงจากไฟฉายได้ส่องผ่านเข้าไปในช่องที่ถูกเปิดออกเพื่อเข้าไปสำรวจเบื้องหลังของประตูหิน ภาพของห้องขนาดประมาณ 9×4 เมตร ที่มีโลงศพหินขนาดยักษ์วางอยู่เกือบเต็มพื้นที่ของห้องปรากฏแก่สายตาฝาโลงและตัวโลงศพที่สกัดจากหินปูนขนาดมหึมาได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อสายราชวงศ์ของกษัตริย์ปาคาลเอาไว้ เราได้เห็นภาพของบุคคลสำคัญแห่งปาเลงเกหลากหลายพระองค์ ตั้งแต่สตรี “โยล อิคนัล” (Yohl Ik’nal) ซึ่งมีศักดิ์เป็นย่าของกษัตริย์ปาคาลที่ปรากฏพระองค์ถึงสองครั้งสองคราบนโลงศพ รวมถึงภาพของบรรพกษัตริย์แห่งปาเลงเกพร้อมทั้งวันสิ้นพระชนม์ของทุกพระองค์ก็มีอยู่อย่างครบถ้วน ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้นักมายันวิทยาเข้าใจประวัติศาสตร์ของปาเลงเกในยุคแรกเริ่มได้ชัดเจนขึ้นอีกโข

เมื่อโลงศพถูกเปิดออก สิ่งที่ปรากฏอยู่ภายในถือได้ว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะทีมสำรวจของรูซได้พบกับร่างไร้วิญญาณของกษัตริย์ปาคาลที่ปกคลุมเอาไว้ด้วย “แร่ปรอท” หรือ “ซินนาบาร์” (Cinnabar) ที่มีชื่อทางเคมีว่า “เมอร์คิวริกซัลไฟด์” ทำให้โครงกระดูกของปาคาลกลายเป็นสีแดงชาด นอกจากนั้นยังมีเครื่องประดับทำจากหยกจำนวนมหาศาลกระจัดกระจายอยู่ภายในโลง นิ้วมือทุกนิ้วของปาคาลสวมใส่แหวนทำจากหยก และที่โดดเด่นที่สุดคือ “หน้ากากหยก” ที่ปิดคลุมใบหน้าของพระองค์เอาไว้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของช่างฝีมือแห่งนครปาเลงเกเลยก็ว่าได้ครับ

โมเดลจำลองใบหน้าราชินีสีโลหิต โดยใช้กะโหลกศีรษะเป็นต้นแบบ.
โมเดลจำลองใบหน้าราชินีสีโลหิต โดยใช้กะโหลกศีรษะเป็นต้นแบบ.

ในขณะที่วิหารแห่งคำจารึกอันเป็นสุสานของกษัตริย์ปาคาลอัดแน่นไปด้วยอักษรภาพมายาโบราณที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของนครปาเลงเกในรัชสมัยของกษัตริย์ปาคาลจนเกือบหมดเปลือก สุสานอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่เคียงกันกลับไร้ซึ่งอักษรภาพที่จะบอกเล่าเรื่องราวใดๆเกี่ยวกับเจ้าของสุสานแห่งนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่านักมายันวิทยาจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเจ้าของสุสานนิรนามคนนี้เสียเลยหรอกครับ อย่างน้อยเราก็ทราบว่านางเป็น “สตรี” และด้วยว่าสุสานของนางตั้งอยู่ติดกับวิหารแห่งคำจารึกของกษัตริย์ปาคาล นั่นย่อมหมายความว่าสตรีผู้นี้จะต้องเป็นบุคคลสำคัญในราชสำนักของนครปาเลงเกอย่างแน่นอน

...

สุสานของ “สตรีนิรนาม” ไม่ได้มีชื่อเรียกเฉพาะอย่างเช่นสุสานของกษัตริย์ปาคาลหรอกครับ นักมายันวิทยาเรียกสุสานแห่งนี้ด้วยตัวเลขว่า “วิหาร 13” (Temple XIII) วางตัวอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวิหารแห่งคำจารึก เชื่อมต่อกันด้วยแท่นยกพื้นทำจากหิน แต่ด้วยว่าแรกเริ่มเดิมทีอาคารแห่งนี้พังทลายลงไปมาก จึงทำให้นักมายันวิทยายุคแรกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

โครงกระดูกของราชินีสีโลหิตปกคลุมไปด้วยซินนาบาร์สีแดง.
โครงกระดูกของราชินีสีโลหิตปกคลุมไปด้วยซินนาบาร์สีแดง.

วิหาร 13 มีลักษณะคล้ายพีระมิดขั้นบันไดที่สร้างจากหิน ด้านบนสุดของพีระมิดเป็นห้องขนาดเล็กที่ในปัจจุบันพังทลายลงไปแล้ว เรื่องราวของการสำรวจวิหารแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1994 เมื่อนักโบราณคดีหญิงท่านหนึ่งชื่อแฟนนี โลเปซ จิเมเนซ (Fanny López Jiménez) ค้นพบรอยแตกเล็กๆ ด้านหน้าบันไดทางขึ้นไปยังด้านบนของวิหาร 13 เธอจึงได้ส่องไฟฉายเข้าไปในรอยแตกนั้น สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาคือวัชพืชที่อัดแน่นพร้อมด้วยกองหินที่เกะกะขวางทาง ทว่าเธอแน่ใจว่าเธอเห็น “โถงทางเดิน” ที่นำพาไปสู่ประตูบานหนึ่งซึ่งถูก “ปิดผนึก” เอาไว้เหมือนกับบรรยากาศเมื่อครั้งที่รูซค้นพบสุสานของกษัตริย์ปาคาลในช่วงปี ค.ศ. 1952 ไม่มีผิดเพี้ยน

...

จิเมเนซไม่รอช้า รีบรายงานนักมายันวิทยาที่ควบคุมดูแลการขุดค้นชื่อ “อาร์โนลโด กอนซาเลซ” (Arnoldo González) ทันที และเมื่อเขาเข้ามาสำรวจก็มั่นใจว่านี่จะต้องเป็นสุสานอีกแห่งหนึ่งของนครปาเลงเกเป็นแน่ ดังนั้น ถ้าจะรีบเร่งขุดค้นเจาะทะลวงเข้าไปก็คงไม่เหมาะกอนซาเลซจึงใช้เวลาราวหนึ่งสัปดาห์วางแผนขุดค้นให้เกิดความเสียหายกับวิหารแห่งนี้น้อยที่สุด เพราะถ้า “วิหาร 13” เกิดอัดแน่นไปด้วยอักษรภาพมายาโบราณที่จะบอกเล่าเรื่องราวของผู้วายชนม์ที่นอนหลับใหลอยู่ภายในแล้วล่ะก็ การขุดเจาะอย่างเร่งรีบอาจจะทำลายข้อความภายในสุสานจนทำให้ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกบอกเล่าต้องเสียหายไปอย่างไม่อาจกู้คืนก็เป็นได้

รูปสลักของกษัตริย์ปาคาล.
รูปสลักของกษัตริย์ปาคาล.

สุดท้ายแล้วทีมงานของกอนซาเลซก็หาทางเปิดช่องเข้าไปจนถึงด้านในของตัววิหารจนได้ครับ เขาพบว่าโครงสร้างภายในประกอบไปด้วยห้องสามห้อง สองห้องในนั้นว่างเปล่า ไม่หลงเหลือหลักฐานอะไรให้ศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นห้องที่เคยใช้ประกอบพิธีกรรมในอดีต ทว่าห้องสุดท้ายคือห้องที่ถูกปิดผนึกเอาไว้มาอย่างยาวนานถึง 1,300 ปี เมื่อเปิดเข้าไปสิ่งที่พวกเขาเห็นก็คือห้องขนาด 3.8x2.5 เมตร ที่มีโลงศพหินขนาดใหญ่วางอยู่ตรงกลาง กินพื้นที่เกือบเต็มห้อง บรรยากาศโดยรวมคล้ายคลึงกับห้องฝังศพของกษัตริย์ปาคาลในวิหารแห่งคำจารึกเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

...

ก่อนที่ทีมของกอนซาเลซจะเปิดโลงศพ พวกเขาค้นพบโครงกระดูกสองร่างนอนอยู่เคียงข้างโลงศพหินยักษ์ด้านละหนึ่งร่าง แน่นอนครับว่าทั้งคู่ถูก “บูชายัญ” ให้สิ้นชีพตามไปรับใช้ผู้วายชนม์ที่เป็นเจ้าของสุสาน ศพแรกเป็นเด็กชายอายุเพียงแค่ราว 10 ถึง 11 ขวบเท่านั้นเองครับ ศพของเด็กชายคนนี้อยู่ในท่านอนหงาย กะโหลกศีรษะผิดรูป นอกจากนั้นศีรษะของเด็กคนนี้ยังถูกตัดออกจากร่างอีกด้วย!! ส่วนโครงกระดูกอีกด้านหนึ่งของโลงศพเป็นของสตรีที่เสียชีวิตในท่านอนคว่ำ ประเมินอายุอยู่ในช่วงราว 30 ถึง 35 ปี และที่น่าสนใจก็คือกระดูกของเธอแสดงหลักฐานว่าก่อนสิ้นลม เธอน่าจะถูกของมีคมจ้วงแทงจนเกิดเป็นบาดแผลฉกรรจ์หลายแผลด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นนางยังถูกควักหัวใจออกจากร่างเพื่อนำไปเผาบูชาเทพเจ้าอีกด้วย!!

หน้ากากหยกของราชินีสีโลหิต.
หน้ากากหยกของราชินีสีโลหิต.

แต่ศพที่ถูกบูชายัญทั้งสองร่างก็ยังไม่สร้างความพิศวงได้เท่ากับร่างของเจ้าของสุสานที่หลับใหลอย่างสงบอยู่ภายในโลงศพหิน โชคดีครับที่ชาวมายาโบราณได้เจาะช่องขนาดเล็ก (Psychoduct) เอาไว้ ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นช่องทางให้ดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ได้ใช้ติดต่อกับโลกภายนอก ทีมของกอนซาเลซจึงนำเอากล้องส่องเข้าไปดูบรรยากาศภายในโลง และภาพแรกที่ปรากฏให้เห็นคือสรรพสิ่งทุกชนิดที่อยู่ในโลงล้วนปกคลุมไปด้วย “สีแดง” ทั้งโครงกระดูกเจ้าของสุสาน หน้ากากหยกที่ควรจะเป็นสีเขียว รวมถึงเครื่องประดับนานาชนิดที่ชาวมายาโบราณนำมาตกแต่งร่างกายของผู้วายชนม์ล้วนเป็นสีแดงชาดจาก “ซินนาบาร์” ไม่ต่างจากสุสานของปาคาลเลยล่ะครับ คำถามที่นักมายันวิทยาให้ความสนใจก็คือ ผู้ที่นอนหลับใหลอยู่ในโลงศพนี้คือใครกัน

ด้วยว่าวิหาร 13 ไม่ปรากฏข้อความหรือจารึกใดๆที่จะช่วยระบุตัวตนของบุคคลนี้ได้เลย นักมายันวิทยาจึงจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีอื่นๆเข้ามาช่วยตามหาคำตอบแทน ซึ่งข้อมูลจากกระดูกเชิงกราน เครื่องประดับและตำแหน่งของวิหาร 13 ทำให้นักมายันวิทยาตีความได้ว่าร่างไร้วิญญาณในโลงศพเป็น “สตรี” ที่มีความสำคัญ อย่างยิ่งยวดในราชสำนักของปาเลงเก นักมายันวิทยามีสตรีในใจอยู่ 3 นางด้วยกัน คนแรกคือ “โยล อิคนัล” ซึ่งเป็น “ย่า” ของปาคาล คนที่สองคือราชินี “ซัค คุค” (Sak K’uk’) มารดาแท้ๆของปาคาล ส่วนคนสุดท้ายคือ “ทซัคบู อเฮา” (Tz'akbu Ajaw) ราชินีคู่บัลลังก์ของกษัตริย์ปาคาล แต่ในเมื่อยังระบุไม่ได้ว่านางคือใคร ประกอบกับร่างกายของนางปกคลุมไปด้วยซินนาบาร์ ที่ชาวมายาโบราณจงใจนำมาทาเอาไว้ เพื่อสื่อความหมายถึง “เลือด” หรือ “แสงอาทิตย์” ทำให้นักมายันวิทยาตัดสินใจตั้งชื่อให้เธอว่า “ราชินีสีโลหิต”

วิหาร 13 สุสานของราชินีสีโลหิตแห่งปาเลงเก.
วิหาร 13 สุสานของราชินีสีโลหิตแห่งปาเลงเก.

หลังจากนั้นนักมายันวิทยาได้เลือกเทคนิควิธีทางวิทยาศาสตร์สามวิธีหลักๆเข้ามาช่วยในการระบุตัวตนว่า “ราชินีสีโลหิต” ควรจะเป็นใครกันแน่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ถือว่าน่าทึ่งทีเดียวล่ะครับ

วิธีแรกที่นักมายันวิทยาใช้คือการตรวจหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 (C-14)จากโครงกระดูก แต่ด้วยว่าโครงกระดูกของราชินีสีโลหิตปนเปื้อนจากซินนาบาร์ ทำให้ผลการตรวจสอบอายุมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้สูง โชคดีครับที่เหยื่อบูชายัญสองร่างที่นอนอยู่ด้านนอกของโลงศพไม่ได้รับการปนเปื้อนไปด้วย ผลการตรวจสอบอายุระบุว่าโครงกระดูกของเด็กชายน่าจะถูกฝังในช่วงระหว่างปี ค.ศ.540 ถึง ค.ศ.660 ส่วนโครงกระดูกของสตรีระบุช่วงเวลาได้ระหว่างปี ค.ศ.650 ถึง ค.ศ.780 ช่วงเวลาที่ซ้อนทับกันทำให้มีความเป็นไปได้ว่าราชินีสีโลหิต น่าจะถูกฝังในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 7 ส่งผลให้ “โยล อิคนัล” ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ปี ค.ศ.604 ไม่น่าจะเป็นราชินีสีโลหิตได้อีกแล้ว

วิธีที่สองที่นักมายันวิทยาใช้คือการตรวจสอบดีเอ็นเอ (DNA) จากโครงกระดูกของราชินีสีโลหิต ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาระบุว่าราชินีผู้นี้ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับกษัตริย์ปาคาล ทำให้ “ซัค คุค” ซึ่งเป็นมารดาแท้ๆ ถูกตัดออกไปอีกเช่นกัน ส่วนวิธีสุดท้ายคือวิธีการจำลองใบหน้าจากกะโหลกเทียบกับใบหน้าของสตรีทั้งสามจากศิลปะมายาโบราณ ซึ่งผลปรากฏออกมาว่ากะโหลกของสตรีสีโลหิตมีความคล้ายคลึงกับ “ทซัคบู อเฮา” มเหสีของกษัตริย์ปาคาลเป็นอย่างยิ่ง

วิหารแห่งคำจารึก (กลาง)
วิหารแห่งคำจารึก (กลาง)

สุดท้ายราชินีสีโลหิตที่ถูกฝังอยู่ภายใต้ “วิหาร 13” จะเป็นราชินี “ทซัคบู อเฮา” หรือไม่ ยังไม่มีนักมายันวิทยาคนใดสามารถฟันธงได้ในเวลานี้หรอกครับ ตราบเท่าที่ยังไม่มีผลตรวจดีเอ็นเอ จากบุตรชายของนางมายืนยัน “ราชินี สีโลหิต” ก็จะยังคงเป็นสตรีปริศนาแห่งปาเลงเกเช่นนี้ต่อไป.


โดย : นนทพัทธ์
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน