ปกตินักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ มาประเทศไทยกันบ้างอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้ “มาซ้ำ” “อยู่นาน” “บอกต่อ” และ “ยั่งยืน” การท่องเที่ยวไทยยุคหลังโควิด-19 จึงกำลังตื่นตัวกันกับเรื่องนี้

ล่าสุด ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยข้อมูลสำคัญออกมา นักการตลาด นักวางกลยุทธ์ ภาครัฐ และผู้ประกอบการ จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ถ้าเห็นภาพใหญ่ร่วมกันว่า ตลาดกลุ่มนี้ ช้าไม่ได้ และหลายประเทศนำร่องไปนานนับสิบปีแล้ว

การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ: กรณีศึกษานักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ (Policy recommendation development for promoting LGBT tourism market: A case study of Gay tourists) มี ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี จากห้างหุ้นส่วนจำกัด เดอะ ทีซิส ดำเนินการวิจัย “เชิงคุณภาพ” และมีผู้สนับสนุนคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ถ้าใครอยู่วงการท่องเที่ยวและตามติดเรื่องตลาดกลุ่มนี้ (งานวิจัยเน้นเฉพาะ กลุ่มชายรักชาย) จะพอรู้เป็นเลาๆ ว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไม่ได้ล้าหลังประเทศอื่น และมีเครื่องไม้เครื่องมือจับตลาดนี้อยู่บ้าง เช่น เว็บไซต์ Go Thai, Be Free 

รวมถึง เคยยิงแคมเปญโฆษณาเจาะตลาดกลุ่มนักเที่ยวผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนไทยไม่ค่อยได้เห็นเท่าไหร่เพราะเป้าหมายคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ และททท. ก็เคยเป็นผู้จัดร่วม การประชุมเชิงวิชาการด้านตลาดนี้มาแล้วที่กรุงเทพฯ

แต่ในภาพรวม ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าไหร่ และขาดความต่อเนื่อง ถ้าจะจับตลาดกลุ่มนี้ “จริงจัง” บอกได้เลยว่า “ต้องออกแรง” กว่านี้ งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะช่วยวางแนวทางนโยบายและกำหนดเป็นหลักปฏิบัติ ในหลายๆ ด้านเลยล่ะครับ หลักๆ คือ

...

กฎหมายยังไม่ไปถึงไหน แต่ไม่ต้องรอ 

งานวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสำคัญต่อเรื่องกฎหมายที่สนับสนุนความเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน แต่น่าเสียดาย ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย LGBT แต่งงานได้ ไม่มีกฎหมายเรื่องการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม และอื่นๆ ขณะที่หลายประเทศในโซนยุโรปและอเมริกา ก้าวหน้าไปไกลแล้ว

ใครมีเพื่อนต่างชาติที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับ “Team Thailand” มักจะคิดไปเองว่า ประเทศนี้ เกย์แต่งงานกับเกย์ได้แล้ว ผู้หญิงแต่งงานกับผู้หญิงได้แล้ว พอตอบไปว่า ยัง ยัง ยัง ยังไม่มีกฎหมาย พวกเขาจะทำหน้างงมาก เพราะในสายตาต่างชาติ ประเทศไทยก็เป็นที่รับรู้ในหมู่นักท่องเที่ยวว่า เป็น Gay Paradise

งานวิจัยแนะนำว่า แม้กฎหมายยังไม่มา (และจะมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้) “Thailand” สามารถสื่อสารออกไปว่า ประเทศเราสนับสนุนเรื่องนี้ และกำลังดำเนินการอย่างแข็งขัน เท่านี้ก็ได้ใจนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

ปัจจัยทางด้านนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเป็นมิตรกับกลุ่มเกย์จะสามารถช่วยร่นระยะเวลาในการตัดสินใจเลือกเดินทางนั้นสั้นลง และเพิ่มระยะเวลาในการท่องเที่ยวในประเทศมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นการตัดสินใจกลับมาเที่ยวซ้ำด้วย…

“การมีกฎหมายต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการใช้สิทธิอย่างเท่าเทียมกันของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์จะได้รับการดูแลภายใต้บริบทเดียวกันอย่างเท่าเทียมหรือดีกว่า

การแก้ไขกฎหมายหรือการส่งเสริมกฎหมายสิทธิพลเมือง เช่น กฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ (Antidiscrimination Legislation) และกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศต่อกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender Rights) ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์สำคัญของความเป็นมิตรกับกลุ่มเกย์ในประเทศนั้นเป็นนโยบายที่ต้องอาศัยการวางแผนมาตรการระยะยาวที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจร่วมช่วยกันผลักดัน”

ผู้ประกอบการต้องพร้อม เข้าใจ “Gender Sensitivity”

นักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ “มีความคาดหวัง” ว่า ที่พัก พนักงาน เจ้าหน้าที่จะเข้าใจ “บริบท” ของการเป็นเกย์ของเขาในด้านต่างๆ การใช้คำนำหน้าชื่อให้ถูก การปฏิบัติต่อคู่ที่แต่งงานแล้ว ก็ต่างจากกับเกย์โสด คำแนะนำของคณะวิจัย ยังเน้นด้วยว่า ควรมีการอบรม และสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ในหมู่คนทำงานด้านการท่องเที่ยว และควรมี “มาตรฐาน”

และมีประเด็นน่าสนใจอีกประเด็นคือ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ต้องการรับสิทธิพิเศษอะไรให้รู้สึกว่า ตัวเอง “แปลกแยก” หรือ “แตกต่าง”

ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์…กรณีศึกษานักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์พบว่า นักท่องเที่ยวไม่พอใจกับการบริการของผู้ประกอบการในการสื่อสารประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ดังนี้

(1) ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและพนักงานบริการขาดความละเอียดอ่อนในประเด็นเพศสถานะ (Gender Sensitivity) โดยเฉพาะเรื่องการเรียกคำนำหน้าตามเพศกำเนิดแทนการเรียกชื่อของลูกค้า

...

(2) การให้สิทธิประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์มากเกินความจำเป็น เช่น การลดราคาแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ สร้างความเป็นอื่นให้นักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์รู้สึกแตกต่างจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น

การขาดความรู้ความใจที่ถูกต้องนี้ ทำให้เกิดการมุ่งจุดเน้นเพื่อสร้างความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ที่คลาดเคลื่อนไป เช่น การพยายามมากไปที่จะสร้างการส่งเสริมการขายให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ ซึ่งไม่ได้ช่วยกระตุ้นความต้องการจ่ายแต่เป็นการสร้างความอึดอัดให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์บางกลุ่มอีกด้วย

สร้างความแข็งแรง ต้องจัดอีเวนต์ และเน้นความสม่ำเสมอ

เป็นที่รู้กันว่า ประเทศไทยมี Gay Parade อยู่ตามเมืองท่องเที่ยวหลัก คือ เชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต (กรุงเทพฯ เลิกจัดไปนานแล้ว) แต่ในพื้นที่ดังกล่าวนั้น การจัดงานก็ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย เป็นงานที่ต่างคนต่างจัด และกำหนดวันกันไปตามความสะดวกของผู้จัด

นอกจากนี้ คณะวิจัยยังแนะนำว่า หน่วยงานภาครัฐควรร่วมมือกันรับเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาด้านการท่องเที่ยวระดับนานาชาติที่มีการจัดอยู่แล้วทุกปี เพื่อขยายการรับรู้ของประชาคม LGBT ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

ขอเสนอให้ประเทศไทยภายใต้การดำเนินการของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “The IGLTA Annual Global Convention” เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์การท่องเที่ยวกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของโลกขององค์กร The International Gay & Lesbian Association: IGLTA

...

โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดประชุม คือ ช่วงเวลานอกฤดูการท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้แก่ เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยดึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมายังประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กำลังเติบโต และงานวิจัยยังบอกทั้งด้านลบ และด้านบวกด้วย

ผลกระทบทางบวกของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ประเทศไทยต่อสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ พบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์สร้างผลกระทบทางบวกที่ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

เมื่อรวมกับสินค้าการท่องเที่ยวที่ภาคเอกชนมีความเข้าใจตลาด มีการเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ในการส่งเสริมตลาดยังมีแง่มุมที่ละเอียดอ่อน และต้องมีการเตรียมพร้อมให้มั่น เพื่อทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเปิดกว้างอย่างแท้จริง

ขณะที่ไม่พบผลกระทบทางลบทางด้านเศรษฐกิจจากการเข้ามาในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์โดยเฉพาะ ซึ่งในประเทศไทยไม่พบผลกระทบเชิงลบจากการเลือกท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ในปัจจุบัน พบแต่ข้อกังวลของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมในประเด็นเรื่องของยาเสพติด และการมั่วสุม ในเทศกาลท่องเที่ยว เช่น Full moon Party เป็นต้น

...

การมีกฎหมายต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการใช้สิทธิอย่างเท่าเทียมกันของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์จะได้รับการดูแลภายใต้บริบทเดียวกันอย่างเท่าเทียมหรือดีกว่า

งานวิจัยยังมีไอเดียเจ๋งๆ และข้อมูลสนับสนุนเพี่อการตัดสินใจอีกหลายประเด็น หากต้องการรายงานสรุป ติดต่อ ทางอีเมลนี้ได้ ครับ vitayamail@gmail.com

@ @ @ @

เกี่ยวกับนักเขียน  : วิทยา แสงอรุณ เป็นประธาน LGBT SMEs and Professionals Thailand เป็นอาจารย์พิเศษ Thammasat Business School