“ผมรวยมานานแล้วครับ เป็นคนไม่มีหนี้ หาเงินได้เท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น หาเท่าไหร่พอใช้เรียกว่ารวย แต่หาเท่าไหร่ไม่พอใช้คือจน วันที่บริษัทมียอดขายถึงร้อยล้านเมื่อ 15 ปีก่อน ก็เลิกดิ้นรนแล้ว ไม่อยากเครียดครับ ขออยู่แบบพอเพียงดีกว่า ผมมาไกลเกินฝันมาก ฝันไว้แค่อยากทำแบรนด์เล็กๆของตัวเอง สามารถเลี้ยงตัวเองเลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงลูกน้อง ในชีวิตไม่เคยหน้าใหญ่ไม่ชอบเว่อร์ ประเภทต้องเปิดช็อปทุกมอลล์มีสาขาทั่วโลกไม่ใช่เรา กับลูกน้องก็ไม่เคยตั้งเป้ายอดขาย ที่สำคัญทำธุรกิจไม่ขอมีหุ้นส่วน มันปวดหัวไม่เลิก ผมขออยู่แบบเครียดน้อยๆ พอเป้าหมายไม่ใช่เงิน ชีวิตก็ทำงานง่าย มีความสุขง่าย เราทำทุกอย่างด้วยความสบายใจ ผมถือคติเวลาคบใคร อย่าไปเอาผิดเอาถูกซะทุกอย่าง ถ้านับบาทนับสลึงอย่ามีรีเลชันชิปกันเลย บางวันเราเอาเปรียบเขา บางวันเขาก็เอาเปรียบเรา”...รับพลังบวกมาเต็มๆเหมือนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ เมื่อได้คุยกับ “โอ๋–ฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์” เอ็มดีหัวใจละมุน ผู้ก่อตั้งแบรนด์ THANN ปลุกปั้นจากเอสเอ็มอีเล็กๆ จนผงาดเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์สปาจากธรรมชาติอันดับหนึ่ง สร้างรายได้ให้ประเทศปีละนับพันล้านบาท

วิศวกรหนุ่มจากรั้วจุฬาฯข้ามห้วยมาอยู่วงการความหอมฟุ้งได้อย่างไร

ผมจบวิศวะ จุฬาฯ สาขาอุตสาหการ ตามสายต้องไปเป็นผู้จัดการโรงงาน แต่เรียนไปสักพักค้นพบว่าคงเรียนผิดทาง เราชอบการคิดอย่างเป็นระบบแบบวิศวะ แต่สิ่งที่ขาดคือการได้ปล่อยของในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และดีไซน์ เพิ่งรู้ตัวว่าสิ่งที่เราชอบคือ แอดเวอร์ไทซิ่งและมาร์เกตติ้ง เลยไปลงเรียนเพิ่ม พอจบปริญญาตรีก็สมัครงานด้านการตลาด ไม่เคยทำงานเป็นวิศวกร ผมเริ่มจากการทำงานกับบริษัทเซเรบอส ทำได้ 3-4 ปี ลาไปเรียนต่อเอ็มบีเอที่ออสเตรเลีย หลังเรียนจบก็ทำงานบริษัทฟู้ดเจ้าใหญ่ของออสเตรเลีย พอเราอยู่วงการฟู้ดทำให้ได้ฝึกเรื่องเซ้นส์การรับรู้สัมผัส ด้วยความที่อยู่ออสเตรเลียหลายปี เลยได้ซึมซับว่าคนออสเตรเลียชอบอยู่กับธรรมชาติ ไม่ชอบแบรนด์เว่อร์ๆ ทุกเสาร์อาทิตย์ผมชอบเดินตลาดรอบๆโอเปร่าเฮาส์ เมืองซิดนีย์ ก็เห็นคนกวนสบู่ขาย เอาเกลือมาทำซอลท์สครับ และมีร้านเนเชอรัลช็อปอยู่เยอะ เลยเกิดแรงบันดาลใจ

...

ภาพฝันในจินตนาการกับความเป็นจริงใกล้เคียงกันไหม

ผมคิดไว้ตั้งแต่เด็กว่า 10 ปีแรกจะทำงานเป็นโปรเฟสชันแนล แต่พออายุ 30 อยากมีธุรกิจของตัวเอง เราเป็นคนซนๆชอบคิดชอบทำอะไรตลอดเวลา การได้คิดแบรนด์เองมันสนุกกว่าการซื้อแบรนด์คนอื่นมาทำตามไบเบิล พอเจอสิ่งที่อยากทำผมกลับไปเขียนบิสซิเนสแพลนทันที ฝรั่งยังเอาน้ำมันโอลีฟและของในครัวมาทำได้ เมืองไทยก็มีน้ำมันรำข้าวและสมุนไพรดีๆเยอะ ขิงข่า ตะไคร้ ขมิ้นนำมาใช้ได้หมด อันนี้คือภาพในจินตนาการ แต่เมื่อกลับเมืองไทยพบว่า คนไทยยุคนั้นยังไม่คุ้นกับอโรมาเธอราปี และไม่มีแบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากธรรมชาติ มีแต่โรงงานรับจ้างผลิตให้คนอื่น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ฝั่งดีมานด์เรายังไม่ชัดเจน แต่ฝั่งซัพพลายเราทำมานานแล้ว เมืองไทยเป็นโรงงานของโลกในการสกัดน้ำมันหอมระเหยส่งออก ผมจึงตัดสินใจเขียนบิสซิเนสแพลนส่งออกไปขายต่างประเทศก่อน โดยมุ่งไปที่ญี่ปุ่น, ยุโรป และอเมริกา แล้วค่อยกลับมาทำตลาดในไทย จำได้ว่าในโบรชัวร์ต้องอธิบายว่าอโรมาเธอราปีคืออะไร คนไทยไม่รู้จักว่ากลิ่นบำบัดคืออะไร น้ำมันหอมระเหยคืออะไร คนงงว่าสบู่บ้าอะไรก้อนละ 85 บาท ถูกสุดตอนนั้น ตะไคร้กิโลละ 2,500 บาท สกัด 8 ชั่วโมง ได้น้ำมันหอมระเหย 6-8 ซีซี ส่วนกุหลาบและมะลิ ราคากิโลละแสนกว่าบาท

กวนครีมกวนสบู่ขายเองไม่น่าง่าย ล้มลุก คลุกคลานขนาดไหนกว่าจะตั้งหลักได้

ปีแรกเข้าไปหานายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางแห่งประเทศไทยช่วยพัฒนาสินค้า ใช้เวลาคิดโปรดักส์ 5 เดือน ตอนนั้นกลับจากออสเตรเลียเดือนพฤศจิกายน ปี 2544 อยากไปเปิดตัวในงานเทรด BIG ของกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งจัดเดือนเมษายน ปี 2545 จึงต้องเร่งมือทำทุกอย่างให้ทัน ลงทุน 500,000 บาท ได้ม็อกอัปมา 3 กลิ่น 7 ผลิตภัณฑ์ สั่งทำแค่ตัวอย่างกลิ่นละโหล มีกลิ่น “อโรมาติกวูด” สดชื่นเหมือนเดินในป่า, “โอเรียนทัล เอสเซนส์” เป็นกลิ่นตะไคร้ผสมมะกรูด และ “ซีโฟม” ให้ความเย็นสดชื่น สองกลิ่นแรกยังขายดีจนถึงวันนี้ ตอนนั้นเปิดบูธเอง พนักงานมีคนเดียวคือผมนี่แหละ วันแรกที่ออกบูธมีผู้หญิงต่างชาติสวยมากมาดูสินค้า รู้ตอนหลังว่าคือ “ฟาราห์ ข่าน” นักธุรกิจไฮโซชื่อดังของมาเลเซีย เธอติดต่อไปวางขายที่บูติกแฟชั่นในมาเลเซีย ผมยังได้ออเดอร์รับจ้างผลิตจากไต้หวัน พอสินค้าขายได้เริ่มมีกำลังใจไปเปิดช็อปแรกที่ห้างฯรอยัล การ์เด้น พลาซ่า พัทยา จากนั้นบุกเบิกแผนกบาธแอนด์อโรมาเธอราปีให้เซ็นทรัล ชิดลม และเข้าไปอยู่ในโซนเอ็กซ์โซติกไทยของเอ็มโพเรียม ยุคนั้นขายในเมืองไทยได้เดือนละล้านก็กรี๊ดแล้ว เพราะรายได้ 80% มาจากการส่งออก

...

กุญแจความสำเร็จของ THANN อยู่ตรงไหน

เราไม่เคยมีโรงงานเป็นของตัวเอง แต่จะเจาะว่าใครทำอะไรเก่ง เช่น โรงงานนี้เก่งเจลอาบน้ำเก่งโลชั่น หรือเก่งครีมกันแดด ก็ไปจ้างผลิต ผมรู้สึกว่าประเทศไทยมีโรงงานเยอะและเก่งระดับโลกอยู่แล้ว เราไม่ต้องมาปวดหัวเอง ยกเว้นสินค้าเกี่ยวกับใบหน้า เราจ้างโรงงานฝรั่งเศสผลิต เพราะเชี่ยวชาญกว่า หลายคนถามว่าไม่กลัวโดนก๊อปสูตรเหรอ บอกเลยว่าไม่กลัว เพราะเรามีทีมอาร์แอนด์ดีเบลนด์หัวเชื้อน้ำหอมเอง แล้วส่งไปให้โรงงานต่างๆผลิตเป็นสินค้าอีกที ธัญยังเป็นแบรนด์ไม่หยุดนิ่ง เราออกโปรดักส์ใหม่ปีละ 10 ตัว เพื่อสร้างความน่าสนใจให้แบรนด์ สินค้าหลายตัวเกิดจากความต้องการและคำแนะนำของผู้บริโภค การฟังลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เรายังเป็นคนเปิดมิติใหม่สร้างเทรนด์ดีไซเนอร์สปาในเมืองไทย

...

ค้นหาดีเอ็นเอตัวเองเจอได้อย่างไร เพื่อสร้างเอกลักษณ์ต่างจากคนอื่น

แบรนด์ธัญใช้อินโนเวชันเยอะ กลิ่นของเราจะก๊อปยังไงก็ไม่เหมือน เพราะในขวดหนึ่งมีส่วนผสมเยอะ ข้างขวดอาจเขียนว่าใส่ตะไคร้ แต่คุณไม่รู้หรอกว่ามีตะไคร้อินเดีย เวลาไปมิกซ์เราก็มิกซ์ในอีกโรงงานหนึ่ง เท็กซ์เจอร์ออกมาไม่เหมือนกันแล้ว จุดสำคัญยังอยู่ที่แบรนด์โพซิชันนิง, ดีไซน์ และดิสทริบิวชันชาแนล สมัยนั้นทุกคนทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวออกมาผู้หญิงๆ ทั้งที่ประชากรผู้ชายมีครึ่งค่อนโลก เราเลยโพซิชันนิงเป็นแบรนด์เท่ๆเรียบโก้, ไม่ฟุ้งฟิ้ง, มีความโมเดิร์น และยูนิเซ็กซ์ ที่สำคัญต้องมีจิตวิญญาณความเป็นไทย ซึ่งเป็นสิ่งน่าภูมิใจ เราเป็นแบรนด์ไทยที่มีอินโนเวชันสูง, ใช้อินกริเดียนจากเอเชียเป็นหลัก และมีนวัตกรรมทางการแพทย์การันตีคุณภาพ ที่สำคัญคือโลเกชัน ต้องแวดล้อมด้วยกู้ดดีไซน์ไฮควอลิตี้ แล้วมันจะดึงผู้บริโภคที่ใช่มาหาเรา

ผลิตภัณฑ์ตัวไหนเป็นฮีโร่โปรดักส์สร้างชื่อให้ THANN

กลิ่นอโรมาติกวูดขวดสีแดง ยังป๊อปปูลาร์ถึงวันนี้ ยิ่งโด่งดังมากๆตอนที่โรงแรมในเครือแมริออททั้ง 3 ทวีป คือ อเมริกาเหนือ, ละตินอเมริกา และเอเชีย-แปซิฟิก ใช้สินค้าเราใส่ในห้องพักแขกทุกห้อง เรายังเป็นแบรนด์แรกในโลกที่เอาสารสกัดจากใบชิโซะทำเฟเชียลโปรดักส์ ส่วนสินค้าขายดีติดท็อปเทนของฝากไทยคือ ครีมกันแดด SPF 30 จากสารสกัดใบชิโซะ จนต้องจำกัดให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อได้คนละ 3 หลอดต่อพาสปอร์ต

...

ความเป็นไทยมีเสน่ห์โดดเด่นอย่างไรในสายตาชาวโลก

เมืองไทยของเราอุดมสมบูรณ์มาก ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ดินเราดีเหมาะกับการปลูกพืชพรรณสมุนไพร ถ้าเราปลูกแล้วมาอยู่ในจานกับข้าวก็ไม่ได้ราคา และเน่าเสียเร็ว เช่น “ตะไคร้” ทำกับข้าวขายได้กิโลละ 5-10 บาท แต่ถ้าเอามาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้กิโลละหลายพันบาท ส่วน “เกสรบัว” กิโลหนึ่งเป็นหมื่นบาท เสียดาย “มะลิ” ต้องนำเข้าจากอินเดีย จะสกัดน้ำมันหอมระเหยหนึ่งกิโลต้องใช้มะลิถึง 6 ล้านดอก แต่คุ้มมากขายได้กิโลละ 6,000 ยูเอสดอลลาร์ พวกเราชอบปลูกอะไรตามๆกันแล้วไม่ได้ราคา ที่จริงผลิตภัณฑ์ธรรมชาติยังไปได้อีกไกล กินมาร์เกตแชร์กลุ่มเคมิคอลมากขึ้นเรื่อยๆ ปีหนึ่งเรามีนักท่องเที่ยว 30-40 ล้านคน คิดดูว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศขนาดไหน ฉะนั้น ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมทำน้ำมันหอมระเหย ปลูกกุหลาบก็ได้ราคาดีมาก ขายกันกิโลละสองแสนกว่าบาท ทุกวันนี้เราต้องนำเข้าจากยุโรปตะวันออกและฝรั่งเศส

ชีวิตนี้เจอวิกฤติครั้งไหนหนักที่สุด เอาตัวรอดมาได้อย่างไร

ยุคโควิด-19 นี่แหละหนักที่สุด เพราะร้านปิดหมด และนักท่องเที่ยวหายหมด แต่เราก็เจอโอกาสใหม่นะครับ ได้สนุกกับการทำดิจิทัลมาร์เกตติ้งและออนไลน์เซล ถ้าลูกค้ายังอาบน้ำทาครีม เราก็มีเหตุผลที่จะขายของอยู่ เพียงแต่ลูกค้าอาจลืมเรา เพราะไม่สามารถมาเดินห้างฯ เราก็ต้องแอ็กทีฟมากขึ้น ปรากฏว่าขายดีมากยอดพุ่งครับ แต่ถามว่าชดเชยรายได้ทั้งหมดไหม ก็คงไม่ได้หรอก เพราะลูกค้าเราเป็นนักท่องเที่ยว 70% เรายังเซตทีมดิจิทัลมาร์เกตติ้งเป็นของตัวเอง เลิกจ้างดิจิทัลเอเจนซีนอก ทำเองวันเดียวได้ 4 แคมเปญ ฟีดแบ็กหนึ่งที่ดีมากคือ เราได้ออเดอร์จากสายการบิน SAS ผลิตเจลแอลกอฮอล์กลิ่นชิโซะ 300,000 ชิ้น แจกผู้โดยสาร

โลกยุคใหม่หลังจบวิกฤติโควิด–19 จะพลิกโฉมตีลังกาไปขนาดไหน

บทเรียนที่ได้จากยุคโควิด-19 คือ ความเก่งก็ไม่เท่าสายป่านยาวถึงจะอยู่รอดได้ การทำธุรกิจยุคหน้าต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงในองค์กรต้องเร็วกว่านอกองค์กร ต้องอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆเสมอ และพัฒนาตัวเองทุกมิติ ผมเพิ่งลงทุนหลายร้อยล้านเปิด “THANN WELLNESS DESTINATION” ที่อยุธยา เพื่อให้เราได้ใกล้ชิดกับลูกค้าของธัญมากขึ้น ต่อไปเราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวลเนสของเอเชีย ไม่ใช่แค่เจ้าของแบรนด์บำรุงผิวจากธรรมชาติ และอยากให้ธัญเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจทุกคน.

ทีมข่าวหน้าสตรี