แม้ว่าสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งธนาคาร และ Non-Bank จะดำเนินการพักชำระหนี้ หรือผ่อนผันตามมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยมาบ้างแล้ว แต่ถ้าหากไตรมาส 2 โควิด-19 ยังเป็นสาเหตุให้การเงินของทุกคนติดขัดอยู่อย่างนี้ ใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นหนี้มากที่สุดในช่วงโควิด-19
คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ได้ระบุชัดเจนถึงกลุ่มคน 4 ช่วงอายุ ที่มีสัญญาสินเชื่ออยู่แตกต่างกัน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 อายุ 38 ปี มีสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด
ผู้ที่อายุ 38 ปีที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ และมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท หรือลูกจ้างประจำ หากถูกให้ออกจากงานช่วงโควิดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะจะไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ แม้ว่าจะได้รับการผ่อนผันให้ยืดหนี้ออกไปได้ 3-6 เดือน แต่หากยังไม่มีรายได้ในระยะยาว มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง แก้ไขได้โดยยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้
กลุ่มที่ 2 อายุ 30 ปี มีสินเชื่อรถยนต์มากที่สุด
...
ในกลุ่มผู้ที่มีสินเชื่อรถยนต์ ในไตรมาสแรกของปี 2563 ยังเป็นผู้ที่มีอายุน้อย หากผิดนัดชำระหนี้ 180 วัน ทางเจ้าหนี้ก็จะยึดรถไปก่อนที่จะมีประวัติผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นในฐานข้อมูลเครดิตบูโร เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มรู้ตัวว่าจะผ่อนไม่ไหว ให้รีบติดต่อกับไฟแนนซ์
กลุ่มที่ 3 อายุ 40 ปี มีสินเชื่อบ้านมากที่สุด
กลุ่มผู้ที่มีสินเชื่อบ้านเป็นผู้ที่อายุ 40 ปีมากที่สุด ทางสถาบันการเงินมีวิธีการช่วยเหลือตามมาตรการผ่อนผันที่ประกาศออกมาแล้วไปจนถึงปี 2564 และคาดว่าจะดำเนินการช่วยเหลือหากโควิด-19 ยังไม่คลายการระบาด แต่การยื่นขอสินเชื่อบ้านใหม่นั้นอาจจะมีความเข้มงวดมากขึ้น
กลุ่มที่ 4 อายุ 40 ปี มีสินเชื่อบัตรเครดิตมากที่สุด
ปัจจุบันมีวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นอันดับ 2 รองจากสินเชื่อส่วนบุคคล และคนที่มีสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่กับตัวมากที่สุด ยังคงเป็นผู้ที่มีอายุ 40 ปี แต่สินเชื่อบัตรเครดิตก็อยู่ในความช่วยเหลือผ่อนผันการชำระขั้นต่ำถึงปี 2564 จึงควรส่งตามขั้นต่ำเพื่อไม่ให้มีประวัติค้างชำระหนี้
คนกลุ่มไหนเป็น หนี้เสีย หรือ NPL มากที่สุด
ถ้าคุณมีบัตรเครดิต มีสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถอยู่ และยังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ยังถือว่าสถานะทางเครดิตยังดีอยู่ แต่หากผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขของแต่ละสัญญา จนเกิดเป็นประวัติค้างชำระ จะถือว่าคือหนี้เสีย
เมื่อเทียบตามกลุ่มอายุแล้ว Gen Y และ Gen X มีจำนวนหนี้เสียเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน โดยอันดับ 1 คือ หนี้บัตรเครดิต อันดับ 2 คือ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล อันดับ 3 คือ หนี้สินเชื่อรถยนต์ และอันดับ 4 คือ หนี้บ้าน
สรุปคือ เมื่อเริ่มมีภาระหนี้ที่ผ่อนส่งต่อไม่ไหว ลูกหนี้ในกลุ่มแรกจะไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิตก่อนเป็นอย่างแรก รองลงมาคือ สินเชื่อส่วนบุคคล และหากภาระหนี้หนักมาก ก็อาจปล่อยให้ถูกยึดรถและบ้าน
โครงการเยียวยาภาครัฐ ช่วยเหลือการเงินประชาชนอย่างไรบ้าง
ประโยชน์ของโครงการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานรัฐต่อสภาวะการเงินของประชาชน เพื่อยืดระยะเวลาให้ประชาชนมีเงินมาใช้จ่ายในระยะเวลา 3 เดือน และป้องกันการเกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น มาดูกันว่าตั้งแต่มีโควิด-19 มีโครงการอะไรมาช่วยเหลือบ้าง
- เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท จากโครงการเราไม่ทิ้งกัน
- เงิดชดเชยประกันสังคม 7,500 บาท เมื่อตกงาน
- เงินช่วยเหลือเกษตรกร 5,000 บาท
- เบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท
- คืนเงินประกันไฟฟ้า และประปา
- เลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2562
- ลดอัตราสมทบเงินประกันสังคม
- สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้มีรายได้ประจำ
- สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ
- สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อประชาชนฐานราก
โดยสรุปแล้วหนี้บัตรเครดิต คือหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ในไตรมาสแรกของปี 2020 มากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ผู้จัดการบริษัทเครดิตบูโร ได้แสดงความเป็นห่วงกลุ่มวัยทำงานที่ทำงานในระบบที่ถือสินเชื่อส่วนบุคคล แล้วต้องเจอปัญหา Income Shock จากการถูกให้ออกจากงาน หรือตกงานกะทันหัน เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ผลักดันเศรษฐกิจในระยะต่อไป
...
เพราะฉะนั้น หากคุณถือสินเชื่อหลายสัญญา ใกล้เป็นหนี้บัตรเครดิต ก็ต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือพักชำระหนี้โควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงยืดระยะเวลาผ่อนผันต่อจากเดิมในอนาคต เพื่อรักษาเครดิตของตัวเองไม่ให้เกิดหนี้เสีย
ที่มา : เอกสารประกอบการแถลงข่าวผ่านการประชุมออนไลน์ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ค. 2563 เรื่อง “ก่อน COVID-19 มาชน สถานะเป็นหนี้ มุมมองในไตรมาส 1/2563”
อ่านเพิ่มเติม