เรากำลังเข้าสู่โหมดสงครามเต็มๆ เป็นสงครามโรคระบาด ที่พร้อมทำลายล้างทุกอย่างในพริบตา!! การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบลามไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ใครปรับตัวไม่ได้ก็มีแต่ซี้แหงแก๋ เจอโหมดสงครามแบบนี้ เหล่าซีอีโอและผู้นำแถวหน้าของไทยจะพลิกเกมสู้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างไรเพื่อเอาตัวรอด พร้อมนำพาประเทศฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน
เป็น 1 ใน 20 มหาเศรษฐีไทยที่นายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง เพื่อร่วมภารกิจกู้วิกฤติ นำพาประเทศไทยฝ่าสงครามโควิด-19 ซึ่ง “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทย ผู้ก่อตั้งเครือ เจริญโภคภัณฑ์ ไม่ทำให้คนไทยผิดหวังอยู่แล้ว นอกจากจะทุ่ม 100 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีทั่วประเทศ เจ้าสัวซีพียังเสนอแนะทางรอดสำหรับประเทศไทย ว่า ตอนเกิดวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลอังกฤษบอกกับเจ้าของโรงแรมและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินเดือนให้พนักงานคุณ 80% แต่ห้ามคุณเลิกจ้าง คุณต้องดูแลต่อนะ แล้วหลังจบวิกฤติโอกาสมาแล้ว คุณค่อยไปจ่ายเงินเดือน ถ้าของไทยเราทำแบบนี้ ธนาคารก็ไม่มีหนี้เสีย, ประชาชนก็ยังมีเงินไปจับจ่าย, ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ยังเพิ่มอยู่, คนก็ไม่ตกงาน การจ่ายเงินเดือนให้พวกเขา ทำให้เขามีเงินไปจับจ่าย แล้วภาษีก็เกิดขึ้นได้ รัฐบาลต้องช่วยธุรกิจที่มีปัญหา อย่าให้เขาล้มหายตายจากไป เพราะเที่ยวนี้ไม่ใช่เขาทำไม่ดี ไม่ใช่ความผิดของใคร ฉะนั้นรัฐบาลวันนี้ หนี้เท่าไหร่ต้องยอมให้เกิด จะเสียหายเท่าไหร่รัฐบาลกู้มา เอามาโปะให้ครบ รัฐบาลไทยเรารวยกว่าอังกฤษนะ อังกฤษช่วย 80% เราให้ 100% เลย คนอาจจะหาว่าผมเลยเถิด...
...
ไม่เลยเถิดครับ แม้ว่าสร้างหนี้ไว้แล้ว และจ่ายระยะยาวอีก 10-20 ปี ก็ก่อไปสิ ประเทศไทยไม่ล้มละลาย และประเทศจะได้เงินอีกด้วยนะ เราเพียงกู้ 10% ของจีดีพี จิ๊บจ๊อยมาก ยามอย่างนี้ออกพันธบัตรของรัฐบาลเครดิตดีมาก ดอกเบี้ยถูกด้วย แล้วให้คนมากู้แบบถูกๆ มาช่วยกันทุกอย่างมันก็อยู่รอดได้ เมื่อคนที่ตกงานมีเงินจับจ่ายเลี้ยงครอบครัวได้ สังคมไม่เดือดร้อน ก็มีเงื่อนไขว่าถ้าผมจ่ายเงินเดือน แล้วอย่าอยู่เฉยๆ คุณต้องฝึกอบรมเตรียมพร้อมหลังวิกฤติ คุณจะทำงานดีกว่าเดิมยังไง พอหลังวิกฤติเราวิ่งเลย คนอื่นยังอ่อนแออยู่ แล้วไม่เสียเปล่าหรอกครับ ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต้องไปลด ภาษีอื่นๆไม่ต้องลด เอาเงินนี้ไปทำให้ทุกอย่างมันอยู่ในภาวะปกติ แล้วรัฐบาลก็เก็บภาษีปกติ เงินอันนี้หมุนไปหมุนมาก็หมุนเข้ารัฐบาลนั่นแหละ ถ้าผมพูดอย่างนี้เดี๋ยวรัฐบาลนึกว่าธนินท์พูดเห็นแก่ตัว ไม่ใช่เลย ผมเห็นแก่ประเทศ ประเทศไทยอยู่ไม่ได้ ผมอยู่ได้ยังไง ขอถามสิ ผมก็ส่วนหนึ่งของประเทศไทยนะ บอกว่าผมไม่รักเมืองไทย ผมรักเมืองไทยที่สุด ถ้าเสียหายผมเสียหายหนักที่สุด ฉะนั้นผมไม่ได้คิดว่าเป็นประโยชน์ส่วนตัวผม ไม่ใช่เลย ผมคิดทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน
ด้านซีอีโอหญิงหนึ่งเดียวที่ได้เทียบเชิญจากนายกฯให้ร่วมกู้วิกฤติ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” แม่ทัพใหญ่แห่งเดอะมอลล์ กรุ๊ป ภูมิใจที่นายกฯมองว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และขอเสนอแนะให้มุ่งเน้นไปที่การปลุกขวัญกำลังใจของคนไทยและพนักงานในองค์กรเป็นอันดับแรก เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในยามบ้านเมืองต้องเผชิญวิกฤตการณ์ ครั้งนี้หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ คนไทยยิ่งต้องการความรักความสามัคคีกัน...
“แอ๊วเชื่อว่าเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ ภายในเวลา 2 เดือน ธุรกิจของเราเสียหายเป็นหมื่นล้าน อันนี้ก็ต้องพยายามปรับกลยุทธ์กันไปให้ดีที่สุด แต่ขณะเดียวกัน เราต้องไม่ทิ้งพนักงานของเรา, ไม่ทิ้งพาร์ตเนอร์การค้าของเรา, ไม่ทิ้งซัพพลายเออร์ และไม่ทิ้งลูกค้าของเรา แอ๊วส่งจดหมายถึงทุกคนเพื่อให้กำลังใจและพร้อมสนับสนุนทุกอย่างเพื่อช่วยให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ในยามวิกฤติเช่นนี้ แอ๊วอยากให้ทุกคนยึดหลัก 3 POWER เพื่อเป็นการปลุกขวัญกำลังใจ คือ The Power of Love การส่งพลังแห่งความรักและใส่ใจซึ่งกันและกัน, The Power of Faith การปลุกพลังแห่งความศรัทธาและความเชื่อมั่นในกันและกัน และ The Power of Togetherness การสร้างพลังแห่งความร่วมแรงร่วมใจสามัคคีกันในชาติ แอ๊วขอยืนกรานว่า เราพร้อมดูแลพนักงานหมื่นกว่าคนเต็มที่ เราจะไม่เลย์ออฟพนักงานแม้แต่คนเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยกันประหยัด และทุ่มเทการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแอ๊วก็หวังว่าในทุกองค์กรจะไม่ทิ้งพนักงานของตัวเองเมื่อคนไม่ตกงาน เศรษฐกิจก็ยังเดินหน้าต่อไปได้”
สำหรับยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกของเมืองไทย “บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” ซึ่งมีพนักงานอยู่ทั่วประเทศกว่า 80,000 คน และยังมีธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก การเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นสงครามใหญ่ที่สาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ซีอีโอมือฉมัง “ญนน์ โภคทรัพย์” บอกเล่าถึงการพลิกเกมธุรกิจเพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัญหาระดับโลก, ระดับชาติ และเป็นปัญหาของพวกเราทุกคน ซึ่งเชื้อไวรัสนี้คงไม่หายไปในเร็ววัน แต่จะอยู่กับพวกเราไปอีกนาน ฉะนั้น ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนสังคม
...
จึงเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้เราทุกคนสามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยดีพร้อมกัน โดย “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” พร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ทุกทาง เริ่มจากการดูแลพนักงานกว่า 80,000 คน โดยจัดทำประกันภัยโควิด-19 ให้ฟรี ขณะเดียวกัน เราได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเร่งด่วน โดยในระยะสั้นจะโฟกัสที่เรื่องการบริหารจัดการกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งปรับแผนให้ธุรกิจในปัจจุบันได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ส่วนกลยุทธ์ระยะกลาง เรามองว่าโควิด-19 จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ Next Normal ทั้งเทรนด์การเว้นระยะห่างระหว่างกัน และเทรนด์หลีกเลี่ยงการสัมผัส รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อีกต่อไป ภารกิจข้างหน้าของเราคือ ไม่ใช่แค่ “Restart” ธุรกิจ แต่เราต้อง “Reset” ธุรกิจใหม่เลย เปลี่ยนทัพ ปรับระบบ และพัฒนาบิสซิเนสโมเดลของเรา ให้พร้อมรับกับ Next Normal ทุกรูปแบบ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต วิถีการทำธุรกิจจากนี้ไป จะต้องยึดหลักค่าใช้จ่ายหารสอง แต่สปีดความเร็วคูณสอง และไม่ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหนเราก็จะตามไปอยู่ที่นั่นด้วย
...
เจ้าธุรกิจดิวตี้ฟรีใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอ่วมกว่าใครเพื่อน เพราะนักท่องเที่ยวหายเกลี้ยงในพริบตา ก็เร่งพลิกเกมธุรกิจเพื่อฝ่าวิกฤติ โดย “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ซีอีโอรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เปิดกลยุทธ์กู้วิกฤติฉบับเร่งด่วน “KING POWER TEAM POWER” เปลี่ยนพนักงานทุกคนให้เป็น “นักขายสินค้าออนไลน์มืออาชีพ” เพื่อเร่งการขยายเครือข่ายขององค์กรจากออนกราวด์สู่ออนไลน์อย่างฉับพลัน งานนี้ซีอีโอเจ้าไอเดียระดมกำลังทุกภาคส่วนมาช่วยกันขายๆๆ และอำนวยความสะดวกในการช็อปปิ้งให้ลูกค้า ผ่านเว็บไซต์ www.kingpower.com โดยพร้อมจัดส่งสินค้าถึงบ้านโดยไม่มียอดขั้นต่ำ เพื่อคืนกำไรให้ช็อปได้แม้ไม่มีเที่ยวบิน ถือเป็นการฉีกทุกกฎเกณฑ์เดิม ผลลัพธ์ที่ได้คือยอดขายทะลุเป้า เพราะได้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวคิง เพาเวอร์ และพันธมิตรทางการค้า ...กอดกันไว้แล้วไปด้วยกัน
...
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็วิ่งสู้ฟัดจนฝุ่นตลบ เพราะยอดขายชะลอตัวลงตั้งแต่ปีที่แล้ว ยิ่งมาโดนซ้ำเติมด้วยพิษโควิด-19 ยิ่งทรุดหนัก คาดว่าดีมานด์จะลดลงกว่า 20% งานนี้ต้องฉีกตำราสู้ถึงเอาตัวรอดได้ ในฐานะซีอีโอหัวก้าวหน้า “เศรษฐา ทวีสิน” หัวเรือใหญ่แสนสิริ ตั้งวอร์รูมเปิดโหมดสงครามตั้งแต่เริ่มวิกฤติ โดยปรับวิธีทำงานของคนแสนสิริใหม่หมดสู่กลยุทธ์ “Speed to Market” ทุกอย่างต้องเร่งสปีดเร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง, การโอน, การส่งมอบบ้าน, การขาย หรือแม้แต่บริการหลังการขาย และเพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่ต่างจากสงคราม ชั่วโมงนี้แสนสิริจึงยอมขาดทุนและกำไรน้อยหน่อย แต่ขอตุนเงินสดไว้ในมือให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ชะลอการขึ้นโครงการใหม่ๆ รอให้เมืองไทยพ้นไอซียู ค่อยลุยกันใหม่
อีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องปรับตัวเร็วเพื่อความอยู่รอดคือธุรกิจขายตรง ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 7 ล้านคนทั่วประเทศ งานนี้ “พญ.นลินี ไพบูลย์” เจ้าแม่กิฟฟารีน บอกเล่าว่า เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 การขายทั้งหมดต้องสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ จากเดิมที่เน้นการจัดประชุมและสัมมนา เน้นการพบปะกันในหมู่นักธุรกิจและนักขายอิสระ เนื่องจากเป็นธุรกิจขายตรงหลายชั้น เมื่อเกิดไวรัสระบาดก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการจัดไลฟ์สด และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์พูดคุยประชุมกัน ส่วนสำนักงานขายที่มีอยู่ 106 สาขาทั่วประเทศ ก็ปรับเป็นคลังสินค้า เพื่อรับออเดอร์และให้บริการนักธุรกิจทุกช่องทาง โดยมีบริการดีลิเวอรีส่งสินค้าถึงบ้าน ทันทีที่รู้ข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อู่ฮั่น เราได้เปลี่ยนแผนการผลิตทันที ปรับโรงงานเครื่องสำอางมาผลิตเจลแอลกอฮอล์แทน ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขายไปได้ 2 ล้านกว่าหลอดแล้ว รายได้ตรงนี้ช่วยชดเชยยอดขายเครื่องสำอางที่หดหายไป
ขณะเดียวกัน ยอดขายอาหารเสริมกลับเพิ่มขึ้น 10% โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร, วิตามินรวม, เลซิติน และแอลซีวิต คนห่วงสุขภาพมากขึ้น โดยภาพรวมจึงยังไปได้ แต่ถ้าเข้าไตรมาสสองยังไม่จบวิกฤติ มันคงหนักกันทั่วทุกภาคส่วน แต่เข้าใจรัฐบาลนะคะ ระหว่างเศรษฐกิจกับชีวิตคน คงต้องเลือกชีวิตคนไว้ก่อน เราต้องระมัดระวังอย่างดี ไม่อยากให้กลายเป็นวิกฤติกลับมารอบสองเหมือนญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ถ้าเป็นไปได้อาจผ่อนปรนจากข้างในประเทศ ให้คนตัวเล็กตัวน้อยแม่ค้าแม่ขายได้ทำมาหากินปกติ แต่อย่าเพิ่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกัน โลกจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว ระบบขนส่งมวลชนต้องออกแบบใหม่ให้มีระยะห่าง คนไทยยังต้องสวมแมสก์ และใช้แอลกอฮอล์ไปอีกนาน อย่าการ์ดตกเด็ดขาด นี่ถือว่าเราได้แก้เคล็ด ไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่สาม แต่เกิดวิกฤติโควิด-19 แทน วิกฤติครั้งนี้ทำให้ทุกคนรู้ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพและชีวิตของเราเอง.
ทีมข่าวหน้าสตรี