สถานการณ์ “สงครามโรค” ของไวรัสโควิด-19 ศัตรูที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แผ่ดั่งคลื่นยักษ์สึนามิซัดธุรกิจแทบทุก หัวระแหงล้มตายแบบไม่มีข้อยกเว้น จนไม่รู้อนาคตว่าจะกลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกครั้งเมื่อไหร่?... อย่างไร?...แบบไหน?

แม้แต่ธุรกิจ “นวดไทย” ที่เพิ่งได้รับการยอมรับจากการประชุม คณะกรรมการว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 14 ที่กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย

ซึ่งมีมติให้ขึ้นทะเบียนโดยใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ “Nuad Thai” ไม่ใช่คำแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Traditional Thai Massage” อยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ปี 2546 ขององค์การยูเนสโก

พร้อมยกเหตุผลที่น่าชื่นใจไปอีกขั้นว่า “นวดไทย” เป็นศาสตร์และศิลปะวิทยาศาสตร์ ผนวกกับเป็นวัฒนธรรมการดูแลรักษาสุขภาพแบบไทยๆ ที่ไม่ต้องใช้ยารักษาอาการ

...

แต่เป็นการรักษาด้วยตัวเองจากการบีบนวดเคล้นคลึง เป็นการบำบัดรักษาด้วยร่างกาย โดยผู้นวดเป็นตัวช่วยปรับสมดุลพลังของร่างกายผู้ป่วย ที่เชื่อว่า เกิดจากการอุดตันของการไหลเวียนพลังงานตามเส้นต่างๆของโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็น เส้นเลือด

การที่ยูเนสโกมองเห็นถึงคุณค่าของ “นวดไทย” สะท้อนว่านี่คือภูมิปัญญาที่พัฒนาการเริ่มจากระดับครอบครัว ชุมชน ชาวบ้าน เป็นการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งก็มีหน่วยงานของทางราชการและองค์กรที่ส่งเสริมพัฒนาการนวดมากกว่า 50 แห่ง

เช่น สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สภาการแพทย์แผนไทย สถาบันการเรียนการสอนเพื่อสุขภาพทั่วประเทศ มีหมอนวดพื้นบ้านทั่วประเทศที่จดทะเบียนไว้รวม 25,205 คน และมีบุคลากรสถานประกอบการเอกชน รวมถึงที่วัดโพธิ์ ซึ่งเริ่มเปิดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2505 ที่มีชาวต่างชาติมาเรียนจาก 145 ประเทศรวมๆแล้วกว่า 200,000 คน

คุณปรีดา ตั้งตรงจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนนวดแผนโบราณวัดโพธิ์และในเครือเชตวัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า มีคนจำนวนมากที่พิการหรือไม่ก็มีหนี้มีสิน อาชีพนี้จึงเป็นโอกาสอันดีให้กับพวกเขา เพราะไม่ได้ต้องการวัสดุเครื่องมืออุปกรณ์อะไรแต่อย่างใด ยกเว้นสองมือและความรู้

หากในช่วงเศรษฐกิจดี ฟูเฟื่อง คนนวดตามสปาระดับท็อปเอ็นสามารถ คิดค่าบริการตก ชม.ละ 415 บาท และเพิ่มอีก 2-3 เท่าตัวในกรุงลอนดอน นครนิวยอร์ก หรือฮ่องกง ซึ่งมีคนไทยไปเปิดสปานวดไทยกันมากมาย

ด้วยองค์ความรู้ของการนวดไทยที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ ลักษณะบำบัดและรักษาโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทย โดยจะเน้นการยึดเส้น การกดจุด ที่ต้นตำรับมาจากประเทศอินเดียแล้วนำมาปรับพัฒนาให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย จนกลายเป็นรูปแบบแผนมาตรฐานอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย

ซึ่งจากข้อมูลในเว็บไซต์ ชี้ช่องรวย เผยถึง การนวดแผนไทยแบ่งเป็น 2 สาย การนวดสายราชสำนัก ที่เน้นการใช้นิ้วและมือเท่านั้น บวกท่วงท่าที่ใช้ก็มีความสุภาพเรียบร้อย ด้วยกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ส่วนการนวดแบบเชลยศักดิ์ สามารถใช้อวัยวะอื่นๆ เช่น เข่า ศอก เท้า เพื่อช่วยทุ่นแรง

วิธีการนวดที่จะทำให้ผู้นวดไม่เหนื่อย และได้ผลเต็มที่ ต้องวางมือให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่จะนวด เพื่อใช้แรงกดตามจุด มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรักษาโรค จึงมีหลักสอนให้จำง่ายๆว่า “แขนตึง หน้าตรง องศาได้” โดยเทคนิคมีทั้งกด-คลึง-ดึง-ดัด-บิด-บีบ-ตบ-ทุบ-สับ-เหยียบ

...

ข้อควรระวัง ไม่อยู่ในลักษณะที่คร่อมตัวผู้นวด ไม่ควรหายใจรดตัวผู้ถูกนวด ส่วนข้อห้ามดูจากอาการหรือประวัติของคนไข้ ได้แก่ มีไข้ หน้าแดง ปากแดง มีอาการปวดมาก บวม แดง ร้อนที่ข้อ เอ็นและกล้ามเนื้อ มีบาดแผลเปิด มีผื่นขึ้นตามตัว หรือสงสัยเป็นโรคผิวหนัง ภาวะกระดูกหัก หรือข้อเคลื่อนที่ยังไม่ติดดี มึนเมาขาดสติ กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก เป็นต้น

ซึ่งห้วงนี้เมื่อต้องปฏิบัติตามมาตรการ social distancing การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือที่องค์การอนามัยโลก (WHO) อยากให้เปลี่ยนมาเป็น physical distancing การเว้นระยะ ห่างทางร่างกาย แต่เชื่อว่าอาชีพมรดกโลกนี้ของไทยจะฟื้นกลับมาหายใจเต็มปอด...ในเร็ววัน.

@เจ๊หม่า