“Piriformis Syndrome” คือ กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสบริเวณก้น ใกล้กับสะโพกไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้กัน ทำให้เกิดอาการปวดก้นร้าวไปยังขาทั้ง 2 ข้าง รู้สึกเจ็บเมื่อใช้มือกดบริเวณก้น และปวดหลังช่วงล่าง หรือในบางรายที่มีความผิดปกติ เช่น มีความหนาของกล้ามเนื้อ หรือมีความผิดปกติของเส้นประสาทที่ไม่สามารถผ่านโพรงเส้นประสาทนี้ไปได้ ทำให้เกิดการกดเบียด และทำให้เกิดอาการปวด

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคนี้

โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในคนหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะคนที่นั่งทำงานนานๆ ในออฟฟิศ ทำให้เกิดการงอสะโพก และมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้

คนที่ต้องนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ พนักงานขับรถ พนักงานขายตั๋ว รวมถึงคนที่เคลื่อนไหวสะโพกมากเกินไป เช่น ออกกำลังกายหนักๆ นักวิ่ง ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้

โดยปกติแล้ว โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเท่าใดนัก แต่จะสร้างความทุกข์จากการปวดให้คนไข้ จนทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการนั่ง เช่น นั่งทำงาน ขับรถ เป็นต้น หรือในบางรายที่มีการกดเบียดของเส้นประสาทค่อนข้างมากจนทำให้มีอาการอ่อนแรงที่เส้นประสาทนั้นๆ แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้น้อย

...

การรักษา

• ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน ลดการใช้งานที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด เช่น ท่างอสะโพก การหุบสะโพกเข้าด้านใน เพราะจะทำให้เส้นประสาทตึงมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อไปกดเบียดเส้นประสาทเพิ่มขึ้น

• การรักษาด้วยยา เพื่อลดอาการปวดของเส้นประสาท

• การทำกายภาพบำบัด โดยการใช้ความร้อนมาบริหารกล้ามเนื้อ หรือเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดลดลงได้

• สุดท้ายคือ การผ่าตัด ซึ่งสำหรับโรคนี้มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดค่อนข้างน้อย เพราะคนไข้ส่วนใหญ่มักจะหายจากการรักษา 3 วิธีที่กล่าวไปข้างต้น

การป้องกัน

• คนที่ต้องนั่งทำงานนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1 ชั่วโมง เช่น ไปเข้าห้องน้ำ ไปดื่มน้ำ เพื่อเปลี่ยนแปลงท่านั่ง ความเสี่ยงในการเกิดโรคก็จะลดลง

• ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีอาการของโรคนี้แล้ว ควรลดการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณก้น หรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกมากๆ

นอกจากนี้ คนที่มีอาการปวดในบริเวณสะโพกด้านหลัง หรือมีอาการอื่นๆ ที่สงสัยว่าเป็นภาวะของโรคนี้ ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด รวมถึงการออกกำลังกายและยืดกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง การนั่งทำงานในท่าทางที่ถูกต้อง ก็สามารถช่วยป้องกันภาวะนี้ได้เช่นกัน

----------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

อ.นพ.ชวรัฐ จรุงวิทยากร ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล