“ผู้นำอยู่ข้างหน้าเพื่อพาทีมไป แต่หลายครั้งเราก็ต้องอยู่ข้างหลัง คอยผลักดันองค์กรให้เดินไปพร้อมกัน”

คุณเอ๋อ-ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารไฟแรง กล่าวในบทสัมภาษณ์ด้วยแววตาที่มั่นใจ ทุกคำตอบกลั่นออกมาจากประสบการณ์ 20 ปี บนเส้นทางการเงินการธนาคาร มองวิกฤติของโลกด้วยสติ ดึงองค์ความรู้ปรับใช้จนเกิดทางออก …เปิดแนวคิดของผู้นำองค์กรยุคใหม่กับ Thairath Talk ที่เดียว

เส้นทางนักการเงิน ‘ฐากร ปิยะพันธ์’

Thairath Talk : เริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเงินธนาคารตั้งแต่เมื่อไร

ผมเรียนจบจากสหรัฐอเมริกาทางด้านไฟแนนซ์ เริ่มต้นทำงานกับบริษัทการเงิน GE Capital (Thailand) ซึ่งได้ไปซื้อหุ้นส่วนนึงของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผมก็เลยย้ายเข้าไปทำงานธนาคาร ตั้งแต่ปี 2007 จนถึงปัจจุบัน

Thairath Talk : เวลาเลื่อนตำแหน่ง หรือปรับเปลี่ยนสายงาน มันยากไหมครับ

ผมทำงานที่เดียว แต่เปลี่ยนงาน เปลี่ยนความรับผิดชอบทุกๆ 2-3 ปีเลยนะ ไม่ทำงานซ้ำๆ กันเลย ผมมักจะแนะนำว่าเราไม่ควรจมอยู่กับงานตำแหน่งเดียว   ควรเปิดโอกาสให้ตัวเอง เราทุกคนควรเรียนรู้งานมากขึ้น มีทักษะเพิ่มขึ้น แล้วโอกาสใหม่ๆ มันจะมาหาเราเอง

Thairath Talk : ดัชนีชี้วัดความสำเร็จในแต่ละตำแหน่งของคุณฐากรคืออะไร

การที่สามารถอยู่ตำแหน่งสูงที่สุดในองค์กรได้ในเวลาเพียง 10-20 ปี ก็เป็นความภาคภูมิใจ แต่ผมยังต้องเรียนรู้ ยิ่งธุรกิจธนาคารมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย ถ้าเรายังกระหายอยากเรียนรู้ มันก็ไม่มีจุดจบหรอก ไม่ต้องคิดว่าอยู่จุดสูงสุด แค่คิดว่าเรายังมีความสุข มีอะไรที่อยากรู้แต่ยังไม่รู้บ้าง ถึงแม้จะอยู่องค์กรเดิมก็ตาม

Thairath Talk : เสน่ห์ของธุรกิจการเงินการธนาคารคืออะไร

ผมเป็นคนที่ถูกจริตกับตัวเลข จริงๆ ผมเรียนไม่เก่งเลยนะ แต่ผมเป็นคนชอบตัวเลข ชอบทำมาหากิน ชอบเก็บออม ชีวิตผมเลยวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องการเงิน ผมจบปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์ ปริญญาโทด้านไฟแนนซ์ พอมาทำงานก็ทำด้านสินเชื่ออีก เลยคิดว่าคงเป็นดวงที่เกี่ยวกับการเงินการธนาคาร (ยิ้ม)

โอกาสในวิกฤติ

Thairath Talk : รับมือสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรครับ

ในทุกวิกฤติ มีโอกาส รอบนี้อย่ามัวแต่คิดมาก ต้องเริ่มคุยกันได้แล้วว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด จะมีผลกระทบต่อธุรกิจเราแค่ไหน และเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย คือเลวร้ายที่สุด แต่ถ้าเราทำอะไรบ้าง อย่างน้อยก็เลวร้ายครึ่งเดียว เมื่อถึงจุดวิกฤติ คนเราจะคิดหาทางแก้ขึ้นมาได้ ไม่ต้องตื่นตระหนก ควรมีสติและหาทางตั้งรับ

ในขณะเดียวกันหาโอกาสด้วย ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมที่เจอวิกฤติ ไม่มีนักท่องเที่ยว แก้ปัญหาด้วยการรับจ้างซักรีด เพราะเขามีคนและเครื่องมือ หรือโรงครัว   ทำอาหารเดลิเวอรี่ไปเลย เช่นเดียวกันกับธนาคารที่ต้องปรับรูปแบบการทำงาน เช่น การทำงานที่บ้าน Work from Home เมื่อก่อนไม่เคยมีการเตรียมรูปแบบธุรกิจแบบนี้ หลังจากนี้ถ้าปรับได้จริงๆ พนักงานคงดีใจนะ เพราะทุ่นเวลาการเดินทางไปได้มาก ใช้เวลาที่เดินทางเอามาทำงาน ได้งานเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับผู้ใช้บริการธนาคาร หลังจากนี้ก็ไม่ต้องไปธนาคาร ทำทุกอย่างผ่านออนไลน์ โอนเงินหรือขอสินเชื่อทางออนไลน์ หากกลัวธนบัตรติดเชื้อโควิด-19 ก็โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันเอาครับ และโอกาสนี้แหละผู้สูงอายุก็จะหันมาใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะออกจากบ้านมันเสี่ยง เห็นไหมครับ ทุกวิกฤติ มันคือโอกาส

Thairath Talk : กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นทำ เนื่องจากวิกฤตินี้ แต่ทำเรื่องนี้มานานแล้ว

ใช่ครับ อย่างโมบายแอปพลิเคชัน UCHOOSE ก็เริ่มต้นจากพนักงานของเรา รวมตัวกันคิดค้นฟีเจอร์มา เลยลองทำ ตอนนั้นคิดแค่ว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็แค่เลิก จนทุกวันนี้มี 5 ล้านดาวน์โหลด และมีแผนกชื่อนี้เพื่อรองรับการทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ ทุกวันนี้ผมยังเป็นหนี้บุญคุณน้องๆ เหล่านี้มาก (หัวเราะ) เพราะช่วยองค์กรลดต้นทุนได้เยอะ และยังช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าของเรา

พายุดิจิทัล...ต้องรอด!

Thairath Talk : ความท้าทายของโลกการเงินคืออะไรครับ

ธนาคารเป็นอุตสาหกรรมที่โดนควบคุมเยอะมาก มีหลายหน่วยงานควบคุม เลยมีความท้าทายด้านกฎระเบียบ และเทรนด์ดิจิทัลกำลังมา พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ทุกอย่างผ่านออนไลน์มากขึ้น เราจึงเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนวิธีการทำงาน ซึ่งมันมาพร้อมกับจังหวะที่สมาร์ทโฟน และโครงสร้างพื้นฐานอย่าง อินเทอร์เน็ต 5G ก็กำลังจะมารองรับ เราเลยจะเอาเทคโนโลยีมาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งถ้าทำได้ดี จะเปลี่ยนประสบการณ์ผู้บริโภคไปเลยนะ

ผมเลยสรุปว่า อุตสาหกรรมธนาคารเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่เรามีอยู่ จึงต้องฉวยโอกาสที่เทคโนโลยีกำลังมา พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนได้ ใช้โอกาสจังหวะนี้เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมธนาคารให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ แล้วคนเหล่านี้จะช่วยดึงคนอีกกลุ่มเข้าสู่ออนไลน์ได้ และเอาเทคโนโลยีมาทำอย่างไรเพื่อลดต้นทุนธุรกิจ แปลว่ากำไรเราก็จะดีขึ้น

Thairath Talk : กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตัดสินใจปรับองค์กรตามเทรนด์ดิจิทัลหรือเปล่า

ในกระบวนแนวคิดของธนาคารกรุงศรีอยุธยา และกรุงศรี คอนซูมเมอร์ หรือแม้แต่เพื่อนๆ ในธุรกิจการเงินการธนาคารด้วยกันเอง อุตสาหกรรมธนาคารเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว เนื่องจาก Digital Transformation ลองผิดลองถูกกันในช่วง 2-3 ปีมานี้ เพราะเราเห็นแล้วล่ะว่า ถ้าเราไม่ปรับ เราอาจจะเจอวิกฤติก็ได้นะ วิกฤติด้าน Digital Disruption

ลองคิดดูถ้าธนาคารมีปัญหา ทุกอุตสาหกรรมก็มีปัญหา เพราะเราเป็นจุดยึดของทุกอุตสาหกรรม ถ้าธนาคารไม่มีประสิทธิภาพ แล้วองค์กรอื่นๆ จะมีได้อย่างไร ถ้าใช้เวลาโอนเงินถึง 2 วัน ธุรกิจก็จะล่าช้าไป 2 วันด้วยนะ ถ้าโอนเร็วภายใน 1 วินาที ธุรกิจก็เดินหน้าเร็วขึ้น 1 วินาที

Thairath Talk : Digital Disruption น่ากลัวไหมครับ

ธนาคารมีฐานลูกค้าเยอะ เริ่มเก็บข้อมูลลูกค้า วิเคราะห์หาความต้องการของลูกค้า แล้วเอาองค์ประกอบเทคโนโลยีอย่าง AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งจะมาช่วยบอกว่าลูกค้าต้องการอะไร เอามาช่วยให้บริการและลดต้นทุน

ฉะนั้น Digital Disruption เกิดขึ้นแน่นอน เกิดขึ้นเร็วและแรงด้วย แต่ถ้าเราคิดและหาจุดที่จะได้ประโยชน์จากมัน ผิดไม่ว่า แต่ต้องเริ่มทำ เรียนรู้ที่จะปรับใช้ ผมเชื่อธนาคารรอดพ้นแน่นอน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ทุกคนต้องปรับ ยังมีเวลานะครับ และที่สำคัญทัศนคติต้องเปิด ลองเริ่มใช้เทคโนโลยี เชื่อว่าท่านจะอยู่รอดครับ

Thairath Talk : อีก 3-5 ปี เราจะได้เห็นเทคโนโลยีที่น่าตื่นตาตื่นใจไหมครับ

ในช่วง 3-4 ปีนี้ หลังจากนี้ยังให้น้ำหนักกับ Big Data และ AI (Artificial Intelligence) ผมเชื่อว่ามันคือพื้นฐานของทุกอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ที่สำคัญต้องมีบุคลากรที่ทำแบบนี้ได้จริง และเรื่อง Mobile Device ก็ยังเป็นตัวเชื่อมเทคโนโลยีมาสู่ผู้บริโภคมากขึ้น

Thairath Talk : สำหรับผู้บริโภคทั่วไป ควรจะกลัวกับ Digital Disruption ไหม

สมเหตุสมผลที่จะกลัว ส่วนมากทุกคนจะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว การเปิดเผยข้อมูล แต่โชคดีที่  ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ มีกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถามว่าน่ากลัวหรือเปล่า ไม่น่ากลัวเลย เพราะกฎหมายเขาให้สิทธิ์ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นศึกษาข้อกฎหมายให้ดี เรามีสิทธิ์ที่จะให้หรือไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้กับคนอื่น แต่ในขณะเดียวกัน ในฐานะผู้ประกอบการ เรารู้ว่าผู้บริโภคกังวลเรื่องนี้ จะใช้อะไรก็ควรขอเขาก่อน ขออย่างชัดเจนและถูกต้อง ผู้บริโภคก็ควรต้องอ่านด้วยนะครับ รักษาสิทธิ์ตัวเอง และรู้ลิมิตตัวเองในการใช้สื่อออนไลน์ด้วยนะครับ

ทักษะโลกอนาคต

“สำหรับเด็กๆ ผมอยากฝากว่าคุณต้องมีทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับอนาคตข้างหน้า ผมยกตัวอย่าง คนในองค์กรควรรู้จักโซเชียลมีเดีย เพื่อขายสินค้า ถ้าเข้าใจมากขึ้น มันอาจจะเปิดโอกาสให้ตัวเองก็ได้นะ สามารถมีอาชีพที่สองได้ ทักษะใหม่ๆ แบบนี้ควรทำเป็นรูปธรรมกันมากขึ้น และทำในทุกๆ องค์กรเลยจะยิ่งดี

Thairath Talk : กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะในการใช้ดิจิทัลอย่างไรบ้าง

พนักงานของเราต้องเรียนรู้พวกสื่อโซเชียล อย่างน้อยๆ ก็เพื่อเพิ่มช่องทางสื่อสารกับลูกค้า จะใช้อีเมลหรือแปะป้ายตามตึกแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ         

เราควรสอนการใช้งานยูทูบ, การขายของทางไลน์ทำอย่างไร, ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กทำอย่างไร มันจำเป็นที่คนในอนาคตต้องมีทักษะด้านนี้ และต้องมีวิธีการเล่าเรื่องที่ดีและน่าสนใจ

จริงๆ อยากจะฝากไปเลยครับ ทักษะเหล่านี้ควรจะมีในระดับมหาวิทยาลัย มีวิชา เฟซบุ๊กใช้อย่างไรให้ถูกทาง ใช้ประโยชน์เพื่อธุรกิจได้อย่างไรบ้าง หนีกันไม่พ้นหรอกครับ พวกโซเชียลมีเดียและมาร์เก็ตติ้ง อยู่ในชีวิตประจำวันไปแล้ว ดีที่สุด คือ ต้องรู้ว่าใช้ให้ถูกได้อย่างไร

ผู้บริหาร = ผู้เรียนรู้

Thairath Talk : คุณฐากรเป็นผู้บริหารแบบไหน

ผมเป็นคนเปิดกว้าง เปิดใจเรียนรู้ รับฟัง เพราะผู้บริหารหลายคนมักจะหูดับ ลูกน้องพูดอะไรไม่ฟัง ถ้าเขามีปัญหาเราต้องช่วยเขาแก้ปัญหา ผู้บริหารหลายคนเป็นคนไม่ชอบตัดสินใจ กว่าจะตัดสินใจต้องการข้อมูลเป็นร้อยเลย สำหรับผม การตัดสินใจถูกมันดีกว่าไม่ตัดสินใจเลย และที่สำคัญต้องเป็นผู้สื่อสารที่ดี ยิ่งถ้าองค์กรขนาดใหญ่ด้วย การสื่อสารเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก

ท้ายที่สุด ผู้นำที่ดีต้องให้เครดิตลูกน้องเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสิ่งที่ไม่มีต้นทุนเลยนะ การชมใครสักคน ถ้าเอาทุกข้อที่ผมบอกมาไปปรับใช้ได้ ก็จะช่วยให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น ปิดช่องว่างระหว่างหัวหน้าและลูกน้องได้

“ผู้นำต้องอยู่ข้างหน้าเพื่อพาทีมก้าวไป แต่หลายครั้งเราก็ต้องอยู่ข้างหลัง คอยผลักดันองค์กรให้เดินทางพร้อมกันให้ได้ เพราะทุกอย่างไม่มีรูปแบบตายตัว ต้องปรับเปลี่ยนกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเราด้วย”

Thairath Talk : มีใครเป็นต้นแบบในชีวิต

เป็นสิ่งดีที่ทุกคนมีไอดอล มีกี่คนก็ได้ เพราะเราสามารถเอาสิ่งที่ดีของเขามาเรียนรู้และปรับใช้ได้ สำหรับผม คือคุณแม่ ผมเห็นคุณแม่ทำธุรกิจการค้า ต่อรองค้าขาย พอมาทำงานก็เห็นหัวหน้ารุ่นเก่าๆ CEO ผู้บริหารคนอื่นๆ เขามีวิธีคิดที่ดี เราก็จะเก็บสิ่งดีๆ เหล่านั้นของแต่ละคนมาผสมกัน อีกอย่าง ผมชอบอ่านหนังสือด้วย เลยเอาวิธีคิดจากคนเก่งๆ มาพัฒนาใช้ หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องของผม ก็เป็นไอดอลผมได้นะ เช่น เขาเจอสถานการณ์กดดัน เวลาติดต่อกับลูกค้า ทำไมเขาทนได้ นี่แหละ เราควรเรียนรู้จากเขา

Thairath Talk : ตื่นมามีวิธีคิดอย่างไร ที่ทำให้รู้สึกท้าทายและมีความสุขกับการทำงาน

ผมมักจะอธิบายกับน้องๆ อยู่เสมอว่า อย่าพึงพอใจกับความสำเร็จในอดีต เราสามารถทำให้วันนี้และพรุ่งนี้ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมาได้ สมมติผมเป็นคนขาย เมื่อวานทำยอดขายได้ 100 บาท คิดเลยว่าพรุ่งนี้ทำอย่างไรให้ได้ 110 บาท ปีนี้เราทำได้เท่านี้ ปีหน้าเราจะทำให้ได้มากกว่านี้ ตราบใดที่เรายังเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้กับตัวเรา เราจึงต้องหาวิธีให้ชนะตัวเอง และบรรลุเป้าหมาย อันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องงานนะ รวมไปถึงเรื่องส่วนตัวด้วย ถ้าเราตั้งเป้าหมาย หาทางบรรลุเป้าหมายให้ได้ ผมคิดว่ามันคือความสนุก ความท้าทายของชีวิต.