มาถึงเทศกาลแห่งการยื่นภาษีกันแล้ว เป็นอย่างไรบ้างคะสาวๆ ได้ยื่นกันไปบ้างหรือยังเอ่ย มีใครต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือได้เงินคืนกันบ้างคะ สำหรับสาวๆ ที่ได้เงินคืน อย่าเพิ่งดีใจกันไปนะคะ เพราะการที่เราได้เงินคืนหรือไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม บางทีอาจไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ายินดีเสมอไป...อ้าว ทำไมล่ะ สงสัยกันแล้วใช่มั้ย ถ้าอย่างนั้น มาไขข้อข้องใจกับ คุณวิลินดา คำดี CFP® ตำแหน่ง Personal Financial Planner and Investment Planner กันดีกว่าค่ะ

จริงๆ แล้ว เราได้จ่ายภาษีล่วงหน้าไปแล้วนะ


ก่อนอื่นเลย Mirror อยากให้สาวๆ ชาวออฟฟิศ เข้าใจกันก่อนว่า โดยปกติ พอถึงวันเงินเดือนออก ก่อนที่เงินจะเข้ากระเป๋า เราจะถูกบริษัทหักบางส่วนออกไป เป็นรายจ่ายในรายการต่างๆ เช่น ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอีกหนึ่งรายการที่สำคัญคือ..ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เจ้าตัวภาษี หัก ณ ที่จ่ายนี้ บริษัทหักไปเพราะ กฎหมายได้ระบุไว้ว่านายจ้างมีหน้าที่ที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ของลูกจ้างไว้ แล้วนำส่งสรรพากรก่อนล่วงหน้า ที่ต้องทำแบบนี้ เพื่อป้องกันปัญหาว่าหากครบปีแล้วเราเกิดเบี้ยวไม่จ่าย หรือจ่ายไม่ครบ สรรพากรก็ไม่ได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยน่ะสิ


ดังนั้นบริษัทเลยต้องเป็นคนจ่ายภาษีแทนเราก่อนล่วงหน้า โดยการหักออกจากเงินเดือน แล้วเป็นธุระส่งเงินภาษีนี้ให้สรรพากรเป็นงวดๆ ไป พอครบ 1 ปี ค่อยไปทบยอดกันอีกครั้งว่าที่บริษัทนำส่งไปนั้น น้อยหรือมากกว่าความเป็นจริง แล้วถึงค่อยจ่ายเพิ่มหรือขอเงินคืนเอาทีหลัง

...

ถ้าจะให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น Mirror มีตัวอย่างมาฝากค่ะ

สมมติให้ Lady Mirror มีเงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท บริษัททำการหักภาษี ณ ที่จ่ายเดือนละ 1,500 บาท ทยอยส่งให้สรรพากร เมื่อครบปีสรรพากรจะได้รับเงินภาษีจาก Lady Mirror ล่วงหน้าไปแล้ว 18,000 บาท ในขณะที่พอครบปี Lady Mirror ก็ยื่นแบบภาษีเงินได้ตามปกติ ปรากฏว่าพอคำนวณแล้ว สรุปว่า ต้องเสียภาษีทั้งหมด 16,000 บาท แต่บริษัทนำส่งไปให้ล่วงหน้าก่อนแล้ว 18,000 บาท นั่นหมายความว่าบริษัทหักเงิน Lady Mirror เกินไป 2,000 บาท ดังนั้นสรรพากรก็จะคืนเงินส่วนนี้ให้

จากตัวอย่างจะเห็นว่า แม้ Lady Mirror จะได้เงินคืน 2,000 บาทในตอนท้าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว Lady Mirror ก็ต้องจ่ายภาษี 16,000 บาท อยู่ดี เพียงแต่ว่าจ่ายล่วงหน้าไปก่อน (แถมยังจ่ายเกินจำนวนด้วย) ก็เท่านั้นเอง

"ดังนั้นจึงควรต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า สิ่งที่ควรต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการภาษี ไม่ใช่การพยายามทำให้ได้เงินคืนให้ได้มากที่สุด แต่คือการวางแผนเพื่อลดภาระทางภาษีให้ได้มากที่สุด”


ซึ่งสิ่งที่ช่วยให้สาวๆ ชาวออฟฟิศสามารถลดภาระของภาษีให้น้อยลงได้ ง่ายที่สุด คือการใช้ค่าลดหย่อนต่างๆ นั่นเองค่ะ

ประเภทของค่าลดหย่อนทางภาษี

1. ค่าลดหย่อนที่ติดตัวมาตามสถานะหรือภาระบางอย่าง : เช่น โสด, มีบุตร, มีภาระผ่อนบ้าน, ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ชราภาพ, ต้องอุปการะผู้พิการ ฯลฯ ซึ่งแต่ละสถานะหรือภาระนั้น ก็จะมีการกำหนดจำนวนเงินที่สามารถลดหย่อนได้ไว้อย่างชัดเจน
2. ค่าลดหย่อนที่สามารถซื้อและยืดหยุ่นได้ : ส่วนใหญ่เป็นสินค้าการเงินที่รัฐต้องการส่งเสริมให้ประชาชนซื้อไว้ เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง และเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, SSF, RMF, ประกันบำนาญ
3. ค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นมาในแต่ละปีตามมาตรการของรัฐ : ค่าลดหย่อนส่วนนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ เช่น บางปีรัฐต้องการส่งเสริมให้ประชาชนออกมาใช้จ่าย ก็จะมีมาตรการที่ให้ประชาชนสามารถนำเอาค่าซื้อสินค้าหรือบริการ มาลดหย่อนภาษีได้ หรือบางปีเกิดอุทกภัย ก็ให้นำเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมมาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น

จะเห็นว่าข้อ 2 จะเป็นค่าลดหย่อนหลัก ที่เราสามารถวางแผนในการซื้อได้ ขึ้นอยู่ว่าเราต้องการลดภาระทางภาษีมากขนาดไหน ในขณะที่ข้อ 1 เป็นค่าลดหย่อนที่ตายตัวอยู่แล้ว และข้อ 3 ก็เป็นค่าลดหย่อนที่ไม่แน่นอนต้องติดตามข่าวสารในแต่ละปี

...

อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาว Lady Mirror ก่อนจะซื้อสินค้าลดหย่อนอะไรก็ตาม ควรจะมีการวางแผนให้รอบคอบก่อน เพราะสินค้าแต่ละตัวมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เราซื้อประกันเพื่อโอนย้ายความเสี่ยง เราซื้อ SSF, RMF เพื่อการลงทุนระยะยาว หรือเพื่อการเกษียณ อย่าซื้อเพียงเพราะว่า สินค้าเหล่านี้จะทำให้เราเสียภาษีน้อยลงเป็นหลัก เพราะไม่อย่างนั้น จะเกิดความสับสนในการเลือกใช้ และอาจส่งผลต่อเนื่องในระยะยาวได้นะคะ