ในโอกาสการครบรอบ 10 ปีของการที่หนังสือพิมพ์ People’s Daily ของจีน ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ริเริ่มจัดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนสื่อมวลชนในประเทศอาเซียน (10 ประเทศ) กับผู้แทนสื่อมวลชนใน 3 ประเทศเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เมืองเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

แน่นอนว่า การจัดการประชุมสัมมนาลักษณะนี้ ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยหนังสือพิมพ์ People’s Daily ย่อมมีจุดประสงค์ที่จะส่งผ่านนโยบายและแนวทางการพัฒนาประเทศของจีนในด้านต่างๆ ผ่านสื่อมวลชนในอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยหวังว่า สื่อมวลชนที่มาร่วมประชุมจะช่วยสร้างความเข้าใจกับประชาชนในแต่ละประเทศให้มากขึ้น

โดยเฉพาะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก้าวขึ้นสู่อำนาจเป็นผู้นำสูงสุดของจีน รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล หรือ One Belt One Road (OBOR) เพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมดังกล่าว

...

ต่อมา นโยบายนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเรียกชื่อใหม่ว่า ความริเริ่มในเส้นทางสายไหม หรือที่รู้จักกันในชื่อ Belt & Road Initiative (BRI) การจัดประชุมสื่ออาเซียนบวกสาม หรือ 10+3 Media Cooperation Forum จึงมีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ

โดยจากการที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการประชุมนี้อย่างน้อย 3 ครั้งได้เห็นพัฒนาการของการจัดการประชุมจากการที่มีการกำหนดตัวผู้พูดในหัวข้อต่างๆ จากประเทศต่างๆ สลับสับเปลี่ยนหมุมเวียนกันไปโดยไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมหรือหากจะมี ก็ต้องแจ้งให้เจ้าภาพทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร มาเป็นการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นในวงกว้าง แต่ก็ยังให้น้ำหนักของการแสดงความคิดเห็นจากผู้แทนสื่อมวลชนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นหลัก

เพราะในการประชุมดังกล่าวนี้ ทุกครั้ง (ที่มีโอกาสเข้าร่วม) จะมีการจัดล่ามแปลภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี สามารถพูดภาษาของตัวเองได้ จึงสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องผ่านภาษาอังกฤษ

สำหรับการประชุมในปีนี้ ประเด็นหลักคือ จีนจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเปิดกว้างในการพัฒนาและสร้างความมั่งคั่งให้ภูมิภาคเอเชีย ผ่านความร่วมมือและแลกเปลี่ยนที่ลึกซึ้งมากขึ้นด้วยการสร้างอนาคตร่วมกัน การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการที่สื่อมวลชนจะต้องช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันระหว่างประชาชนในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ ผู้แทนสื่อมวลชนของจีนจะเน้นย้ำถึงการพัฒนาช่องทางในการนำเสนอข่าวสารร่วมกันเพื่อถ่วงดุลกับการเสนอข่าวของสื่อตะวันตกที่เสนอข่าวอย่างมีอคติและนำไปสู่ความเข้าใจผิด ดังนั้น ทำอย่างไรที่สื่อในอาเซียนและเอเชียตะวันออกจะมีความร่วมมือกันมากขึ้นในเรื่องนี้

...

โดยสื่อมวลชนจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างยืนยันว่า ได้ทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาอย่างครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว แต่ปัญหาคือ แม้ว่าปัจจุบันแหล่งข่าวหน่วยงานของรัฐบาลจีนจะเปิดกว้างในการให้ข่าวมากขึ้น แต่การเข้าถึงแหล่งข่าวระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังเป็นเรื่องยากลำบากมาก ซึ่งประเด็นนี้ สื่อมวลชนจีนกล่าวอย่างติดตลกว่า สื่อต่างชาติที่มีปัญหาเข้าถึงแหล่งข่าวระดับสูงในพรรคฯ ว่ายากแล้ว สื่อมวลชนจีนเองยิ่งเข้าถึงแหล่งข่าวนี้ยากกว่าเสียอีก

สำหรับในประเทศไทย ด้วยการทำงานอย่างหนักของฝ่ายสารนิเทศ สถานเอกอัครราชทูตจีนในประเทศไทย และผู้แทนสำนักข่าวต่างๆ ของจีนในประเทศไทย ทั้ง China Media Group (CMG) ซึ่งปัจจุบันรวม CCTV และสถานีวิทยุแห่งชาติเข้าด้วยกัน สำนักข่าวซินหัว และ People Daily ฯลฯ ในการทำความเข้าใจและประสานความร่วมมือกับสื่อมวลชนในประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมครบรอบ 10 ปีความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนในประเทศอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของสื่อมวลชนจีน โดยเฉพาะในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI และ 5G มาใช้ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและมีคุณภาพสู่ผู้ชมและผู้อ่าน

...

น่าเสียดายที่โปรแกรมที่วางไว้เดิมที่จะให้ผู้แทนสื่อมวลชนจากประเทศต่างๆ ได้เยี่ยมชมความก้าวหน้าของหนังสือพิมพ์ People’s Daily รวมทั้งการได้พบกับผู้นำระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กรุงปักกิ่ง ต้องยกเลิกไป ทำให้โปรแกรมที่เหลือเป็นการนำชมพิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณอายุกว่า 3,000 ปี ที่ Sanxingdui, Chengdu International Railway Port ที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าจากจีน เอเชียตะวันออก และอาเซียนไปสู่ทวีปยุโรปด้วยค่าใช้จ่ายในการขนส่งและระยะเวลาการขนส่งที่ถูกลงและสั้นลง

...

ส่วนโปรแกรมที่เหลือก็เป็นการเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์หมีแพนด้าของเมืองเฉิงตูและระบบชลประทานโบราณที่เมือง Dujiangyan ที่ยังคงใช้ประโยชน์ได้ดีมากว่า 2,000 ปีแล้ว และองค์พระพุทธรูปยักษ์ที่เมือง Leshan ซึ่งถือเป็นแหล่งโบราณสถานที่เป็นมรดกโลก

ด้วยการที่นับวันประเทศจีนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองต่อภูมิภาคอาเซียนที่มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย การเข้าใจเรื่องนโยบายการพัฒนาประเทศของจีนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับสื่อมวลชนไทยและคนไทยในปัจจุบัน...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong