ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีเทรนด์ที่เกิดขึ้นใน Twitter ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนชื่อดังย่านถนนพญาไท ซึ่งเริ่มจากการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่โรงเรียนสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนสั่งอาหารทางออนไลน์จากภายนอกโรงเรียนเพื่อมารับประทานในโรงเรียนก่อนจะลุกลามไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวความไม่เหมาะสมต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งนี้ โดยผู้ใช้ Twitter พร้อมใจกันใช้ Hashtag ว่า #เกียมอุดม
จากนั้น ก็มีการขยายต่อไปยังโรงเรียนมัธยมชื่อดังอื่นๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น #โรงเรียนดังฝั่งธน #สตีวิด และ #เสนโญ ฯลฯ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า เกิดอะไรกับคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาท้าทายระบบบริหารจัดการในโรงเรียน
ก่อนอื่นคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า Twitter เป็นแพลตฟอร์ม Social Media ที่มีมานานแล้ว น่าจะเป็นยุคเดียวกับที่ Facebook เริ่มจะได้รับความนิยม แต่ในช่วงแรก Twitter ได้รับความนิยมเฉพาะในกลุ่มผู้ชื่นชอบการติดตามข้อมูลข่าวสารแบบเรียลไทม์ เพราะสำนักข่าวรวมทั้งนักข่าว บรรณาธิการต่างๆ มักจะนำข้อมูลข่าวสารมาแชร์หรือแบ่งปันในช่องทางนี้ รวมถึงมีการแบ่งปันความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ใช้ Twitter ส่วนใหญ่ จะเปิดสถานะเป็น “สาธารณะ” เพื่อให้ผู้สนใจสามารถกดติดตามหรือ follow ได้อย่างเสรี
...
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในเรื่องจำนวนตัวอักษรที่จะโพสต์ใน Twitter รวมทั้งในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่สามารถโพสต์คลิปวิดีโอ ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับ Facebook ที่เป็น Social Media ที่เน้นการแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวในกลุ่มเพื่อน และมีรูปแบบการนำเสนอข้อมูลได้อย่างหลากหลาย
ต่อมาเมื่อ Twitter มีการปรับปรุงเพื่อขจัดข้อจำกัดต่างๆ ออกไปได้เกือบทั้งหมด ประกอบกับ Facebook ก็ปรับปรุงให้ใช้งานได้ง่ายมากขึ้น จนทำให้บรรดาผู้ใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถเข้ามาอยู่ในเครือข่าย Facebook และใช้เป็นช่องทางในการติดตามพฤติกรรมของลูกหลานที่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกของ Facebook
ดังนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดากลุ่มวัยรุ่นจึงเข้าไปใช้เครือข่าย Twitter ในการสื่อสารระหว่างกัน เพื่อหลบเลี่ยงการถูก “ส่อง” จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง จาก Facebook มากกว่าที่ในช่วงแรกจะใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามความเคลื่อนไหวของดารานักร้องชาวเกาหลี หรือศิลปินไทยบางส่วน (ศิลปินไทยส่วนใหญ่ใช้ Instagram มากกว่า)
Twitter จึงกลายเป็นช่องทางหลักที่วัยรุ่นไทยใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ ทั้งในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว การเรียน จนกระทั่งเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเสรี เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อจริงในการแสดงความคิดเห็นผ่านบัญชีการใช้ Twitter
สำหรับในกรณีของการวิพากษ์วิจารณ์อันเนื่องมาจากจุดเริ่มต้นในโรงเรียนดังย่านพญาไทนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ต่อระบบการบริหารจัดการโรงเรียนไทยที่ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งอาจสะท้อนถึงช่องว่างระหว่างวัยของผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่ากับนักเรียนที่เป็นคนรุ่นใหม่
ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีถึงความอึดอัดใจกับระบบการบริหารจัดการที่เป็นอยู่ จึงทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ถูกต้องหรือความไม่ชอบมาพากลในโรงเรียน ซึ่งในอดีตเคยจำกัดวงอยู่ในหมู่เพื่อนนักเรียนด้วยกัน สามารถขยายวงไปสู่สาธารณะในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ของวัยรุ่นไทยที่บางครั้งอาจจะเกินเลยหรือใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมจนกลายเป็นความก้าวร้าว ซึ่งแทนที่ผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จะรับฟังและนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น กลับกลายเป็นไม่รับฟังและปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามที่มีการแนะนำ
...
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นเพียงตัวอย่างของความไม่พอใจต่อระบบที่เป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่ ยังมีปัญหาของสังคมไทยอีกหลายเรื่องที่สร้างความอึดอัดให้คนรุ่นใหม่ และพวกเขาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้แสดงออกมาผ่านการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา
ดังนั้น สิ่งที่สังคมไทยน่าจะต้องเรียนรู้จากปรากฏการณ์ #เกียมอุดม คือ ทำอย่างไรที่เราจะรับมือกับข้อเรียกร้องและวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบบที่เป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่ และเราจะส่งเสริมและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีข้อเสนอแนะต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยไม่เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้นในสังคมไทยอย่างที่เราเคยประสบมาในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong