(ภาพ) ชูเบิร์ต.

คีตกวีเอกของโลกที่คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์ สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนนำมาเสนอในวันนี้ได้แก่ นักประพันธ์เพลงคลาสสิกผู้โด่งดังและล่วงลับไปหมดแล้วตั้งแต่ช่วง 200 ปีก่อนโน้น แต่เพลงของท่านก็ยังคงเป็นที่นิยมนำมาบรรเลงจนกระทั่งทุกวันนี้ และโดยที่เป็นศิลปินซึ่งส่วนใหญ่มีอารมณ์ไหว เรื่องรักของท่านเหล่านี้จึงน่าสนใจดังจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ประพันธกรผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้เกิดเมื่อ 16 ธันวาคม พ.ศ.2313 (หรือในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ที่เมืองบอนน์ บนฝั่งแม่น้ำไรน์ในประเทศเยอรมนี และเสียชีวิตที่เมืองเวียนนา ออสเตรีย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2370 (ต้นรัชกาลที่ 3) เริ่มประพันธ์เพลงซิมโฟนีเมื่ออายุล่วงเข้า 30 ปีแล้ว ซึ่งเพลงที่จัดว่ามหัศจรรย์ยิ่งของเบโธเฟนก็คือซิมโฟนีหมายเลข 9 เพราะเป็นบทเพลงที่บรรจุการร้องประสานเสียง “Ode to Joy” เข้าไว้ด้วย โดยแต่ไรมานั้นไม่เคยมีซิมโฟนีใดที่มีการร้องประกอบเลย แต่ซิมโฟนีชิ้นสุดท้ายหมายเลข 9 นี้ เจ้าตัวผู้แต่งไม่เคยได้ยินเสียงที่บรรเลงออกมาเลย ด้วยว่าในช่วงบั้นปลายชีวิตนั้นเบโธเฟน “หูดับ”

เบโธเฟน.
เบโธเฟน.

...

เบโธเฟนหลงรักสาวน้อย เธเรเซ มาลแฟตติ (Therese Malfatti) ซึ่งเป็นศิษย์เรียนดนตรีของเขาเอง หากทว่าถึงแม้เขาจะขอเธอแต่งงาน แต่เธอก็ปฏิเสธ ครั้นเมื่อต้องแยกจากกันไป ในปี ค.ศ.1810 เบโธเฟนได้รจนาจดหมายถึงเธเรเซซึ่งมีข้อความตอนท้ายว่า

เธเรเซ มาลแฟตติ.
เธเรเซ มาลแฟตติ.

“...ขอให้เธอจากไปด้วยดีเธเรเซที่รัก ฉันขออวยพรให้เธอพบแต่สิ่งที่งดงามในชีวิต จดจำฉันไว้ด้วย ไม่มีใครที่อยากเห็นเธอสดใสและมีความสุขยิ่งกว่าฉัน แม้ว่าเธอจะไม่สนใจเลยก็ตาม / จากเบโธเฟน ทาสและเพื่อนที่อุทิศชีวิตให้เธอ...”

ว่ากันว่า เพลงที่สุดแสนหวานและไพเราะ “Für Elise” ซึ่งแปลว่าแต่งให้เอลิ-เซนั้น ชื่อ “เอลิเซ” เพี้ยนมาจาก “เธเรเซ” นั่นเอง เพราะบางครั้งเธอก็ใช้ชื่อนี้ในจด-หมายส่วนตัว

ไชคอฟสกี.
ไชคอฟสกี.

ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) เกิดที่เมืองวอตคินสค์ รัสเซีย เมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2383 (กลางสมัยรัชกาลที่ 3) เสียชีวิตที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ด้วยโรคอหิวาต์ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2436 แต่งเพลงไพเราะฟังง่ายๆไว้มากมาย โดยเฉพาะเพลงบัลเลต์ที่ล้วนแต่โด่งดัง อาทิ Swan Lake, Sleeping Beauty, Nutcracker และเพลงที่พวกเรารู้จักกันดีในชื่อ “ม่านไทรย้อย” นั้นก็มาจากไวโอลินคอนแชร์โตของไชคอฟสกีนั่นเอง

หากทว่าชีวิตรักของศิลปินเอกท่านนี้กลับไม่ราบรื่นเอาเสียเลย ภรรยาแต่งของไชคอฟสกีมีนามว่า แอนโท-นินา มิลิวโควา (Antonina Milukova) ครอบครัวของเธอในกรุงมอสโกนั้นยากแค้นและแตกแยก เธอได้พบกับไชคอฟสกีที่บ้านเพื่อนนักร้องคนหนึ่งของเธอ ตอนนั้นเธออายุ 16 และเขาอายุ 25 โดยเธอให้ความสนใจในตัวไชคอฟสกีตั้งแต่นั้น จนถึงกับลาออกจากงานและไปสมัครเรียนในสถาบันดนตรีแห่งมอสโก ซึ่งไชคอฟสกีเป็นศาสตราจารย์สอนอยู่ที่นั่น แต่ไม่ทันสำเร็จก็ต้องออกจากสถาบันเพราะเธอมีปัญหาด้านการเงิน

ไชคอฟสกีและภรรยา.
ไชคอฟสกีและภรรยา.

...

ทำไปทำมาทั้งสองก็เข้าสู่พิธีวิวาห์กันในปี ค.ศ.1877 นัยว่าการแต่งครั้งนี้ไชคอฟสกีไม่สู้เต็มใจ แต่แต่งเพื่อตามใจคนในตระกูล เขาเคยเขียนไว้ว่า “...มิลิวโควาคือผู้หญิงที่ฉันไม่เคยรักสักนิด...” ด้วยเหตุนี้ชีวิตสมรสจึงล่มสลายหลัง จากอยู่ด้วยกันเพียง 6 สัปดาห์ สาเหตุเป็นด้วยว่ามิลิวโควานั้นขาดการศึกษาและไร้รสนิยมซึ่งเข้ากับไชคอฟ-สกี ไม่ได้ อีกสาเหตุหนึ่งมาจากครอบครัวของเธอที่สับสนวุ่นวายจนไชคอฟสกีทนไม่ได้ ดังในจดหมายที่ไชคอฟสกีเขียนถึงน้องสาวในขณะที่อยู่ในช่วงฮันนีมูน เขาสาธยายว่า

“...หลังจากอยู่กับครอบครัวของหล่อนได้ 3 วัน ฉันก็เริ่มได้เห็นทุกอย่างที่สุดจะทนทานได้ อันเนื่องมาจากครอบครัวที่พิกลพิการของหล่อน โดยแม่จะทะเลาะวิวาทกับพ่อตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเกลียดขี้หน้าลูกๆอีกด้วย ส่วนลูกชายคนเดียวนั้นก็เข้ากับพวกพี่สาวน้องสาวไม่ได้เลย...”

แต่ตัวไชคอฟสกีเองก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญ เพราะเขาเป็นพวกรักร่วมเพศ! ซึ่งในสมัยนั้นวงสังคมไม่ยอมรับในเรื่องนี้ดังนั้น ไชคอฟสกี จึงออกจากมอสโกไปใช้ชีวิตโดดเดี่ยว เขาทอดทิ้งภรรยาแบบว่าไม่ยอมพบหน้าเธออีกเลย เขาเสียชีวิตในวัยเพียง 53 ปี ว่ากันว่าเขาจงใจดื่มน้ำดิบเข้าไปในขณะที่ระหว่างนั้นอหิวาตกโรคกำลังระบาดอยู่ในรัสเซีย ด้วยว่าชีวิตนั้นระทมทุกข์นัก ไม่อยากอยู่ในโลกอีกต่อไป

เธเรเซ กร็อบ.
เธเรเซ กร็อบ.

...

ชูเบิร์ต (Franz Schubert) เจ้าของบทเพลงหวานซาบซึ้ง เซเรเนด (serenade) ที่ผู้มีดนตรีในหัวใจทุกคนรู้จักกันดี เกิดวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2340 (ปลายสมัย ร.1) ในหมู่บ้านเล็กๆใกล้กรุงเวียนนา ออสเตรีย ครอบครัวของชูเบิร์ตยากจนมาก ถึงขนาดว่าเขาต้องอดอาหารอยู่เนืองๆ และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2371 ด้วยโรคไข้ไทฟัส จึงมีอายุขัยเพียง 31 ปีเท่านั้นเอง กระนั้นก็ยังแต่งบทเพลงซิมโฟนีไว้ถึง 10 เพลงด้วยกัน แต่ซิมโฟนีที่โด่งดังของเขากลับเป็นหมายเลข 8 ซึ่งแต่งไม่จบ คือมีแค่ 2 ท่อน (moment) ซึ่งตามปกติซิมโฟนีทั่วไปจะมี 4 ท่อน ดังนั้น บทเพลงดังกล่าวนี้จึงเรียกขานกันว่า Unfinished Symphony ความจนของชูเบิร์ตทำให้ตลอดชีวิตอันสั้นของเขาพบแต่ความไม่สมหวัง เพลงของเขาไม่มีใครสนใจนำออกบรรเลง วงสังคมเวียนนาก็ไม่ต้อนรับเขา แม้จนกระทั่งความรักของเขาก็ยังถูกปฏิเสธ เพราะเหตุแห่งความจนนี่เอง

สาวที่ชูเบิร์ตหลงรักมีนามว่า เธเรเซ กร็อบ (Therese Grob) เป็นนักร้องเสียงสูง (soprano) ชูเบิร์ตได้พบและรักเธอตั้งแต่เขาอายุแค่ 17 ปี เขาทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมดให้แก่เธเรเซ แต่ในช่วงเวลานั้นมีกฎหมายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การสมรสออกมาหลายฉบับ และระบุข้อสำคัญไว้ว่า บุรุษผู้ใดที่ประสงค์จะสมรส จะต้องมีหลักฐานทรัพย์สินเพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวของตนได้ แต่ด้วยเหตุแห่งความขัดสนของชูเบิร์ตทำให้ครอบครัวของฝ่ายหญิงไม่ยินยอมให้เธอแต่งงานกับเขา ภายใต้ความกดดันของพ่อแม่พี่น้อง ผลสุดท้ายเธเรเซจึงต้องเข้าพิธีวิวาห์กับหนุ่มอื่นที่มีฐานะร่ำรวย ส่วนชูเบิร์ตของเรานั้นก็อยู่เป็นโสดเดียวดาย ไร้คู่ครองตลอดชีวิตนับแต่นั้น

โมสาร์ต.
โมสาร์ต.

...

โมสาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart) สุดยอดอัจฉริยะคีตกวีผู้นี้เกิดที่เมืองซาลซ์บวร์กในประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2299 (หรือปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา) และถึงแก่กรรมด้วยโรคไทฟัสเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2334 (ปลายรัชกาลที่ 1) โมสาร์ตสามารถแต่งเพลงได้ตั้งแต่อายุเพียง 4 ขวบ โดยแต่งเติมเพลงมินูเอ็ด ซึ่งเลโอโปลด์ ผู้พ่อประพันธ์ค้างไว้ และพออายุ 5 ขวบ บิดาก็พาออกเดินทางไปแสดงการเล่นเปียโนและไวโอลินในหลายแห่งทั่วยุโรป ผู้คนสมัยนั้นจึงตื่นเต้นชื่นชมในอัจฉริยภาพของเด็กน้อยโมสาร์ตกันขนานใหญ่ เป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์และราชินีแห่งราชสำนักกรุงเวียนนา ชีวิตรุ่งโรจน์อย่างยิ่ง ทว่าบั้นปลายชีวิตกลับตกต่ำ ยากจนแทบไม่มีจะกิน และเสียชีวิตอย่างอนาถาไร้ญาติขาดมิตรเมื่ออายุเพียง 35 ปีเท่านั้น

คอนสแตนส์ เวเบอร์.
คอนสแตนส์ เวเบอร์.

ความรักของโมสาร์ตเกิดขึ้นตอนเขาอายุ 21 ปี เขาลาออกจากนักดนตรีประจำราชสำนักซาลซ์บวร์กและออกเดินทางพร้อมกับมารดาเพื่อหางานในที่แห่งใหม่ แล้วก็ได้พบกับครอบครัวเวเบอร์ (Weber) ที่เมืองแมนน์ไฮม์ แรกเริ่มนั้นโมสาร์ตปิ๊งอลอยเซีย (Aloysia) ลูกสาวคนโตของตระกูล แต่บิดาของเขาไม่สนับสนุนความรักจึงไม่คืบหน้า ต่อมาอลอยเซียประสบความสำเร็จเป็นนักร้องโซปราโนโด่งดังในเยอรมนีเธอจึงเลิกสนใจในตัวโมสาร์ต เขาจึงเปลี่ยนใจไปชอบน้องสาวของเธอผู้มีนามว่า คอนสแตนส์ เวเบอร์ (Constanze Weber) และได้แต่งงานกันในปี ค.ศ.1782 โมสาร์ตเคยเขียนเล่าว่า “เธอมีหัวใจงามที่สุดในโลก และเธอรักผมอย่างเต็มหัวใจ”

คอนสแตนส์เป็นภริยาที่ปรนนิบัติสามีอย่างดีตราบจนวาระสุดท้ายของโมสาร์ต ทว่าไม่ได้ไปร่วมงานฝังศพ (อันอนาถา) ของเขาด้วยว่าเธอกำลังป่วย หลังจากโมสาร์ตเสียชีวิต เธอดำรงชีพเลี้ยงตนและบุตร 2 คน โดยออกแสดงดนตรีที่โมสาร์ตแต่ง กระทั่งสุดท้ายเมื่อต้องการให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้น เธอจึงตัดสินใจแต่งงานหนสองกับจอร์จ นิโคลอส นิสเสนนักการทูตชาวเดนมาร์ก

เห็นไหมล่ะครับว่า ชีวิตรักของคีตกวีไม่ได้หวานซึ้งดังเพลงที่พวกเขาแต่งเสมอไป.

โดย : อุดร จารุรัตน์
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน