“ผมมีลูก 4 คน โดยปกติเขาอาจแบ่งให้ลูกคนละ 25 ส่วน แต่สำหรับผมใช้วิธีให้ลูกเลือกกันเองว่าจะให้หนึ่งคนเป็นใหญ่ที่สุดในจำนวนพี่น้อง 4 คน จากนั้นผมแบ่งให้คนละ 10 ส่วน สามคน และให้คนที่เขาเลือกถือ 60 โดยผมยังถืออีก 10 ไว้ ตรงนี้ไม่ใช่เพราะลำเอียง แต่เพราะผมเห็นพรสวรรค์ของคนที่มีไม่เท่ากันมากกว่า อย่างตอนนี้พี่น้องทุกคนเลือกให้ “ต๊อบ” ลูกคนเล็กถือ 60 ส่วนของทั้งหมด ซึ่งเขาจะได้ทันทีเมื่อผมวางมือ แต่ผมก็ยังมีเงื่อนไขนะว่าถึงเขาจะเลือกกันเอง แต่สักวันอาจเปลี่ยนคนที่จะถือหุ้นเยอะที่สุดตามความเหมาะสมก็ได้”...นี่คือสิ่งที่ “เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา” ได้วางรากฐานไว้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเล็งเห็นการณ์ไกลว่าหัวใจสำคัญที่จะทำให้อาณาจักรคิง เพาเวอร์ ยังคงแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน คือความรักความสามัคคีกันในหมู่พี่น้อง

“พี่น้องต้องสามัคคีกัน” คือหนึ่งในคำสอนที่ทายาททั้งสี่ของตระกูลศรีวัฒนประภาได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ในฐานะลูกชายคนโต “คุณต้อล-อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ยืนกรานกับทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ หลังจบการแข่งขันขี่ม้าโปโลการกุศล “เดอะ คิง เพาเวอร์ รอยัล แชริตี้ โปโลคัพ 2019” ที่อังกฤษ ว่า “บ้านผมพี่น้องสี่คนไม่เคยทะเลาะกัน อาจเป็นเพราะคุณพ่อจับให้อยู่ด้วยกันตั้งแต่เด็ก เรารู้ว่าแต่ละคนนิสัยเป็นยังไง ก็จะคุยกันได้ทุกเรื่อง ลูกทุกคนรู้ว่าคุณพ่อมีเวลาน้อยงานยุ่งมาก แต่เวลาที่คุณพ่อให้พวกเราเป็นเวลาที่มีค่าเสมอ คุณพ่อจะสอนว่าพี่น้องต้องรักกันสามัคคีกัน บางทีคุณพ่อก็จะแกล้งขู่ว่าเดี๋ยวโตไปมีครอบครัวก็ลืมพ่อแล้ว พ่อให้พวกเราคุยกันตั้งแต่เด็กว่าจะให้ใครนำ ท่านไม่ยึดตามวัฒนธรรมจีนว่าต้องให้ลูกชายคนโตเป็นผู้นำ แต่จะคุยกันด้วยเหตุผลว่าใครเก่งสุดจะให้คนนั้นเป็นคนดูแลธุรกิจ แล้วให้พี่น้องคุยกันว่ายอมรับได้ไหม ให้เลือกกันเองด้วยความสมัครใจ ด้วยความที่ “ต๊อบ” อยู่ใกล้ชิดพ่อตั้งแต่เด็ก เลยถอดแบบคุณพ่อทุกอย่าง “ต๊อบ” ชอบอ้อนพ่ออ้อนแม่ (หัวเราะ) ส่วนผมไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่ ม.ปลาย”

...

“คุณต้อล” ถูกวางตัวให้รับผิดชอบด้านไหน

คุณพ่อให้ดูงานด้านบุคคลและโอเปอเรชัน ดูแลในส่วนของพนักงาน, ฝ่ายขาย, แคชเชียร์, แวร์เฮาส์ ยอดขายตกก็โดนด่า ส่งของช้าก็โดนด่า ที่จริงพ่อไม่ได้บังคับว่าต้องทำอะไรแต่ดูตามความเหมาะสม ผมเริ่มจากไปดูแลพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นก็ขอคุณพ่อมาดูฝ่ายบุคคล

ทำไมถึงสนใจเรื่องการดูแลบุคลากรเป็นพิเศษ

งานบริการ “พนักงาน” คือหัวใจสำคัญ ยิ่งพนักงานองค์กรเรามีหมื่นกว่าคน เรื่องคนจึงสำคัญมาก คุณพ่อบอกเสมอว่า “คนของเราต้องอยู่ดีกินดีเสียก่อน เขาถึงจะทำงานได้ดี” ผมก็อยากทำหน้าที่ดูแลพนักงานทุกคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุข ผมจะลงไปรับฟังปัญหาของพนักงาน และพยายามช่วยแก้ไขให้อย่างดีที่สุด สิ่งที่เน้นคือทำยังไงให้พนักงานทุกคนอยู่กับเราด้วยความสบายใจ และเกิดความรักในองค์กร เรื่องโนว์ฮาวก็สำคัญ บุคลากรเราเยอะขนาดนี้ ต้องมีแหล่งรวมความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้เดินหน้าไปกับเรา ไม่ใช่ว่า “คิง เพาเวอร์” เจริญเติบโตมาก แต่ยังทิ้งพนักงานไว้ข้างหลัง

จริงไหมคะ? “คุณต้อล” เป็นขวัญใจพนักงาน เพราะสนุกสนานเข้ากับคนได้ง่าย

เหรอครับ (หัวเราะ) ผมปั้นหน้าเก่งมั้ง เวลาจัดปาร์ตี้พนักงานอย่าให้ผมรู้ว่ามีธีมเด็ดขาด เพราะผมจะจัดเต็มไม่ยอมพลาด ผมให้ความเป็นกันเองกับพนักงานทุกคน ใครมีอะไรเดินมาหามาคุยได้ตลอด ผมชอบกินข้าวในแคนทีนกับพนักงาน การทำให้พนักงานมีพื้นฐานสวัสดิการที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ แต่งานบริหารบุคลากรยุคใหม่ยังต้องมีความเข้าใจลึกซึ้ง เพราะพนักงานเป็นหมื่นคนก็มีความหลากหลายแตกต่างกัน

หนักใจไหม? ต้องถูกบีบด้วยยอดขายและบริการ ซึ่งเป็นด่านหน้าของธุรกิจ

จากที่ทำเอชอาร์มา 5 ปี ย้ายมาดูโอเปอเรชัน ชีวิตซีเรียสขึ้นมาก (เสียงสูง) เพราะธุรกิจของเราขึ้นกับยอดขายคือ hit or miss ถ้าลูกค้าเดินเข้ามาไม่สามารถขายได้เดี๋ยวนั้นก็หลุดทันที จะทำยังไงถึงขายได้ภายในชั่ววินาทีนั้น เราตั้งสถาบันฝึกอบรมพนักงานขึ้นเฉพาะ เพื่อเทรนเรื่องทักษะภาษา, วิธีการขายและบริการ

...

เล่าหน่อยว่ามีเทคนิคการขายยังไงให้กระฉูด

ไม่ได้มันเป็นความลับส่วนตัว (หัวเราะ) เราทำงานเป็นหน้าด่านแรกของประเทศ ฉะนั้น พนักงานต้องสนุกและมีใจรักในงานบริการ ต้องรู้สึกภาคภูมิใจว่างานขายเป็นอาชีพที่มีเกียรติ พนักงานของเรายังต้องพูดได้หลายภาษา เช่น อังกฤษ, จีนและรัสเซีย เพราะลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยว

อะไรคือความท้าทายในการบริหารพนักงานยุคใหม่ ธุรกิจดิวตี้ฟรีถูกดิสรัปชันไหม

ผมเข้ามาทำงานกับคุณพ่อเมื่อ 11 ปีก่อน รู้สึกว่าโชคดีมากที่เป็นเจนเนอเรชันกลางเก่ากลางใหม่ ทำให้ได้มุมมองจากคนเก่าคนแก่ที่มีประสบการณ์ ขณะเดียวกันก็รู้ว่าคนรุ่นใหม่คิดอ่านแบบไหน โจทย์สำคัญในการบริหารพนักงานคือ ต้องจูนคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่เข้ากันให้ได้ อันดับแรกต้องพยายามทำให้เด็กรุ่นใหม่เปิดใจรับฟังความขี้บ่นของคนแก่ให้ได้ก่อน (ยิ้ม) ผมเป็นคนที่ใครบ่นมาก็ฟังได้ มันต้องค่อยๆจูนเข้าด้วยกัน พนักงาน 11,000 คน เรามีคนสูงวัย 40% ส่วนที่เหลือเป็นคนเจนวาย ความต้องการก็ต่างกันสิ้นเชิง

หลังการจากไปของพ่อ “คุณต้อล” ช่วยแบ่งเบาภาระด้านไหนเพิ่ม

...

เมื่อถึงยุคที่ “ต๊อบ” มารับไม้ต่อจากพ่อ ก็มีการกรุ๊ปปิ้งบริษัทในเครือใหม่หมดเพื่อให้การบริหารงานเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ยุคนี้มีการปรับทัพใหม่แบ่งธุรกิจเป็น 4 ด้านคือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ประกอบด้วยดิวตี้ฟรี ดาวน์ทาวน์ และแอร์พอร์ต, กลุ่มธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น การสร้างสกายวอล์ก และพัฒนาตึกมหานคร ส่วนที่สี่คือธุรกิจอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการทำสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ และการสนับสนุนการแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโล สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คุณพ่อสร้างขึ้นมาทั้งหมด แต่พวกเรามีหน้าที่เข้ามาต่อยอด

“เจ้าสัววิชัย” ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ ลูกๆได้สานต่อเจตนารมณ์นี้อย่างไร

คุณพ่อให้ความสำคัญมากกับเรื่องการมอบพลังคืนกลับสู่สังคม ท่านได้ริเริ่มโครงการเพื่อสังคมไว้หลายอย่าง ในนามของ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” เพื่อมอบโอกาสดีๆให้คนไทย ตรงนี้พวกเราลูกๆก็พร้อมสานต่อเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการกีฬา (Sport Power), ด้านดนตรี (Music Power), ด้านชุมชน (Community Power) ไปจนถึงด้านการศึกษาและสาธารณสุข (Education & Health Power) ผมเชื่อว่าการหลอมรวมความแข็งแกร่งทั้ง 4 ด้านนี้ จะช่วยสร้างโอกาสงดงามสำหรับคนไทย เพื่อให้ได้เผยศักยภาพตัวเอง ผมลงพื้นที่ทำกิจกรรมซีเอสอาร์ทุกอย่าง ถ้าผู้บริหารอย่างเราไม่ลงพื้นที่ไปทำเอง หมาที่ไหนก็ไม่ทำ!! ผมต้องลุยเองให้เห็น พอลงไปทำจริงๆทำให้เห็นเลยว่าองค์กรเรามีคนชอบทำงานจิตอาสาเยอะ ถ้าระดมพนักงานไปทำซีเอสอาร์ทีไร มีคนสมัครล้นทุกรอบ ที่สำคัญทุกอย่างเกิดจากความฝันของคุณพ่อ เช่น คุณพ่อฝันอยากทำให้ฟุตบอลไทยได้ไปบอลโลก เราเลยทำโครงการสร้างสนามฟุตบอล แจกลูกฟุตบอลล้านลูกล้านพลัง ส่วนเรื่องการสร้างห้องน้ำก็ทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งกลายเป็นที่มาของโครงการ “ห้องน้ำพลังคนไทย สุขา สุขใจ” เรายังเข้าไปสนับสนุนการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย เพื่อจุดประกายให้โลกได้รับรู้พลังด้านดนตรีของคนไทย

...

เกิดเป็นทายาทตระกูลเศรษฐี มีแรงกดดันเยอะไหม

ผมก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาไม่พิเศษอะไร ผมไม่เข้าใจคนที่มีแรงกดดันเพราะเกิดมารวย ผมขับพาเพื่อนซิ่งมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่เด็ก กินข้าวกล่องกับลูกน้องประจำ เมนูโปรดคือข้าวผัดกระเพราปลาหมึก

เคยมีความคิดอยากสร้างธุรกิจของตัวเองบ้างไหม

ผมเห็นคุณพ่อคุณแม่สร้างธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก รู้ว่าท่านเหนื่อยท่านสู้ขนาดไหน แล้วถ้าเราไม่ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ เราคงอกตัญญูมาก แต่พ่อแม่ไม่เคยบังคับให้ลูกต้องมาช่วยธุรกิจครอบครัว ท่านเปิดกว้างว่าใครอยากทำอะไรก็ได้ ถ้าไม่ได้ทำ “คิง เพาเวอร์” ผมคงเปิดร้านขายของเล่น ผมสะสมของเล่นไว้เยอะตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะหุ่นยนต์กันดัม และพวกการ์ตูนมาร์เวล

“พี่ต้อลเป็นคนใจดี เอาใจใส่คนมาก”...เสียงคอนเฟิร์มมาแต่ไกลจากซีอีโอต๊อบ ยืนยันว่าพี่น้องบ้านนี้รักกันจริงๆ.