อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่คิดว่า อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ราชันผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาซิโดเนีย ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาๆ แต่เป็นองค์เทพที่จุติลงมาทำหน้าที่สำคัญบนโลกนี้ แต่แม้นเมื่อพระราชภารกิจยังไม่ทันสำเร็จ ก็ถึงเวลาที่ต้องกลับสู่แดนสรวงไปเสียก่อน

เหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจนคือ พระองค์เก่งเกินคน ตอนที่ยังรุ่นหนุ่มไม่ถึง 30 พรรษา ก็กรำศึกจนรวบรวมอาณาจักรได้เกือบค่อนโลกแล้ว น่าเสียดายที่ต่อมาอีกไม่นาน เมื่อพระชนมายุเพียง 32 พรรษา ก็สวรรคตกะทันหันอย่างเป็นปริศนา ณ บาบิลอน (Babylon) โดยตามบันทึกประวัติศาสตร์ มหาราชสำคัญของโลกพระองค์นี้ เสด็จไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าเมื่อประมาณวันที่ 10 หรือ 11 มิถุนายน เมื่อ 323 ปีก่อนคริสตกาล

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เข้าสู่กรุงบาบิลอน.
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เข้าสู่กรุงบาบิลอน.

แต่เหตุผลแห่งความเป็น “เทพ” ที่หนักแน่นยิ่งกว่านั้นคือ มหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นหลังสวรรคต กล่าวคือมีบันทึกว่าหลังนายแพทย์ประจำพระองค์ประกาศการสวรรคตอย่างเป็นทางการขององค์มหาราชแล้ว แต่อีก 6-7 วันหลังจากนั้น พระศพก็ยังไม่เน่าเปื่อย พระวรกายยังสดใสงามสง่าเหมือนครั้งที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพ ถึงขนาดที่ ควินตัส เซอร์ติอุส รูฟัส (Quintus Curtius Rufus) นักประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 ได้บันทึกเอาไว้ว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการกับพระศพนั้นออกอาการมึนงง ไม่รู้จะทำประการไฉนดี เพราะมองไปก็เหมือนกับแค่พระองค์นิทราไปเท่านั้น

...

คนตายไปตั้งสัปดาห์นึงแล้ว แต่ศพยังไม่แปรสภาพ หากไม่บอกว่าเป็นเทพมาจุติ แล้วจะบอกว่าเป็นอะไรไปได้ ในขณะที่นักประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่งคือ พลูทาร์ก (Plutarch) ก็เขียนบันทึกในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ระบุคล้ายๆกันว่า พระศพของอเล็กซานเดอร์มหาราชนั้นไม่ได้เน่าเปื่อยเลย แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 6 วันหลังการประกาศเวลาสวรรคต ทั้งๆที่ไม่ได้มีการจัดการอะไรเป็นพิเศษกับพระศพที่วางเอาไว้ในสถานที่ซึ่งมีความชื้น ถึงกระนั้น พระวรกายก็ยังดูเปล่งปลั่งเหมือนมีชีวิต ฟังดูแล้วมหัศจรรย์จริงๆนะคะ

แต่งานนี้อาจจะมีคำตอบ เมื่อแคทเธอรีน ฮอลล์ (Katherine Hall) อาจารย์อาวุโสแห่งภาควิชาเวชปฏิบัติและสาธารณสุขชนบท มหาวิทยาลัยโอทาโก (Department of General Practice and Rural Health at the University of Otago) ประเทศนิวซีแลนด์ เสนอทฤษฎีใหม่ที่น่าตื่นตะลึงว่า เหตุที่พระศพไม่เน่าเปื่อยน่ะ ก็เพราะไม่ใช่พระศพน่ะสิ แต่อเล็กซานเดอร์มหาราชยังไม่สวรรคตตะหาก!

อเล็กซานเดอร์มหาราช.
อเล็กซานเดอร์มหาราช.

อาจารย์ฮอลล์ที่ใช้เวลาศึกษาบันทึกประวัติศาสตร์มานานเป็นปีๆ และนำเสนอทฤษฎีนี้ในวารสารประวัติศาสตร์โบราณ (Ancient History Bulletin) บอกว่า อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จริงๆแล้ว พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเพียงแค่กำลังประชวรอยู่

ในภาวะวิกฤติ หรือกำลังโคม่าอย่างหนัก แต่ด้วยความไม่รู้ของคณะแพทย์ในขณะนั้นจึงลงความเห็นว่าสวรรคตแล้ว และสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อันน่าตระหนกนี้ขึ้น ก็เพราะองค์มหาราชมีพระอาการที่เกิดจากภาวะที่เรียกว่า กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillan Barre Syndrome)

แล้วไอ้กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร หรือ GBS นี่ มันเป็นยังไงกันหนอ อาจารย์ฮอลล์อธิบายว่า GBS นี้เป็นภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวน อันเป็นกลุ่มอาการที่พบไม่มากนักในโลกนี้ คือมีผู้คนประมาณ 1 ใน 25,000 คนที่มีอาการในกลุ่มนี้ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายจะทำงานผิดปกติจนเข้าใจผิด ไม่รู้ว่ากำลังเจอกับเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือแค่เจอเซลล์ปกติในร่างกายของตนเอง ว่าแล้วพอ “ภูมิเพี้ยน” อย่างนี้ ก็เลยผลิตสารภูมิคุ้มกันออกมาทำศึก เพื่อทำลายเซลล์ของตัวเอง ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นเซลล์มีปัญหาอะไร นำมาสู่ภาวะที่เซลล์ หรืออวัยวะต่างๆสูญเสียการทำงาน จนกลายเป็นอัมพาตไปทีละส่วนๆ ซึ่งตามบันทึกประวัติศาสตร์ก็ระบุว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชนั้นทรงพระประชวรหลังเสวยน้ำจัณฑ์ แล้วก็ค่อยๆมีพระปรอท (ไข้สูง) ก่อนที่จะเคลื่อนไหวพระวรกายบางส่วนไม่ได้ จนที่สุดแล้วก็เคลื่อนไหวพระวรกายทั้งหมดไม่ได้ แม้กระทั่งจะยกพระเศียร และหมดลมหายใจไปในที่สุด

อันว่ากลุ่มอาการ GBS หรืออาจจะเรียกได้ว่า โรคแพ้ภูมิตัวเองชนิดหนึ่งนี้ มีมานานแล้ว แต่กว่าที่จะถูกประกาศถึงลักษณะของอาการอย่างเป็นทางการ ก็ปาเข้าไปปี ค.ศ.1961 หรือนานกว่า 2 สหัสวรรษหลังการสวรรคตของอเล็กซานเดอร์มหาราช ก็เลยไม่แปลกที่แพทย์หลวงในยุคกระโน้นจะไม่เข้าใจว่า ทำไมองค์มหาราชถึงได้มีภาวะเหมือน “คนตาย” แต่อันที่จริงพระองค์ยังมีพระชนม์ชีพต่อมาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากวันที่บันทึกการสวรรคต

...

ภาพโมเสกที่เมืองปอมเปอี แสดงเหตุการณ์ที่พระองค์รบกับเปอร์เซีย.
ภาพโมเสกที่เมืองปอมเปอี แสดงเหตุการณ์ที่พระองค์รบกับเปอร์เซีย.

อาจารย์ฮอลล์ยังพยายามระบุอีกว่า แถบประเทศอิรักเป็นบริเวณหนึ่งของโลกที่มีผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการ GBS นี้จำนวนมากกว่าเขตแดนอื่นๆ และอาการที่ว่าก็มักจะเกิดในช่วงฤดูใบไม้ผลิกับฤดูร้อน ซึ่งก็ตรงกับสถานที่สวรรคตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เพราะบาบิลอนในขณะนั้นก็คืออิรักในยุคนี้ และเดือนมิถุนายนที่เป็นเดือนสวรรคตก็เป็นฤดูร้อน

เอกสารทางการแพทย์ส่วนหนึ่งบอกว่า สาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรนี้ เป็นเรื่องที่ไม่แน่ชัด สามารถเกิดได้จากหลายเหตุผล แต่ตัวต้นเหตุที่อาจารย์ฮอลล์นำเสนอคือ ตัวการที่เป็นแบคทีเรียชื่อ แคมปีโลแบคเตอร์ ไพโลไร (Campylobacter pylori) ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการเช่นที่ว่านี้มากที่สุดทั่วโลก นอกจากนั้นสภาพของผู้ที่ป่วยด้วย GBS นี้ จะค่อยๆไม่มีความสามารถในการเคลื่อนไหว ทำให้มีความต้องการออกซิเจนต่ำไปด้วย เลยทำให้เหมือนกับองค์มหาราชจะไม่ได้หายใจ แต่อันที่จริงพระองค์ยังมีลมหายใจที่แผ่วมาก จนแพทย์หลวง “จับ” ลมหายใจไม่ได้ และแพทย์ในยุคกระโน้นก็วัดความเป็นความตายกันที่ลมหายใจ ไม่ได้จับชีพจร ทำให้เมื่อผู้ป่วยมีลมหายใจแผ่วจนแทบไม่เห็นก็คิดว่าตาย! ซึ่งอาจารย์ฮอลล์บอกว่า หากทฤษฎีนี้เป็นจริงก็เท่ากับว่า เราต้องเปลี่ยนบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์กันเล็กน้อย ด้วยการขยับวันสวรรคตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชให้ล่ากว่าเดิมไปประมาณ 6 วัน

...

ถ้าเราลองคิดตามทฤษฎีที่อาจารยฮอลล์นำเสนอดู เราอาจจะรู้สึกได้ถึงความน่าตระหนกของเรื่องนี้ นั่นคือหากทฤษฎีเรื่องอาการ “ภูมิเพี้ยน” จนเป็นอัมพาตเหมือน “ตาย” ไปแล้วนี้เป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในช่วง 6-7 วันที่ข้าราชบริพาร เหล่าทหาร และแพทย์หลวงมัวมึนงงว่า ทำไมพระศพไม่เน่าไม่เปื่อย หรือบางคนถึงกับกราบกรานว่าพระองค์เป็นเทพจุตินั้น องค์มหาราชอาจจะกำลังพยายามขยับพระองค์ พยายามลืมพระเนตร พยายามจะตรัสอะไรบางอย่าง แต่ไอ้ “ภูมิเพี้ยน” ที่ถาโถมใส่พระองค์ในขั้นระดับเซลล์นั้น ไม่ยอมให้อเล็กซานเดอร์มหาราชทำอะไรได้เลย นอกจากทอดพระวรกายอยู่เฉยๆ

อาจารย์ฮอลล์บอกว่า คนที่ป่วยในกลุ่มอาการ GBS นี้ ยังจะมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ เพียงแต่ขยับตัวไม่ได้ ดังนั้น หากเรื่องเป็นเช่นว่าจริง นั่นก็เป็นเวลา 1 สัปดาห์ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช “อาจจะ” ยังมีพระสติ รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบพระองค์ แม้พระเนตรจะปิดจนมิอาจมองเห็นสิ่งใด แต่อาจจะยังได้ยินเสียงเหล่าข้าราชบริพารกำลังพูดคุยกันเรื่องการจัดการพระศพที่ยังไม่ใช่พระศพ รวมถึงได้ยินเรื่องการแก่งแย่งอำนาจ การแบ่งราชอาณาจักรที่พระองค์อุตสาหะนำทัพมารวบรวมอย่างยากเข็ญออกเป็นส่วนๆ และอาจเป็นไปได้ที่จะได้รู้ว่า ใครภักดี ใครทรยศ

สัปดาห์สุดท้ายในพระชนม์ชีพจึงอาจจะเป็น 6-7 วันอันแสนเจ็บปวดที่สุดในชีวิตของพระองค์ ไอ้ที่เคยบาดเจ็บจากสนามรบมามากเท่าไหร่ ก็คงไม่เจ็บ ไม่ทรมานเท่ากับที่ได้แต่ “นอนเป็นผัก” ทว่ารับรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจสุดท้ายในที่สุด

อเล็กซานเดอร์มหาราชในศาสนสถานที่เยรูซาเลม.
อเล็กซานเดอร์มหาราชในศาสนสถานที่เยรูซาเลม.

...

ผู้เรียบเรียงได้ลองค้นข้อมูลเรื่องกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร และพบเอกสารทางการแพทย์จำนวนไม่น้อยเลยที่ระบุว่า ผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการนี้สามารถรักษาหายจนกลับมามีชีวิตตามปกติได้ หากในวันนั้นการแพทย์ก้าวหน้าพอ ประวัติศาสตร์โลกอาจจะต้องเขียนขึ้นใหม่ คืออาจจะเปลี่ยนเป็นว่า อเล็กซานเดอร์มหาราชเคยเป็นจักรพรรดิผู้รวมโลกทั้งโลกเข้าด้วยกันก็เป็นได้

แล้วนักวิชาการท่านอื่นๆมีความเห็นอย่างไรกับทฤษฎีนี้กันบ้างล่ะ

ฮิว วิลลิสัน (Hugh Willison) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยในกลาสโกว์บอกว่า มันเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่หลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่นำมาศึกษานั้น ก็ไม่ได้เป็นที่แน่ชัดว่ามีความน่าเชื่อถือได้ในระดับไหน เช่นเดียวกับไมเคิล เบเกอร์ (Michael Baker) ศาสตราจารย์ของภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอทาโก สถาบันเดียวกับอาจารย์ฮอลล์ ผู้เสนอทฤษฎีนี้ก็บอกว่า แม้ทฤษฎีนี้จะมีความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องใช้เวลามากกว่านี้ที่จะศึกษาเพิ่มเติม

แต่คนที่น่าสนใจมากกว่า อาจจะเป็น แพท วีทเลย์ (Pat Wheatley) ศาสตราจารย์อีกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยโอทาโกอีกเหมือนกันที่บอกว่า เอกสารบันทึกประวัติศาสตร์นั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนขึ้นแบบเอกสารร่วมสมัย แต่เอกสารที่หลงเหลือมาให้ได้อ่านกันนั้น เป็นเอกสารที่นักประวัติศาสตร์ยุคหลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นร้อยๆปีเขียนขึ้น แต่ถึงกระนั้น ทฤษฎีนี้ก็น่าสนใจเอามากๆ และอันที่จริงอาจารย์วีทเลย์เองก็เป็นหนึ่งในคณะที่ทำการศึกษาร่วมกับอาจารย์ฮอลล์นั่นแหละ

ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.2557 ศ.วีทเลย์ก็ได้เคยร่วมทีมวิจัยกับลีโอ สเชพ (Leo Schep) นักวิจัยชาวนิวซีแลนด์ จากศูนย์สารพิษแห่งชาติ (National Poisons Centre) ศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ แล้วเจาะลึกลงไปในพระอาการของมหาราช ก่อนจะตีพิมพ์ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการสวรรคตลงตีพิมพ์ในวารสารพิษวิทยาคลินิก (Clinical Toxicology) ระบุว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์น่าจะทรงพระประชวรหนักเนื่องจากถูกพิษจากต้นเวราตรัม อัลบั้ม (Veratrum album) หรือที่รู้จักกันในชื่อสามัญว่า เฮลเลบอร์ขาว (white hellebore)

ในครั้งนั้น คณะวิจัยรวบรวมพระอาการของจอมกษัตริย์ได้ว่า พระองค์เริ่มประชวรหลังเสวยน้ำจัณฑ์ในงานเลี้ยง หลังจากนั้นก็ปวดพระนาภี (ท้อง) อย่างรุนแรง จนถึงกับไม่สามารถทรงพระวรกาย เหล่าข้าราชบริพารต้องช่วยกันหามพระองค์ไปพักผ่อน จนเมื่อพระอาการทรุดหนักลง ในวาระสุดท้ายนั้น อเล็กซานเดอร์มหาราชไม่สามารถขยับพระวรกาย ทำได้เพียงกลอกพระเนตรไปมา ไม่สามารถมีพระดำรัส ตรัสสั่งเสียเรื่องใดๆ และสวรรคตในที่สุด อันเป็นอาการเดียวกับคนที่ถูกพิษจากเฮลเลบอร์ขาว ซึ่งเป็นพืชที่เป็นที่รู้จักของชาวกรีกในขณะนั้นอยู่แล้ว

ทัพกรีกบุกมาแผ่อำนาจถึงอินเดีย.
ทัพกรีกบุกมาแผ่อำนาจถึงอินเดีย.

แต่ทฤษฎีเรื่องพิษจากเฮลเลบอร์ขาวนี้ ก็มีนักวิชาการอื่นๆที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเอเดรียน เมเยอร์ (Adrienne Mayor) นักวิจัยจากแผนกประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์คลาสสิกแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ที่ให้ความเห็นว่า อาการที่เกิดจากการกินเฮลเลบอร์ขาวเป็นอาการที่รู้จักกันอย่างดีในโลกยุคโบราณ ดังนั้น แพทย์ที่รักษาควรทราบปัญหาทันทีที่เห็นพระอาการ ไม่ใช่ประกาศว่าเป็นการสวรรคตอย่างเป็นปริศนาให้เราได้งุนงงกันต่อมาอีกนานกว่า 2,000 ปีอย่างนี้ แต่ในส่วนที่เห็นพ้องกันก็คือ เหตุของการสวรรคตน่าจะเป็นเพราะยาพิษชนิดใดชนิดหนึ่ง

ในขณะที่ “ผู้ร้าย” ที่เป็นตัวยาพิษนั้น ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นพิษชนิดไหน เช่นเดียวกับ “ผู้ร้าย” ที่เป็นคนวางยาพิษก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่า ผู้วางยาพิษน่าจะเป็นคนของผู้มีอำนาจใกล้ชิดพระองค์สักคนหนึ่งที่ทรยศ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังไม่มีใครบอกได้จริงๆว่าทำไมพระอาการในวาระสุดท้ายถึงได้เป็นดังเช่นที่มีการบันทึก ทำให้สาเหตุแห่งการสวรรคตเป็นปริศนามานานแสนนาน

ส่วนผู้เรียบเรียงนั้น มีความเห็นอันเป็นส่วนตัวว่า ไม่ว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจะสวรรคตด้วยเหตุผลใด พระองค์จะสวรรคตแล้วแต่พระศพไม่เน่าเปื่อย หรือได้แต่นอนนิ่งอย่างน่าสงสาร แต่โดยรวมแล้ว พระองค์ก็เป็นเสมือนเทพ ด้วยผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครทำได้เสมอเหมือน.

โดย : พันธุ์สภา

ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน