สืบเนื่องจากการสำรวจระดับความฉลาดทางสติปัญญา หรือที่เรียกว่า Intelligence quotient (IQ) ของเด็กไทย โดยกรมสุขภาพจิต ปี 2559 พบว่า เด็กไทยมีระดับ IQ ต่ำกว่า 100 โดยเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีระดับ IQ อยู่ที่ 90.8 ซึ่งถือว่ายังต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในแถบเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ที่พบว่า เด็กๆในประเทศเหล่านี้มีระดับ IQ สูงกว่า 100 และจำนวนมากทีเดียวที่ระดับเชาวน์ปัญญาหรือ IQ สูงถึง 120-130 ซึ่งถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มเด็กฉลาด ซึ่งถ้า IQ สูงเกินกว่า 140 ต้องถือว่าเป็นเด็กกลุ่มอัจฉริยะ

ขณะที่ประเทศไทย หลายปีที่ผ่านมา นอกจากปัญหาเรื่อง IQ แล้ว สถานการณ์เด็กปฐมวัยไทยในภาพรวมยังพบว่า 1 ใน 3 ของประเทศมีพัฒนาการล่าช้า

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย อายุตั้งแต่ 0-5 ขวบ ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา เด็กปฐมวัยประมาณ 30% หรือ 1 ใน 3 ของเด็กเล็กในประเทศมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่สูงมาก โดยพบว่ามีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าถึง 20% ตามด้วยพัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้ากับสังคมอีก 5% ซึ่งพัฒนาการทั้ง 2 ด้านจะมีผลต่อระดับสติปัญญา ส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้งด้านทักษะการอ่าน เขียน คิดคำนวณ และไอคิว

...

สาเหตุที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้ามาจากหลายปัจจัย อาทิ ภาวะโภชนาการ เด็กไทยจำนวนมากขาดภาวะโภชนาการที่ดีและมีคุณค่า เช่น เด็กขาดเกลือแร่ที่มีผลต่อสมอง ไม่ว่าจะเป็น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลต ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะมาจากครอบครัวที่ยากจน หรือแม่วัยรุ่นที่มีภาวะบกพร่องทางโฟเลตสูง ทำให้ลูกเสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิด การเลี้ยงดู มีครอบครัวเดี่ยวถึง 30% ที่พ่อแม่ไม่มีโอกาสเลี้ยงดูลูก

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์เด็กไทยมีไอคิวต่ำกว่าหลายประเทศในแถบเอเชีย ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศชาติ การสำรวจสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2557 โดยศูนย์อนามัยที่ 10 กรมอนามัย พบว่า เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยเพียงร้อยละ 56.5 จากปัญหาดังกล่าว ศูนย์อนามัยที่ 10 กรมอนามัย ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 10 และภาคีเครือข่าย 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินโครงการ เด็กไทยไอคิวดี เติบโตดี เริ่มที่ครอบครัวคุณภาพ โดยพัฒนาวิธีการที่เรียกว่า Smart kids R10 สร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการพัฒนาเด็ก ระดมทุนในระดับเขตเพื่อจัดกิจกรรมร่วมแก้ปัญหาพัฒนาการเด็ก ซึ่งจากการทำงานตลอดระยะเวลา 3 ปี พบว่าเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10 มีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น จาก 56.5% ในปี 2557 เป็น 74.0% ในปี 2560 และระดับสติปัญญาเฉลี่ยเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพิ่มจาก 90.88 ในปี 2559 เป็น 91.71 ในปี 2561

“ความสำเร็จดังกล่าวทำให้มั่นใจได้ว่า รูปแบบการทำงานในลักษณะของความร่วมมือกัน เพื่อทำให้เด็กไทยมีพัฒนาการสมวัย มี IQ ดี ของเขตสุขภาพที่ 10 และศูนย์อนามัยที่ 10 เป็นรูปแบบที่เหมาะสม เห็นผลได้ชัดเจน ซึ่งกรมอนามัยจะได้พัฒนารูปแบบกระบวนการ Smart kids R10 ให้เป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็กระดับประเทศต่อไป”

อธิบดีกรมอนามัย บอกด้วยว่า ความสำคัญของการพัฒนาเด็กต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ สิ่งที่สำคัญคือ โภชนาการที่จะส่งผลต่อสมองของลูก เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็กและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ความไม่เครียด และส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมการเรียนรู้ของเด็กคือ กิน กอด เล่น เล่า ซึ่งเด็กที่เกิดมาต้นทุนเท่ากัน ระดับสติปัญญาเริ่มต้นก็จะไม่ต่างกันมาก แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ ถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมหรือไม่ได้รับความใส่ใจจากครอบครัวหรือคนรอบข้าง เด็กก็อาจจะกลายเป็นเด็กหลังห้อง และมีผลการเรียนต่ำ ทั้งๆที่ความเป็นจริงสติปัญญาไม่ได้แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เพียงเพราะว่าเด็กขาดแรงกระตุ้น แรงจูงใจในการเรียนรู้และทุ่มเทให้เกิดการพัฒนาเป็นไปตามวัย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือทุ่มเทเพื่อให้เด็กได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็นอย่างเต็มที่

...

ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กรมอนามัย บอกว่า นอกจากโมเดล Smart kids R10 จะเป็นต้นแบบในการนำไปปรับใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศแล้ว ยังได้มีการขับเคลื่อนงานภายใต้โมเดล “ระบบพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย อีสานล่าง : Smart Kids to Healthy Life หรือเลี้ยงลูกคุณภาพดีวันนี้เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวันหน้า โดยเน้นกระบวนการตั้งแต่การแต่งงาน ที่เรียกว่า วิวาห์สร้างชาติ เตรียมพร้อมมีลูกฉลาด การสร้างระบบคลังนมแม่ การกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้วยกิจกรรม กระโดดโลดเต้นเป็นวัยเรียน เติบโตสมวัย ไอคิวเกิน 100 และวัยรุ่นแก้มแดง สมองดี EQ เด่น

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ระบุว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เด็กเล็ก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด การลงทุนในเด็กปฐมวัยจะได้ผลตอบแทนกลับคืนในอนาคตถึง 7 เท่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีทั้งสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิต จะมีทักษะทางกายภาพ IQ และ EQ ที่ดีกว่า มีโอกาสที่จะเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาสูงกว่า สามารถลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน และมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีรายได้ให้กับครอบครัวในอนาคตต่อไป

...

ทั้งนี้ ปัจจุบันระดับ IQ ของเด็กไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 แม้จะเพิ่มขึ้นจาก 94 เมื่อ 8 ปีก่อน แต่ในภาพรวมก็ยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งกำหนดไว้ที่ 100 ซึ่งกรมอนามัยได้จัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพเด็กไทยเริ่มตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงอายุ 18 ปี โดยตั้งเป้าให้เด็กผู้ชายสูงเฉลี่ย 180 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 170 เซนติเมตร และมีระดับ IQ เกินกว่า 100 ตามมาตรฐานสากล ให้ได้ภายในปี 2564 นี้.