พลั๊กแอนด์เพลย์ (Plug and Play) เป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทเทคโนโลยีแห่งท้องทุ่งซิลิคอนวัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล (Google) โลจิเทค (Logitech) เพย์พัล (PayPal) รวมทั้งแดนเจอร์ (Danger) ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งภายหลังถูกกูเกิลซื้อไป

ทำธุรกิจเสาะหา กระตุ้น (Accelerate) สตาร์ตอัพที่มีแววรวมไปถึงให้เงินลงทุนสนับสนุนในฐานะนักลงทุนเวนเจอร์ แคปปิตอล (Venture Capital-VC) ตลอดจนจับคู่ (Matching) ให้ระหว่างสตาร์ตอัพและบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจ

ก่อนก่อตั้งบริษัทในปี 2549 ตระกูล Amidi ซึ่งเชื้อสายเป็นคนอิหร่าน ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปล่อยพื้นที่เช่าให้กับกูเกิล ในช่วงเริ่มก่อตั้งปี 2537 ขณะยังมีพนักงานไม่ถึง 15 คน ไม่มีรายได้และขอจ่ายค่าเช่าเป็นหุ้นแทน ส่วนเพย์พัล ซึ่งมาเช่าพื้นที่ด้วยเช่นกัน มีพนักงานเพียงแค่ 2 คน

หลังผู้เช่ารุ่นบุกเบิกประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ตระกูล Amidi จึงปิ๊งไอเดีย ก่อตั้ง Plug and Play ขึ้นมาในปี 2549 จนปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นทีมปลุกปั้นสตาร์ตอัพที่มีผลงานมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

แต่ละปี Plug and Play จะต้องเฟ้นหาสุดยอดฝีมือจากสตาร์ตอัพทั่วโลกราว 10,000 ราย ผ่านกระบวนการคัดสรร รอบแล้วรอบเล่า จนเหลือให้ลงทุนราว 160 ราย โดยนอกจากจะลงทุนเองในนาม Plug and Play Ventures ซึ่งเป็น VC ที่ทำดีลสำเร็จมากที่สุด (The Most Active) ในซิลิคอนวัลเล่ย์และในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559

Plug and Play ยังมีพันธมิตรเป็น VC อีกมากกว่า 180 แห่งในซิลิคอนวัลเล่ย์ ที่จะมาช่วยสนับสนุนให้ทุน รวมทั้งพันธมิตรที่เป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่ทั่วโลกอีกมากกว่า 220 บริษัท

การเสาะแสวงหาสตาร์ตอัพในแต่ละปี มาจากแหล่งที่มาหลากหลาย ทั้งจาก VC ซึ่งเป็นพันธมิตร, ข่าวจากสื่อ, ลิสต์ของนักลงทุนรายบุคคล (Angle), รัฐบาลของประเทศที่เป็นพันธมิตร เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ ไต้หวัน, มหาวิทยาลัย เช่น ฮาร์วาร์ด, MIT, สแตนฟอร์ด และเบิร์กเล่ย์, ใบสมัครที่ส่งเข้ามา รวมไปถึงงานสัมมนา งานโชว์ต่างๆ เช่น CES , Web Summit เป็นต้น

...

ในบรรดา 10,000 สตาร์ตอัพที่เข้าสู่กระบวนการเสาะแสวงหา จะถูกจัดแบ่งออกตามสายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 13 สาย ได้แก่ ค้าปลีก, Fintech, อาหารและเครื่องดื่ม, สุขภาพ, IOT หรือ Internet of Things, Insurtech, Mobility, Packaging, พลังงาน, Logistics, ท่องเที่ยว, อสังหาริมทรัพย์ และล่าสุด Security หรือความปลอดภัย

เมื่อแบ่งสายกันเรียบร้อย สตาร์ตอัพแต่ละสายจะถูกโหวตด้วยเสียงของพันธมิตรทั้ง VC และบริษัทเอกชนทั่วโลก ได้แก่ เมอร์ซิเดส เบนซ์, Dyson, ฟิลิปส์, พีแอนด์จี, BNP Paribas เป็นต้น คัดเหลือเพียง 100 รายเข้าสู่รอบคัดเลือก หรือ Selection Day ซึ่ง Plug and Play จะทำงานร่วมกับพันธมิตรในการคัดเลือกเช่นเดิม จนเหลือ 40 ราย ซึ่งจะมีโอกาสเข้าโครงการสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วจะเหลือสตาร์ตอัพราว 20 รายเท่านั้น ที่จะได้รับการยอมรับและลงทุนจริง ทั้งจาก Plug and Play, VC พันธมิตร และบริษัทเอกชนที่เป็นสมาชิกของ Plug and Play โดย ณ ปัจจุบัน สตาร์ตอัพในเครือข่ายทั้งหมด สามารถระดมทุนได้มากกว่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 112,000 ล้านบาทแล้ว

นาย Shawn Dehpanah รองประธานดูแลงานด้านพันธมิตรบริษัทเอกชน ประจำเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน Plug and Play มีออฟฟิศอยู่ทั่วโลก 22 แห่ง เฉพาะในจีน ซึ่งมีอัตราเติบโตของสตาร์ตอัพสูงมาก มีออฟฟิศถึง 8 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเป็นอย่างดี และมีความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องการสนับสนุนสตาร์ตอัพจีน ให้มีโอกาสบุกสู่ตลาดต่างประเทศเช่นกัน และนั่นเป็นสิ่งที่ Plug and Play จะช่วยได้

ส่วนในประเทศไทย Plug and Play กำลังมองโอกาสในการตั้งออฟฟิศ เพื่อให้เข้าถึงสตาร์ตอัพไทยให้มากขึ้น หลังจากมีออฟฟิศในประเทศใกล้เคียง อย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไปแล้วโดยปัจจุบัน Plug and Play มีเอกชนไทยที่เป็นสมาชิกอยู่ 2 รายคือ บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 2 เสียค่าสมาชิกรายปีอยู่ที่ 150,000-200,000 เหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป.