หนึ่งในคำพูดยอดฮิตของคนทำงานหากได้ทำงานที่เรารัก เราก็จะไม่รู้สึกเหนื่อย (หรืออย่างน้อยก็เหนื่อยใจ) แถมจะมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ และนั่นก็คงเป็นเรื่องที่หลายๆ คนวาดฝันเอาไว้หลังจากที่เหนื่อยหน่ายกับงานประจำที่ตัวเองทำอยู่
เราก็คงต้องยอมรับความจริงว่าหลายๆ คนไม่ได้มีความสุขกับงานที่ตัวเองทำ แถมหลายๆ คนก็อาจจะพบว่างานที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองถนัดหรือชื่นชอบอะไรเลย และแรงบันดาลใจหลายๆ เรื่องก็มักบอกให้เราออกไปตามหาความฝัน ไปทำสิ่งที่เราอยากทำ
แต่คำถามที่หลายๆ คนก็จะเกิดขึ้นตามมาคือ “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรารักงานไหน” หรือ “งานที่ไหนเหมาะกับเรา” กัน
ฉะนั้นแล้ว วันนี้ผมของลองหยิบแง่มุมหรือวิธีการที่เขามักจะแนะนำกันเพื่อให้เราค้นหาตัวเองให้เจอว่าเหมาะกับงานแบบไหนกันนะครับ
1. อ่านให้เยอะ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าอ่านหนังสือมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ แต่ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่ผมมักจะเจอคือคนจำนวนมากไม่เคยรู้ว่ามีอาชีพหรือสายงานอื่นๆ นอกจากงานหลักๆ ที่เราคุ้นเคย เช่น การตลาด ประชาสัมพันธ์ บริการลูกค้า ฯลฯ จริงอยู่ว่างานเหล่านี้เป็นงานที่มีอยู่ทั่วไปและหาได้ไม่ยาก แต่มันก็มีงานบางอย่างที่มีความเฉพาะเจาะจงเช่น เทรนเนอร์ออกกำลังกาย ครูติวหนังสือสอบ จัดดอกไม้ ฯลฯ ซึ่งพวกนี้บางทีเราต้องเปิดโอกาสตัวเองให้ได้เจองานประเภทอื่นๆ เพื่อจะได้รู้ว่ามันยังมีอะไรอีกเยอะที่เป็นอาชีพได้ การอ่านหนังสือเลยเป็นทางง่ายๆ ที่คุณสามารถทำได้ ไม่ว่าจะอ่านเรื่องราวต่างๆ ของคนที่งานจากหลายสายอาชีพ
...
ในขณะเดียวกัน การอ่านและคุณได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ก็อาจจะทำให้คุณปะติดปะต่อได้ว่าบางอย่างนั้นอาจจะเหมาะกับคุณจากการที่คุณสนุกในการจะเรียนรู้มัน ซึ่งก็พออธิบายง่ายๆ ว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่คุณไม่ได้อินอะไร คุณก็คงจะอ่านแบบขอไปที แต่ถ้าบางเรื่องคุณอาจจะสนใจและใจจดใจจ่อเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าคุณชอบอะไรเพื่อนำไปคิดต่อยอดได้ว่ามันจะเป็นอาชีพอะไรได้บ้าง ด้วยเหตุนี้เขาถึงให้อ่านเยอะๆ เพื่อเปิดโลกของคุณนั่นเองแหละครับ
2. คุยกับคนอื่น
อีกเรื่องที่เขามักจะแนะนำกันคือการพูดคุยกับคนรอบข้าง คุยกับเพื่อนเพื่อให้เพื่อนช่วยสะท้อนดูว่าเราเป็นคนแบบไหน เหมาะกับอะไร ที่เป็นแบบนี้เพราะบางคนก็อาจจะไม่ถนัดในการสำรวจตัวเอง หรือบางทีก็อาจจะยังไม่แน่ใจนัก การฟังเพื่อนที่เข้าใจ รู้ใจคุณ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพื่อฟังจากมุมมองคนภายนอกว่าคุณน่าจะเหมาะกับอะไร
นอกจากเพื่อนแล้ว การพูดคุยกับผู้ใหญ่ หรือคนที่รู้จักคุณเป็นอย่างดี ตลอดไปจนถึงคนในสายงานอาชีพอื่นๆ ก็เป็นอีกทางที่ไม่ควรมองข้าม เพราะคนเหล่านี้เองก็สามารถเป็นคน “สะกิด” หรือชี้ทางให้เรามองเห็นสิ่งที่เราอาจจะยังไม่ได้เห็นมาก่อนได้ด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีประสบการณ์มากๆ นั้น เขาอาจจะรู้ในสิ่งที่เรายังไม่ได้คาดคิดและแนะนำเราได้ว่าอะไรเป็นอะไร
3. สำรวจด้วยตัวเอง
เอาจริงๆ ข้อนี้ควรจะเป็นข้อแรกในบทความนี้แต่ผมหยิบมาเป็นข้อสุดท้าย เพราะถ้าว่ากันจริงๆ ข้อนี้คงเป็นเบสิคที่สุดที่คุณควรจะเริ่มทำก่อนอย่างอื่น แต่เพราะมันก็เป็นเรื่องเบสิคมากๆ เลยขอหยิบมาไว้อันสุดท้ายเพื่อเตือนก่อนจบบทความ
ทั้งนี้ ข้อมูลทุกอย่างที่คุณได้มา ไม่ว่าจะอ่านมา คุยกับคนอื่น หรือวิธีอื่นๆ นั้นสุดท้ายก็จะเป็นการที่คุณต้องมาประมวลผล วิเคราะห์ด้วยตัวคุณเอง ฉะนั้นแล้วเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่บางทีคุณอาจจะต้องหาเวลา “นั่งคุยกับตัวเอง” ว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่หรือไม่ใช่สำหรับคุณจริงๆ เพื่อจะได้เลือกเดินไปยังเป้าหมายที่ควรจะไปนั่นเอง
ที่เล่ามาถึงตรงนี้ มักเป็นสิ่งที่เขาแนะนำกันเพื่อให้เราหาดูว่าเราเหมาะกับอะไร ไม่เหมาะกับอะไร เพื่อที่อย่างน้อยคุณจะได้มีโอกาสมีความสุขกับงานที่คุณกำลังทำอยู่นั่นเองล่ะครับ