ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็ได้ผ่านมติสภาฯ ในวาระแรกไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาและศึกษาร่างกฎหมายอย่างละเอียดในขั้นตอนต่อไปอีกครั้ง ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่จะได้สร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกเพศ รวมถึงสร้างโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกันไม่ต่างจากคู่รักชายหญิงทั่วไปอีกด้วย

สมรสเท่าเทียม คู่รัก LGBTQ+ ซื้อบ้านร่วมกันได้ไหม

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ธนาคารหลายแห่งก็ให้การอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ได้แล้ว แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของการ “กู้ร่วม” เหมือนคู่รักชายหญิงทั่วไป ซึ่งถ้าหาก พ.ร.บ. เพื่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศทั้ง 2 ฉบับนี้ สามารถเกิดขึ้นได้จริง จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ พิจารณาและเปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQ+ มีสิทธิขอ “กู้ร่วม” เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งมีมาตรการส่งเสริมเช่นเดียวกับคู่รักชายหญิงทั่วไปด้วย

เว็บไซต์ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) ได้รวมข้อดีของการมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ต่อการกู้ซื้อบ้านของคู่รัก LGBTQ+ และความแตกต่างระหว่างการกู้ร่วมสำหรับคู่รักชายหญิงทั่วไปมาไว้ดังนี้

สมรสเท่าเทียมกับข้อดีของการกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQ+

  • เปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถยื่นกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงขึ้น
  • สามารถเลือกบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากขึ้น
  • ได้สิทธิการกู้ร่วมที่เท่าเทียมเหมือนกับการกู้ร่วมของคู่รักชายหญิง

...

ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ผ่านมาธนาคารหลายแห่งไม่สามารถให้สินเชื่อผู้กู้ร่วมแก่ LGBTQ+ ได้ เนื่องจากกฎของการกู้ร่วมคือผู้กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกัน คือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายเดียวกัน หรือเป็นชายหญิงที่เป็นคู่สมรสกันนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้คู่รัก LGBTQ+ ต้องใช้สินเชื่อประเภทอื่นในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือ SME โดยคู่รัก LGBTQ+ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรเพื่อประกอบกิจการได้ เช่น สถานประกอบการพร้อมที่ดิน หรือที่ดินเปล่าเพื่อใช้ดำเนินกิจการ แต่การกู้โดยใช้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นจะให้ช่วงระยะเวลากู้นานสุดเพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งให้ระยะเวลาผ่อนสูงสุดถึง 30 ปี อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นยังมีอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอีกด้วย

ขณะเดียวกันก็มีบางธนาคารเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมได้ แต่ก็มีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างจากการกู้ร่วมของคู่รักชายหญิง เช่น กู้ได้เพียง 90% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ธนาคารจะมีมาตรการออกมารองรับผู้กู้ร่วมที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และมีการประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ร่วมชาว LGBTQ+ อย่างเท่าเทียมไม่ต่างจากคู่รักชายหญิงทั่วไป

คู่รักชาว LGBTQ+ กู้ซื้อบ้านอย่างไรให้ผ่าน

ปัจจุบันมีหลายธนาคารที่เปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQ+ กู้ร่วมซื้อบ้านได้เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นค่อนข้างคล้ายคลึงกัน เช่น

  • มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
  • มีรายได้มั่นคง โดยมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม (บางธนาคารกำหนดให้ผู้กู้หลักมีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป)
  • พนักงานประจำต้องมีอายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป (บางธนาคารไม่มีกำหนด)
  • ผู้กู้ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามที่ธนาคารกำหนด เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน, บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน เป็นต้น (บางธนาคารไม่มีกำหนด)

นอกจากนี้ ยังต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามปกติ คือต้องมีภาระหนี้ไม่เกิน 30-40% ของรายได้ มีเงินออมอย่างน้อย 10% ของราคาที่อยู่อาศัย รวมทั้งมีบันทึกการเคลื่อนไหวบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน หากมีการเตรียมตัวเบื้องต้นให้พร้อมตามรายละเอียดต่างๆ ข้างต้น ก็จะช่วยให้การกู้ซื้อบ้านของชาว LGBTQ+ ผ่านไปได้ด้วยดี