“ภาวะการกลืนลำบาก” คือ ภาวะความผิดปกติของการกลืน ได้แก่ การกลืนติด การกลืนเจ็บ การกลืนแล้วมีการสำลัก ทั้งของแข็งและของเหลว

ภาวะการกลืนลำบาก สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ แม้กระทั่งผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีโรคประจำตัว ก็สามารถเป็นได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อช่องปากมีการอ่อนแรง ส่งผลให้ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ดีเหมือนปกติ นอกจากนี้ ในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรค ก็จะเพิ่มโอกาสในการมีภาวะการกลืนลำบากมากยิ่งขึ้น

อาการของการกลืนลำบาก แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามการกลืน ดังนี้

1. ระยะที่ 1 อาหารอยู่ในช่องปาก จะมีอาหารหรือน้ำไหลออกจากมุมปาก หรือเวลาเคี้ยวอาหารแล้วไม่สามารถเคี้ยวได้ละเอียด และมีอาหารค้างในช่องปาก

2. ระยะที่ 2 ระยะของลำคอ คนไข้จะมีอาหารกินแล้วสำลัก กินแล้วไอ กินแล้วเจ็บคอ กินแล้วอาหารติดคอ

3. ระยะที่ 3 ระยะของหลอดอาหาร คนไข้จะมีอาการกลืนติด หรือมีอาหารไหลย้อนขึ้นมา

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะการกลืนลำบากโดยการซักประวัติว่า คนไข้มีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ ตามด้วยการตรวจร่างกายตามระบบประสาท เพื่อประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่องปาก โดยให้คนไข้ดื่มน้ำหรือกินข้าวให้ดูว่ามีปัญหาการกลืนหรือไม่ นอกจากนั้น แพทย์ตรวจเพิ่มเติมโดยการเอกซเรย์ดูการทำงานของการกลืนที่เรียกว่า “Videofluoroscopic Swallow Study (VFSS)” โดยการให้คนไข้มาอยู่ตรงเครื่องเอกซเรย์ ให้ดื่มน้ำและกินอาหารไปด้วย และดูว่า ระหว่างที่ดื่มน้ำหรือกินอาหาร มีการสำลัก มีอาหารหรือน้ำไหลกลับเข้าไปในหลอดลมหรือไม่ อย่างไร

ในบางกรณี แพทย์ก็จะประเมินภาวะการกลืนลำบากโดยการส่องกล้องที่เรียกว่า “FEES (Fiberoptic Endoscopic Evaluation of Swallowing)” โดยการส่องกล้องขนาดเล็กเข้าไปในรูจมูก และให้คนไข้ดื่มน้ำหรือกินอาหารไปด้วย ซึ่งแพทย์ก็จะดูว่า การดื่มน้ำหรือกินข้าวแต่ละชนิด มีอาหารค้างในคอหรือไม่ หรือมีการสำลักไหม ถ้ามีอาหารค้างในคอ หรือมีการสำลัก ก็จะได้วางแผนการรักษาต่อไป

...

การรักษา

หลังการวินิจฉัย เมื่อพบว่า คนไข้กินอาหารแบบไหนแล้วปลอดภัย ก็จะแนะนำให้คนไข้กินแบบนั้น เช่น มีบางคนกินโจ๊กได้ แต่กินข้าวสวยไม่ได้ ก็จะแนะนำให้เขากินโจ๊กไปก่อน และระหว่างนี้ ก็จะฟื้นฟูกล้ามเนื้อช่องปากและลำคอให้แข็งแรงขึ้น โดยการทำบำบัดฟื้นฟูจากนักกิจกรรมบำบัด โดยจะมีการฝึกการกินให้คนไข้ และมีการออกกำลังกายโดยการบริหารลิ้น บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง เพื่อที่จะสามารถกลับมาได้ตามปกติ

นอกจากนี้ แพทย์ก็จะต้องทำงานร่วมกับนักกำหนดอาหาร เพื่อปรับอาหารให้เข้ากับความสามารถในการกลืนของคนไข้แต่ละคน เช่น อาหารปั่น อาหารบด อาหารนิ่มชิ้นเล็ก รวมถึงนักกำหนดอาหารจะเข้ามาดูแลเรื่องการคำนวณสารอาหารที่คนไข้ควรได้รับในแต่ละวัน เพื่อให้ได้ปริมาณสารอาหารที่เพียงพอ

การดูแลตนเอง

การดูแลตนเองที่ง่ายที่สุด คือ ดูแลความสะอาดในช่องปาก หากพบว่าฟันผุ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษา และคนไข้ควรแปรงฟันก่อนและหลังอาหาร เพื่อให้ช่องปากสะอาดอยู่เสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวไปข้างต้น คือ ปรับอาหารตามความสามารถในการกินของตนเอง และออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของช่องปากและกล้ามเนื้อคอ

การป้องกัน

หากพบว่าคุณหรือคนใกล้ตัวเริ่มรู้สึกว่ากินอะไรแล้วไม่สุขสบายเหมือนเดิม เช่น กลืนติด กลืนเจ็บ กลืนแล้วสำลัก ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรักษา ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ การขาดน้ำ หรือขาดสารอาหารได้

@@@@@@@

แหล่งข้อมูล
ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล