การแถลงผลการตรวจวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ของไบโอไทย (BIOTHAI) พบสารพิษตกค้างของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท 95.8% หรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง ตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด โดยองุ่นตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอส และอีก 22 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้าง 14 ชนิด เกินค่ามาตรฐาน
ผลกระทบทางสมองจากสารคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดแมลง (Pesticide) ใช้ในการเกษตร ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate compound) คลอร์ไพริฟอส กำจัดแมลงโดยยับยั้งการทำงานของสมองและเส้นประสาทแมลง เพราะมันสามารถยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสอย่างถาวร (non-competitive Cholinesterase inhibitor) ซึ่งเป็นสารสำคัญในกระบวนการสั่งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เมื่อไปยับยั้งสารตัวนี้ ทำให้หน่วยรับความรู้สึกตอบสนอง (Receptor) ไม่สามารถใช้งานต่อได้ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อคนก็มีเอนไซม์นี้เหมือนกัน และมีอยู่ทั่วสมองเป็นตัวสั่งการสำคัญ เช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ระบบการเรียนรู้และความจำ (learning and memory) และการสั่งการกล้ามเนื้อ
มีการศึกษาในปี 2012 (Proceedings of National Academy of Sciences) พบว่า การที่แม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ได้รับสารคลอร์ไพริฟอสถึงจะเป็นปริมาณที่น้อยกว่าปริมาณที่ทำให้เป็นพิษในคน (non–commercial dose) จะทำให้ลูกที่เกิดมามีไอคิว (IQ) ต่ำกว่าคนที่ไม่ได้รับสารพิษ และสแกนสมองก็พบว่าสมองของเด็กที่ได้รับสารพิษนี้บางกว่า (Cortical thinning) โดยสารคลอร์ไพริฟอสนี้เป็นพิษต่อเซลล์สมอง (Neuron and glial cytotoxicity) โดยเด็กที่มีระดับสารนี้มากในเลือดที่เจาะจากสายสะดือ ก็จะมีความผิดปกติของ IQ จากการทดสอบเชาวน์ปัญญาและความผิดปกติในเนื้อสมองที่กำหนดปัญญาจะผิดปกติมากไปตามกัน
...
ทั้งนี้ โดยการทดสอบที่อายุเฉลี่ย 7 ขวบ โดยรายงานก่อนหน้านี้ในปี 2011 ก็พบการถดถอยของสติปัญญาเช่นกันในการศึกษาเดียวกันนี้ สมองส่วนขวาล่างและหน้าบน (Right inferior parietal lobule, right superior marginal gyrus and right mesial superior frontal gyrus) จะมีความแตกต่างกันในเพศชายและหญิง โดยสมองส่วนขวาล่าง (Right inferior parietal lobule) ปกติแล้วผู้หญิงจะหนากว่า แต่เด็กที่ถูกสารคลอร์ไพริฟอส ความหนานี้จะสลับกันและในสมองส่วนหน้าบน (right superior marginal gyrus and right mesial superior frontal gyrus) นั้น ซึ่งปกติผู้ชายจะหนากว่า แต่เมื่อถูกสารก็สลับกันเหมือนกัน และความเสียหายนี้จะแปรตามความเข้มข้นที่พบในสายสะดือ ทั้งนี้ สารนี้เป็นตัวป่วนฮอร์โมน (endocrine disrupter) ดังนั้น กระบวนการผลิตฮอร์โมนในเด็กทารกชายในครรภ์ในช่วง 8-24 สัปดาห์ จะถูกปรวนแปรจากสารนี้ และสามารถเชื่อมโยงถึงการที่มีความผิดปกติในการสร้างเซลล์สมอง (neurogenesis) ในการเคลื่อนของเซลล์สมองไปยังตำแหน่งที่ควรจะเป็น (neuronal migration) และการเสื่อมสลายตายก่อนเวลา (neuronal apoptosis)
ในประเทศไทยพบเด็กแรกเกิดมีสารพิษในขี้เทาทั้งสามชนิด สารคลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต แสดงว่ามารดาได้รับสารนี้ตั้งแต่ตั้งท้อง เรายังไม่อาจสรุปได้ว่าสภาพเพศในคนไทยที่ถูกจัดแบ่งได้ 8 สภาพ สารเหล่านี้เป็นตัวกำหนดอย่างไร แค่ไหน แต่ที่รู้กันชัดเจนแล้วคือการก่อให้เกิดโรคร้ายแรงทั้งสมองเสื่อม พาร์กินสัน มะเร็ง ไต และสติปัญญาในเด็กด้อยลง รวมทั้งการเร่งให้เกิดเบาหวาน สารสองชนิดแรกประกาศห้ามใช้แล้ว.
หมอดื้อ
คลิกอ่านคอลัมน์ "สุขภาพหรรษา" เพิ่มเติม