การรักษาและการดูแลตนเอง
การรักษาเชื้อราที่ผิวหนังชั้นบน การรักษาหลัก คือ การใช้ยาชนิดทา โดยปกติใช้ระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นกับลักษณะของกลุ่มเชื้อที่ติดบนผิวหนัง ดังนี้
1. การรักษาเชื้อเกลื้อน เนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นบนสุดของร่างกาย ตัวเชื้อเกลื้อนสามารถหลุดออกจากร่างกายได้ในเวลา 1-2 สัปดาห์ จึงใช้ระยะเวลาในการทายา ประมาณ 1-2 สัปดาห์
2. การรักษาเชื้อกลาก ลักษณะการติดเชื้อจะลึกลงกว่าเชื้อเกลื้อน จึงต้องใช้ระยะเวลาในการทายาอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ในการที่เชื้อราจะหลุดออกจากร่างกาย หรือทาจนกว่าผื่นจะหาย และทาต่อไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์
การทายารักษาเชื้อกลาก จะต้องทาเลยจากขอบออกไปครึ่งถึง 1 เซนติเมตร เพราะพบว่าเชื้อราบริเวณขอบผื่น แม้ว่าจะไม่ได้มีรอยโรคให้เห็น แต่ก็อาจจะมีเชื้อราอาศัยอยู่ได้ และหากไม่ได้รักษาให้ครอบคลุม ก็อาจจะทำให้เชื้อรากลับมาได้
การรักษากลากในบริเวณพิเศษ เช่น หนังศีรษะหรือเล็บ จะใช้เวลาในการรักษานานกว่าบริเวณผิวหนัง เนื่องจากบริเวณเส้นผม การดูดซึมผ่านของยาทามักจะไม่ได้ระดับที่เหมาะสม ดังนั้น การรักษาใน 2 บริเวณนี้ แพทย์จำเป็นจะต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วย
ยารับประทานเพื่อรักษาเชื้อราอาจมีปฏิกิริยากับยาชนิดอื่น อาจจะส่งผลให้เพิ่มหรือลดระดับของยาที่กินร่วมด้วย จึงต้องปรึกษาแพทย์ที่ดูแลประจำ ว่าจะต้องปรับขนาดของยาที่กินร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ เนื่องจากต้องกินเป็นเวลานาน ดังนั้น แพทย์จำเป็นจะต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะป้องกันภาวะตับอักเสบที่อาจจะเกิดจากยาได้
...
การรักษาบริเวณหนังศีรษะและเส้นผม ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ถ้าเป็นบริเวณเนื้อเล็บมือ ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ส่วนเล็บเท้า อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน เนื่องจากมีอัตราการงอกที่ช้ากว่า
3. การรักษาเชื้อแคนดิดา การรักษาจะคล้าย ๆ กับการรักษาโรคติดเชื้อกลาก โดยทายาประมาณ 3-4 สัปดาห์ และควรทาไปถึงบริเวณที่เป็นตุ่มหนอง เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การดูแลตนเอง
1. ทายาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
2. ป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีความอับชื้น หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความร้อน กิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก
3. ทำให้บริเวณที่มีการอับชื้นแห้งอย่างรวดเร็ว โดยมีวิธีการ ดังนี้
3.1 ใส่เสื้อผ้าที่มีการระบายเหงื่อได้ดี
3.2 ใช้แป้งทา เช่น แป้งเด็ก ทาบริเวณที่อับชื้น เพราะแป้งจะช่วยดูดความชื้น จะช่วยลดการเสียดสีของผิวบริเวณนั้น
4. ถ้ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อง่าย เช่น เบาหวาน คนไข้ที่รับยากดภูมิ ต้องดูแลตนเองมากพิเศษ
การป้องกัน
1. พยายามรักษาความสะอาดอย่างเหมาะสม
2. ใส่เสื้อผ้าที่มีการระบายได้ดี
3. ทาแป้ง เพื่อลดความชื้นของผิวหนัง และลดการเสียดสีของผิวบริเวณนั้น
4. หากต้องทำงานที่ต้องสัมผัสความชื้นบ่อย ๆ ก็ต้องดูแลรักษาความสะอาดให้ดี เมื่อโดนน้ำแล้ว ก็ควรรีบซับให้แห้งโดยเร็ว
5. ถ้ามีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแมว ถ้าเกิดเชื้อกลากที่ติดจากแมว ก็ต้องนำแมวไปดูแลรักษา ควบคุมปริมาณเชื้อรา โดยการฟอกหรืออาบน้ำด้วยแชมพูขจัดเชื้อรา
@@@@@
แหล่งข้อมูล
รศ. นพ.พูลเกียรติ สุชนวณิช สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" เพิ่มเติม