เพื่อเป็นการรุกต่อยอดธุรกิจ ทั้งยังเป็นการแสวงหารายได้เพิ่ม ที่สำคัญยังเพื่อรองรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่หลายธุรกิจกำลังเผชิญกับการถูกดิสรัปชัน (Disruption)

“โออาร์” (OR) หรือชื่อเต็มๆคือ บริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งถือเป็นเจ้าตลาดน้ำมันในไทย จึงต้องเดินหน้าขยายตัวทางธุรกิจ พร้อมมุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์

รวมทั้งยังเพื่อสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตแบบครบวงจร ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ เติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งด้านไลฟ์สไตล์และขยายพอร์ตโฟลิโอสู่ธุรกิจที่นอกเหนือจากน้ำมันให้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลาย

ล่าสุด โออาร์จึงได้เพิ่มอีกหนึ่งธุรกิจที่เชื่อว่าจะเป็นอนาคตที่สดใส ด้วยการเดินหน้ารุก “ตลาดสุขภาพและความงาม” อย่างเต็มตัว ผ่านการเปิดร้าน “found & found” ร้านค้าปลีกด้านสินค้าสุขภาพและความงาม ซึ่งปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้ว 3 สาขา และมีแผนจะเปิดให้บริการครบ 10 สาขาภายในกลางปี 2567 และขยายเป็น 500 สาขาภายในปี 2573

ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของโออาร์ในการเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกไลฟ์สไตล์ และก้าวสู่ธุรกิจค้าปลีกด้านสุขภาพและความงามอย่างเต็มตัว

โออาร์รุกสยายปีก

...

“ดิษทัต ปันยารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ บริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” เปิดเผยว่า ธุรกิจน้ำมันเริ่มมีความเสี่ยง เพราะเทคโนโลยีมาเร็ว อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ได้มีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น ทั้งนี้ ยังจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาอีกมาก ต้องยอมรับความจริงในจุดนี้ ถ้าเราอยู่เฉยๆ เราก็จะหายสาบสูญไป

ดังนั้น โออาร์จึงต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น การเข้าสู่การทำธุรกิจ Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบ โดยนำข้อมูลที่ได้จากการมาใช้บริการของลูกค้า มาประมวลผลเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยโออาร์มีช่องทางนี้อยู่ มีฐานข้อมูลลูกค้าหลากหลายพฤติกรรม รวมทั้งเงินทุน ล่าสุดจึงพร้อมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารกรุงไทยและเอไอเอส ในการทำธุรกิจ “เวอร์ชวล แบงก์” (Virtual Bank) เพื่อเข้าสู่บริการทางการเงินอย่างเต็มตัว เสริมสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจให้โออาร์

ทั้งนี้ จากผลประกอบการของโออาร์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โออาร์มีรายได้ขายและบริการ 183,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,055 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจ Mobility เพิ่มขึ้น 2.6% กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้น 1.0% จากทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ กลุ่มธุรกิจ Global ปรับเพิ่มขึ้น 23.2% ตามปริมาณจำหน่ายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์และกัมพูชา

ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสที่ 2 โออาร์ยังได้จัดตั้งบริษัท OR Health & Wellness (ORHW) เพื่อเดินหน้ารุกตลาดสุขภาพและความงาม เสริมความแข็งแกร่งด้านไลฟ์สไตล์ โดยขยายพอร์ตโฟลิโอสู่ธุรกิจที่นอกเหนือจากน้ำมันให้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายและตอบรับกระแสการดูแลสุขภาพและความงามของผู้บริโภค ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของโออาร์ ที่มุ่งมั่นสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตแบบครบวงจร เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัวร้าน found & found ร้านค้าปลีก ด้านความงามและสุขภาพ

 นอกจากนี้ โออาร์ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา value chain (ห่วงโซ่คุณค่า) ของธุรกิจกาแฟให้สมบูรณ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนผ่านการลงมือทำ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการแปรรูปเมล็ดกาแฟให้มีมาตรฐาน พร้อมทั้งเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพด้วยระบบราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) ควบคู่ไปกับการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพผู้ผลิตกาแฟ

...

“ในปีนี้ โออาร์ยังมีแผนเปิดตัวธุรกิจ Community Space รูปแบบใหม่ที่จะไม่ได้มีส่วนประกอบของสถานีบริการน้ำมัน แต่เป็นการใช้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการพื้นที่บนพื้นที่ที่มีศักยภาพนอกสถานีบริการน้ำมัน “พีทีที สเตชัน” (PTT Station) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตอบโจทย์ด้านไลฟ์สไตล์ สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของโออาร์ที่มุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์”

โออาร์ยังคงมุ่งมั่นสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตแบบครบวงจร เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ พร้อมเติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งด้านไลฟ์สไตล์ รวมทั้งขยายพอร์ตโฟลิโอสู่ธุรกิจที่นอกเหนือจากน้ำมันให้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลาย

“เราจึงมีกลยุทธ์ในการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภค”

โดยมุ่งขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพและความงาม (Health and Beauty) ซึ่งประเทศไทยเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับเทรนด์ด้านสุขภาพและความงามกำลังเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โออาร์จึงเสริมความเข้มแข็งในการยกระดับการส่งมอบประสบการณ์ที่ครบครัน แปลกใหม่ ให้ผู้บริโภคชาวไทยได้เข้าถึงสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงามได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยพร้อมจับมือพันธมิตรหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการร่วมผลักดันธุรกิจนี้

...

อย่างเช่นการจับมือกับกลุ่มสุกิ โฮลดิ้งส์ (Sugi Holdings) หนึ่งในผู้นำธุรกิจเครือข่ายร้านขายยาและผู้นำด้านแพลตฟอร์ม นาโนเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น เพื่อย้ำความตั้งใจยกระดับประสบการณ์ด้านสุขภาพและความงามเพื่อผู้บริโภคชาวไทย

โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของสุกิ โฮลดิ้งส์ ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม รวมทั้งสนับสนุนความรู้และเทคโนโลยีล้ำสมัยของญี่ปุ่น ซึ่งส่งเสริมความเข้มแข็งในการยกระดับการส่งมอบประสบการณ์ที่ครบครัน แปลกใหม่ ให้ลูกค้าชาวไทยได้เป็นอย่างดี

เติมเต็มระบบนิเวศทางธุรกิจ

“ดิษทัต” ซีอีโอของโออาร์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจสุขภาพและความงาม เป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โออาร์ อยู่ในธุรกิจเดิมมานาน ขายน้ำมัน อาหาร และเครื่องดื่ม จึงอยากจะเข้าสู่ธุรกิจใหม่นี้ เพราะขนาดของตลาดในประเทศของธุรกิจนี้ถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก มีผู้เล่นในตลาดนี้อยู่มาก แต่น่าแปลกใจที่ยังไม่มีผู้นำในธุรกิจนี้อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รวมทั้งในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งประเทศไทยก็กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่นาน เพราะสัดส่วนผู้สูงวัยจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และปัจจุบันคนทั่วไปก็รักความสวยงาม มีการดูแลสุขภาพมากขึ้น

...

ดังนั้น ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม จึงเป็นธุรกิจที่โออาร์ควรจะเข้าไปหาโอกาสในการทำธุรกิจนี้

จากการที่ได้ติดต่อหาพันธมิตรทั้งจากญี่ปุ่น คือสุกิ โฮลดิ้งส์ และอีกบางค่ายในเกาหลีใต้ พบว่าทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เองก็ต้องการที่จะขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน เขาเองก็ต้องการหาพันธมิตรท้องถิ่นในการทำตลาดต่างประเทศ กำลังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอยากจะเข้ามาเปิดโรงงานในไทยเพื่อเป็นฐานขยายสินค้า จึงเป็นจังหวะเหมาะกับที่โออาร์ก็กำลังมองโอกาสในการทำธุรกิจนี้ เหมือนสารเคมีตรงกัน

อย่างไรก็ดี ในระยะแรก คงเป็นเรื่องการทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป ส่วนการตั้งโรงงานในไทย ต้องใช้เวลาในการสร้างตลาดก่อน

โออาร์กำลังเติมเต็มระบบนิเวศทางธุรกิจในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชัน เพราะเห็นว่าสถานีบริการในน้ำมันทุกวันนี้ไม่ได้เป็นแค่ปั๊มน้ำมัน โดย “น้ำมัน” เป็นแค่หนึ่งในสินค้าของปั๊ม ปัจจุบันทุกธุรกิจกำลังถูกกระแสดิสรัปชัน ธุรกิจน้ำมันก็เช่นกัน โดยจากการประเมินความเสี่ยงของโออาร์ พบว่าในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ถ้าโออาร์ ไม่ปรับตัว ก็จะไม่เข้มแข็งอีกต่อไป

สิ่งที่โออาร์พยายาม ทำคือ การลงทุนทำธุรกิจใหม่ หาโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวกับ ธุรกิจค้า หาเพื่อน ร่วมธุรกิจ โดยโออาร์มีจุดแข็งที่มีเครือข่ายของสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชันอยู่กระจายทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นทำเลที่ดี มีองค์ความรู้ในเรื่องธุรกิจค้าปลีกเป็นอย่างดี แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดกว้างหาคนที่มีความรู้มาช่วยดูแล อย่างเช่นธุรกิจสุขภาพและความงาม ก็ได้ดึง “รวิศ หาญอุตสาหะ” ซีอีโอ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด มาเป็นบอร์ดของ ORHW เพราะตั้งใจผลักดันให้ธุรกิจนี้เกิดขึ้นเป็นจริงให้ได้ โดยมองว่าต้องทำให้เกิดให้ได้ ไม่ใช่ทำมาแล้วก็ปล่อยไป

“โออาร์ กำลังจะก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน แน่นอนว่าการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนมีความเสี่ยงในเชิงธุรกิจ แต่ก็เชื่อว่าโออาร์มีกลยุทธ์ที่ดีที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ”

ปัจจุบันโออาร์มีสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชัน และ Cafe Amazon จำนวนกว่า 4.5 พันแห่ง มีส่วนแบ่งรายได้จากการค้าน้ำมันอยู่ที่ 70% ส่วนสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันอยู่ที่ 30% แต่ในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ ตั้งใจที่จะผลักดันให้สัดส่วนรายได้ทั้ง 2 ส่วนอยู่ที่ 50% เท่าๆกัน โดยธุรกิจสุขภาพและความงามจะเป็นอีกธุรกิจที่เข้ามาเติมเต็มในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี โออาร์ ยังคงปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่ว่า “มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนและสร้างผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมและชุมชน”

ดังนั้น การทำธุรกิจสุขภาพและความงาม และการเปิดร้าน “found & found” ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลคนในสังคมไทยด้วย ในการเปิดโอกาสให้คนไทยเข้ามาร่วมมีส่วนในการทำธุรกิจกับเรา ซึ่งร้าน “found & found” ในอนาคตก็อาจจะมีการเปิด

ให้กลุ่มเอสเอ็มอี ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมธุรกิจในลักษณะแฟรนไชส์ ขณะที่สินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศ ก็เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่แพงจนเกินไป ราคาจับต้องได้ ไม่ใช่หลัก 4-5 พันบาท อยู่ที่หลัก 200-500 บาท

พร้อมมอบประสบการณ์ใหม่

ด้าน “ณัฐพล ชูจิตารมย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทโออาร์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนส จำกัด (ORHW) ในเครือโออาร์ กล่าวว่า ORHW มีเป้าหมายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในตลาดสุขภาพและความงามของประเทศไทย ผ่านร้าน “found & found” ร้านค้าปลีกใหม่ที่มุ่งเน้นการนำเสนอสินค้าด้านสุขภาพและความงามที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง สกินแคร์ อาหารเสริม และวิตามิน ที่ได้คัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพจากคู่ค้าทางธุรกิจชั้นนำจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

“โดยหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของ ORHW คือสุกิ โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็น หนึ่งในผู้นำธุรกิจเครือข่ายร้านขายยาและผู้นำด้านแพลตฟอร์มนาโนเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นที่ ORHW ได้จับมือในการนำแบรนด์คุณภาพ อาทิ Prieclat U, S-Select, Under Method และ T3 จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อมา จำหน่ายแบบ Exclusives เฉพาะที่ “found & found” เท่านั้น”

ทั้งนี้ สุกิ โฮลดิ้งส์ มีบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย เช่น สุกิ ฟาร์มาซี (Sugi Pharmacy) ซึ่งมีร้านค้ามากกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สุกิ เมดิคอล (Sugi Medical) ซึ่งให้บริการด้านการรักษาพยาบาล

อีกทั้ง สุกิ โฮลดิ้งส์ ยังมีพันธมิตรเป็นโรงงานผลิตสินค้าประเภทอาหารและยา คือ บริษัท ฟาร์มา ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (Pharma Foods International Co., Ltd.) และบริษัท คอสเมด ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Cosmedpharmaceutical Co., Ltd.) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวด้วยเทคโนโลยีไมโครนีดเดิล (MicroneedleTechnology) รวมถึงบริษัท เคียววะ คอสเมติกส์จำกัด (Kyowa Cosmetics Co., Ltd.) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งเป็นผู้ผลิตให้กับแชมพูแบรนด์ T3 ที่วางจำหน่ายใน Sugi Drug Store ที่ประเทศญี่ปุ่น โดย ORHW ได้นำเข้ามาจำหน่ายใน “found & found” ที่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ORHW ยังมีแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์อื่นๆของ สุกิโฮลดิ้งส์ ที่ใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีล่าสุดมานำเสนอให้ผู้บริโภคชาวไทยสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการด้านสุขภาพและความงามที่ล้ำสมัยในราคาที่จับต้องได้ต่อไปอีกด้วย

สำหรับจุดแข็งของร้าน “found & found” อยู่ที่เครือข่ายของสถานีบริการ พีทีที สเตชัน รวมถึงคอมมูนิตี้มอลล์ทั่วประเทศ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์การดูแลตัวเองแบบใหม่ที่เรียบง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังมีระบบ CRM ที่เชื่อมต่อกับระบบสมาชิก blueplus+ บนแอปพลิเคชัน xplORe เพื่อมอบโปรโมชันและสิทธิพิเศษตามประวัติการซื้อ ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิก found & found และติดตามข่าวสาร สิทธิพิเศษ กิจกรรม และโปรโมชันต่างๆได้ทาง found & found LINE Official Account

ทั้งนี้ found & found พร้อมมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภค และมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในด้านสุขภาพและความงามให้แก่คนไทย ตลอดจนสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์!!!

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม