• ตาเข ตาเหล่ เกิดได้ตั้งแต่ทารกแรกคลอด หรืออาจพัฒนาอาการขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ ส่งผลต่อการสั่งงานกล้ามเนื้อดวงตา หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อ โรคหัด ไซนัสอักเสบ รวมถึงโรคพันธุกรรมในกลุ่มเอ็ดเวิร์ด
  • ตาเข ตาเหล่ ทำให้เกิดการใช้งานตาข้างนั้นน้อยลง จนเกิดภาวะตาขี้เกียจ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รับการรักษาอาจส่งผลให้ตาข้างนั้นบอดได้
  • ในกรณี เด็กตาเข ตาเหล่ ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการต่างๆ แนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขตาเข ตาเหล่ก่อนอายุ 2 ขวบ และไม่ควรเกินกว่า 5 ขวบ เพื่อให้สมองสามารถประมวลผลการมองเห็นเป็นปกติ

ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) เป็นหนึ่งในภาวะทางดวงตาที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก โดยพบในเด็กทั่วโลกมากถึง  2-4 % และมักพบในเด็กช่วง 3 ขวบปีแรก ตาเข ตาเหล่ เป็นปัญหาที่ดวงตาทั้ง 2 ข้าง ไม่มองไปในทิศทางเดียว ตาข้างหนึ่งอาจมองตรงไปข้างหน้า ขณะที่ตาอีกข้างมองเฉเข้า ออก ขึ้นหรือลง ซึ่งสามารถเปลี่ยนจากตาข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งได้ เด็กๆ อาจเกิดมาพร้อมกับภาวะตาเข ตาเหล่ หรืออาจเกิดในภายหลัง  นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ  เด็กบางคนมีอาการตาเข ตาเหล่เป็นระยะๆ ขณะที่บางคนมีอาการตลอดเวลา 

พ่อแม่อาจเข้าใจว่าภาวะตาเขหรือตาเหล่จะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น และไม่ส่งผลเสียต่อการมองเห็น แต่ในความเป็นจริงภาวะตาเข ตาเหล่ ส่งผลกระทบร้ายแรง สามารถทำให้เกิดภาวะตามัว หรือที่เรียกว่า “ตาขี้เกียจ” ได้ ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาข้างที่มีปัญหาน้อยลง จะไม่สามารถเห็นภาพเป็นสามมิติ และกะระยะความลึกได้

ดังนั้น ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจถึงอาการ สาเหตุ และภัยเงียบของผลกระทบที่ตามมา รวมถึงพาเด็กเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นในอนาคต 

...

อาการตาเข ตาเหล่

สามารถแบ่งประเภทได้ตามลักษณะหรือทิศทางการมองของดวงตา ดังนี้

  • ตาเข ตาเหล่เข้าด้านใน (Esotropia) ภาวะที่ดวงตาเคลื่อนเข้ามาด้านในบริเวณสันจมูก เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วง 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงตายังพัฒนาไม่เต็มที่ หากพ้นช่วง 6 เดือนไปแล้ว ยังมีอาการตาเข ตาเหล่ จะถือว่ามีความผิดปกติที่ดวงตา จำเป็นต้องได้รับการรักษา
  • ตาเข ตาเหล่ออกนอก (Exotropia) เป็นภาวะตาเข ตาเหล่ ในแนวนอน โดยดวงตาเคลื่อนมองออกด้านข้าง ส่วนใหญ่เกิดในผู้ใหญ่ เนื่องจากอาการกล้ามเนื้อหัวตาอ่อนแรงจนไม่สามารถดึงตาดำเข้ามาได้
  • ตาเข ตาเหล่ขึ้นบน (Hypertropia) เป็นอาการตาเหล่ในแนวตั้ง พบได้น้อยมาก เกิดจากกล้ามเนื้อดวงตาผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือมีการพัฒนากล้ามเนื้อผิดปกติ รวมถึงเกิดจากอุบัติเหตุ
  • ตาเข ตาเหล่ลงล่าง (Hypotropia) เกิดจากการที่แกนสายตามองลงล่างอยู่ตลอดเวลา มักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ แต่พบได้น้อยมาก

ผลกระทบจากตาเข ตาเหล่ในเด็ก มีอะไรบ้าง

  • ตามัว มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด
  • เมื่อยตา ตาล้า
  • การเคลื่อนที่ของดวงตาไม่ไปพร้อมกัน และไม่มองในทางเดียวกัน
  • ไม่สามารถคาดคะเนระยะใกล้ ไกลได้ถูกต้อง
  • ถ้าปล่อยเรื้อรังไม่รักษา จะสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

อาการตาเข ตาเหล่ในเด็ก สังเกตอย่างไร

  • สังเกตความสมมาตรด้วยตาเปล่า
  • ใช้แสงไฟ โดยถ่ายรูปด้วยการใช้แฟลช แสงสะท้อนในรูปต้องอยู่ตรงกลางตาดำทั้งสองข้าง แต่หากพบว่าข้างใดข้างหนึ่งที่แสงแฟลชไม่อยู่ตรงกลาง แสดงว่ามีอาการตาเข ตาเหล่
  • ทดสอบการมองเห็น โดยให้มองสิ่งของขนาดเล็กที่อยู่ไกล 6 เมตรขึ้นไป ถ้าเห็นเป็นภาพซ้อนอาจเป็นตาเข ตาเหล่ จากนั้นให้ปิดตาทีละข้าง หากข้างใดข้างหนึ่งมองไม่ชัดมากๆ โฟกัสไม่ได้ หรือมองไม่เห็น ถือว่ามีอาการตาเข ตาเหล่เช่นกัน
  • กรณีเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารได้ อาจต้องสังเกตพฤติกรรมว่าเด็กมักหรี่ตา เอียงคอ หรือหันข้างมองเพื่อมองสิ่งต่างๆ อย่างไรก็ตาม การสังเกตภาวะตาเข ตาเหล่ในทารกและเด็กเล็ก อาจทำได้ยาก หากผู้ปกครองสงสัย ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย

...

สาเหตุของตาเข ตาเหล่

ตาเข ตาเหล่ เกิดจากกล้ามเนื้อลูกตาทำงานไม่สัมพันธ์กัน จนลูกตาไม่สามารถขยับเพื่อให้โฟกัสวัตถุในตำแหน่งเดียวกันได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด บางรายมีอาการตาเข ตาเหล่ตั้งแต่เกิดหรืออาจพัฒนาขึ้นในช่วงหลัง โดยพบว่ามีหลายปัจจัยกระตุ้น ได้แก่

  • ตาเข ตาเหล่แต่กำเนิด (Congenital Strabismus) เกิดกับทารกแรกคลอดหรืออาจพัฒนาอาการขึ้นภายใน 6 เดือน เนื่องจากกล้ามเนื้อตาทำงานไม่ประสานกัน ส่วนใหญ่เป็นตาเข ตาเหล่เข้าด้านในและตาเข ตาเหล่ออกด้านนอก ซึ่งสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม
  • ความผิดปกติทางสายตา อาจเป็นไปได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ซึ่งเป็นผลมาจากการหักเหของแสงที่ส่องผ่านแก้วตาผิดปกติ
  • ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ ส่งผลให้การสั่งงานกล้ามเนื้อดวงตาผิดปกติ รวมถึงทำให้การพัฒนาทางร่างกายและสมองผิดปกติด้วย ซึ่งสามารถแสดงอาการตั้งแต่ในครรภ์ หรือหลังคลอด
  • การติดเชื้อบางอย่าง เช่น โรคหัด ไซนัสอักเสบ
  • ใช้สายตามากเกินไป เด็กตาเข ตาเหล่จากการใช้สายตาจ้องโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญของกล้ามเนื้อตาที่ผิดปกติตั้งแต่ต้น หรือใช้สายตามากเกินไปในช่วงที่กล้ามเนื้อตากำลังพัฒนา มักพบในเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบ
  • พันธุกรรม ลักษณะของตาเข ตาเหล่ทั้งแบบที่ทราบและไม่ทราบสาเหตุ สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ โดยอาจพบตั้งแต่เด็ก หรือพบตอนโตก็ได้
  • โรคทางพันธุกรรม ส่งผลให้เด็กตาเข ตาเหล่ เช่น กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้มีโครโมโซมคู่ที่ 18 เกินมา 1 โครโมโซม

...

การตรวจวินิจฉัยภาวะตาเข ตาเหล่

เนื่องจากภาวะตาเข ตาเหล่ไม่สามารถหายได้เองเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่กลับทำให้การมองเห็นแย่ลงหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ปกครองหรือคุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่าลูกกำลังเผชิญปัญหาดวงตา ควรพาเด็กมาพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยเบื้องต้นแพทย์จะตรวจการมองเห็น และทิศทางการมองอย่างละเอียด ซึ่งเริ่มตรวจได้ตั้งแต่เด็กทารกจนถึงเด็กโตทุกช่วงวัย

การรักษาภาวะตาเข ตาเหล่

เมื่อเด็กเผชิญปัญหาตาเข ตาเหล่ ไม่เพียงสูญเสียความมั่นใจเท่านั้น แต่เนื่องจากดวงตาของเด็กกำลังพัฒนา หากเกิดตาเข ตาเหล่ จะส่งผลให้การใช้งานตาข้างนั้นน้อยลง จนเกิดภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้ตาข้างนั้นบอดได้ ดังนั้นการรักษาตาเข ตาเหล่มีเป้าหมายเพื่อกำจัดตาขี้เกียจ หากตรวจพบตั้งแต่ช่วงแรกๆ โดยเฉพาะอายุไม่เกิน 8 ปี มีโอกาสหายเป็นปกติได้สูงกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการพัฒนาของดวงตาและสมอง

การรักษาตาเข ตาเหล่สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • สวมแว่นสายตา เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาในระดับปานกลาง เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน สิ่งสำคัญคือการกระตุ้นให้ดวงตากลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติ
  • ใส่ที่ครอบตา ใช้รักษาผู้ที่เกิดตาขี้เกียจจากภาวะตาเข ตาเหล่ โดยครอบตาข้างที่เป็นปกติในระยะเวลาสั้นๆ หรือตลอดทั้งวัน เพื่อกระตุ้นให้ตาข้างที่ขี้เกียจได้ทำงาน แต่ไม่ได้ช่วยให้ตาเข ตาเหล่กลับเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายมีระยะเวลาสวมที่ครอบตาแตกต่างกัน
  • หยอดตา กรณีเด็กไม่ยอมใช้วิธีปิดตา แพทย์อาจพิจารณาให้หยอดตาข้างที่ไม่มีปัญหา โดยใช้สารอะโทรปีน (Atropine) มีผลทำให้ดวงตาเห็นภาพเบลอ ดวงตาที่อ่อนแอจึงต้องทำงานมากขึ้นจนกล้ามเนื้อดวงตากลับมาแข็งแรงและมองเห็นภาพได้ปกติ

...

  • บริหารดวงตา เป็นการฝึกกล้ามเนื้อตาส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา ให้ดวงตาทั้ง 2 ข้างทำงานประสานงานกันได้ดีขึ้น
  • การฉีดยา โดยฉีดสารโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) เข้าสู่กล้ามเนื้อตาที่เป็นสาเหตุให้ตาเข ตาเหล่ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราวประมาณ 2-3 เดือน
  • การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา เมื่อวิธีการรักษาอื่นๆ ไม่ได้ผล หรือกรณีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดกล้ามเนื้อดวงตา เพื่อแก้ไขตำแหน่งของดวงตาและช่วยให้ดวงตาทำงานได้เป็นปกติ ทั้งนี้หากพบว่าเด็กมีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วย จำเป็นต้องรักษาภาวะตาขี้เกียจก่อนผ่าตัด

ข้อมูลโดย : นพ. ปกป้อง จันทรสมบูรณ์ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์