“โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง” หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงมาก อาจเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่มีผลถึงแก่ชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นกับตนเอง เช่น รถชน รถคว่ำ หรือทหารผ่านศึกที่อยู่ในสนามรบ จนเกือบสูญเสียชีวิตหรืออวัยวะ หรืออาจเห็นเหตุการณ์รุนแรงมากเกิดกับคนที่รัก หรือเป็นสิ่งที่เห็นซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นประจำ เช่น ตำรวจที่ต้องทำงานกับคดีรุนแรง และอยู่กับเหตุการณ์รุนแรงทุกวันๆ ส่งผลให้มีอาการทางจิตใจและร่างกายเกิดขึ้น

อาการโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

ผู้ป่วยมีภาวะตอบสนองทางร่างกายเช่นเดียวกับโรควิตกกังวลอื่นๆ คือ มีอาการสะดุ้ง ตื่นเต้น ตกใจ กลัว หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก ใจสั่น และเมื่อต้องไปพบกับสิ่งกระตุ้นบางอย่างที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ร้ายแรง ทำให้ประสบการณ์นั้นย้อนกลับมาหาผู้ป่วย
อาการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ เช่น สถานที่เป็นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดความนึกย้อนถึงเหตุการณ์นั้น และต้องพยายามหลีกเลี่ยง

อาการทางอารมณ์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอารมณ์เรียบเฉย เฉยชา อารมณ์ไม่ค่อยดี โดยอาการเหล่านี้จะต้องเป็นต่อเนื่อง 1 เดือนขึ้นไปหลังจากที่ไปเจอเหตุการณ์รุนแรงมา จึงจะนับว่าเป็นโรคนี้

การวินิจฉัย

ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการต่างๆ เช่น ฝันร้าย ตกใจกลัวอย่างมากเมื่อไปเจอสิ่งกระตุ้นที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์รุนแรง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ได้มาพบแพทย์ด้วยตนเอง เพราะกลัวกับการที่ต้องมาพบแพทย์ หรือรู้สึกว่าไม่ได้อยากเปิดเผยเรื่องที่รบกวนใจ กลัวคนอื่นมองว่าตัวเองผิดปกติ ในกรณีเช่นนี้มักเป็นญาติหรือคนรอบตัวสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการไม่มีความสุข ฝันร้าย ตื่นกลัวบ่อยๆ ก็จะพาไปพบแพทย์

...

แพทย์ก็จะซักประวัติว่าอาการเหล่านี้เป็นมานานแค่ไหน ไปเจอเหตุการณ์อะไรมา ถ้าเข้าได้กับเหตุการณ์หรืออาการที่กล่าวไป ก็จะสรุปว่าเป็น “โรคเครียดหลังจากเจอเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)”

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

ภาวะความกลัวที่เกิดขึ้นในโรคนี้จะเกิดขึ้นในทุกๆ วัน ดังนั้นผู้ป่วยจะเครียดอยู่เป็นประจำ สิ่งที่อาจตามมาเป็นโรคแทรกซ้อนได้ก็คือ โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยบางรายอาจเครียดมากจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เนื่องจากไม่มีความสุข หวนนึกถึงแต่เหตุการณ์รุนแรงอยู่เรื่อยๆ จนอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทหารผ่านศึก เมื่อได้ยินเสียงดังๆ ก็จะทำให้นึกย้อนไปถึงเวลาอยู่ในสนามรบ ก็จะกระทบกระเทือนการใช้ชีวิตประจำวันได้

การรักษา มักใช้วิธีบำบัดรักษาร่วมกัน 2 วิธี ดังนี้

1. การรักษาโดยการใช้ยา เป็นยารักษาโรคกลุ่มซึมเศร้า ยาหลักที่ใช้เป็นกลุ่มที่ชื่อว่า Selective Serotonin Reuptake Inhibitors ซึ่งมีการวิจัยว่าช่วยลดอาการและรักษาโรคนี้ได้

2. การรักษาโดยการทำจิตบำบัด โดยการให้ผู้ป่วยได้ตระหนักรับรู้ว่าตัวเขามีข้อดีอะไรบ้าง มีการจัดการกับความเครียดอย่างไร อะไรที่เขาทำได้ดี เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้เวลาที่มีอาการอยู่ สมองมักนึกคิดอยู่แต่เรื่องแย่ๆ มองไปทางไหนก็น่ากลัวไปหมด รู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะย้อนนึกถึงแต่เหตุการณ์ร้ายแรง นึกถึงเรื่องลบๆ ซึ่งในความเป็นจริง คนเราทุกคนมีด้านที่เป็นบวกหรือด้านที่เป็นความเข้มแข็ง มีทรัพยากรในการดูแลตัวเอง เพราะฉะนั้น ในการรักษาโรคนี้ จะเริ่มตั้งแต่ว่าจิตแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในด้านบวกหรือด้านที่เข้มแข็งของเขา เพื่อที่สมองและจิตใจของเขาจะได้กลับมามองด้านดีๆ ของตัวเอง

การรักษาขั้นต่อไป คือ การชวนผู้ป่วยมาค่อยๆ เผชิญกับประสบการณ์เรื่องร้ายที่เขาเคยเจอ พอผู้ป่วยสามารถอยู่กับเหตุการณ์ร้ายๆ นั้นได้ ก็อาจจะเปลี่ยนมุมมอง หรือเปลี่ยนให้ผู้ป่วยได้เห็นว่าในเหตุการณ์ร้ายนี้ ตัวเขาเองก็สามารถรับมือกับมันได้ และขณะเดียวกัน ชีวิตก็มีแง่มุมดีๆ อยู่ ซึ่งจะค่อยๆ ทำให้เขาหายจากความกลัว หรือหลีกเลี่ยงจากสภาวะนั้น อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่ายาก็เป็นการรักษาหลักของโรคนี้

“โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง” เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและเรื่องที่ผู้ป่วยประสบมา โดยมักต้องใช้เวลาการรักษาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

การดูแลตนเอง โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

1. นอนหลับให้เพียงพอ
2. ดูแลสุขภาพกายอื่นๆ
3. การดูแลทางจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ ลดความเครียด และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ

การป้องกันโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

ต้องพิจารณาดูว่า คนๆ นั้นมีความเสี่ยงที่จะเจอเหตุการณ์ร้ายแรงไหม เช่น บางอาชีพที่มีความเสี่ยงมากๆ เช่น ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ควรได้รับการดูแลให้ความรู้ว่าเรื่องเหล่านี้มีผลกับจิตใจ ควรดูแลจิตใจตัวเองก่อนจะไปประสบกับเหตุการณ์เหล่านั้น หรือหลังจากที่ไปเจอเหตุการณ์รุนแรงมาแล้ว สามารถกลับมาดูแลจิตใจตัวเองได้ไหม สามารถกลับมาดูแลจิตใจร่วมกันกับคนที่ทำงานในอาชีพเดียวกันได้ไหม ก็จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง

@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล
อ. นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" เพิ่มเติม

...