ข้อไหล่เป็นข้อที่มีความสามารถในการขยับได้มากที่สุดในร่างกาย ด้วยลักษณะทางกายวิภาคของข้อไหล่ ทำให้สามารถขยับได้หลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นการยกแขนแนบหู ยกแขนไขว้หลัง หรือเอื้อมหยิบสิ่งต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการเขวี้ยงสิ่งของ หรือเล่นกีฬาบางประเภท เช่น เบสบอล อย่างไรก็ตาม “ภาวะข้อไหล่ติด” เป็นภาวะที่ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการยกแขนไปด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้าง หากลองยกแขนขวาเทียบกับแขนซ้ายแล้วยกได้ไม่เท่ากัน นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะไหล่ติด 

อาการ

ในระยะแรกจะมีอาการปวดชัดเจน แต่ยังไม่มีอาการอื่น เมื่อเวลาผ่านไป อาการติดแข็งจะเพิ่มขึ้น ขณะที่อาการปวดจะลดลง ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะขยับไหล่ไม่ได้ แต่ความเจ็บปวดจะไม่รุนแรงเท่าช่วงแรก หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ผ่อนคลายไปตามกาลเวลา โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งปีตั้งแต่เริ่มมีอาการจนกระทั่งหายเรียบร้อย

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะข้อไหล่ติดได้จากการตรวจร่างกาย หรืออาจให้ผู้ป่วยยกแขนหน้ากระจก เพื่อตรวจสอบว่าแขนทั้งสองข้างสามารถยกได้สุดหรือไม่ หากมีข้างใดยกได้ไม่เท่าอีกข้างก็สามารถสรุปได้ว่าเป็นภาวะไหล่ติด ในบางกรณีแพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจหาภาวะที่ซ่อนอยู่และเพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

ชนิดของโรคข้อไหล่

โรคข้อไหล่ติดชนิดปฐมภูมิ

โรคข้อไหล่ติดชนิดปฐมภูมิเป็นโรคที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ มักพบในคนอายุ 30-50 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยอาจมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน หรือไทรอยด์ ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่าผู้ที่มีโรคเหล่านี้มีโอกาสเป็นโรคข้อไหล่ติดชนิดปฐมภูมิสูงกว่าคนทั่วไป

...

การรักษา

โรคข้อไหล่ติดชนิดปฐมภูมิสามารถหายได้เอง แต่อาจใช้เวลานานประมาณ 1 ปีขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้ฝึกบริหารไหล่เพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหว กินยาลดอาการปวด และทำกายภาพบำบัด หรือฉีดยา ในกรณีที่มีอาการติดแข็งและปวดมาก และการรักษาแบบไม่ผ่าตัดไม่เห็นผล แพทย์อาจใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อตัดพังผืดที่ทำให้ไหล่ขยับไม่ได้

โรคข้อไหล่ติดชนิดทุติยภูมิ

โรคข้อไหล่ติดชนิดทุติยภูมิเป็นภาวะที่ทำให้ไหล่มีอาการปวด จนเกิดภาวะไหล่ติด หรือเกิดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด การฉายรังสี หรือโรคเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ข้อไหล่ติดได้

การรักษา

การรักษาโรคข้อไหล่ติดชนิดทุติยภูมิจะเป็นการรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น หากภาวะไหล่ติดเกิดจากเอ็นฉีกขาด ก็จะรักษาโดยการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นที่ฉีกขาดให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

ภาวะข้อไหล่ติดไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง หากมีอาการปวด ควรรีบเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาทันที

การดูแลตนเองและการป้องกัน

สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี เพราะหากควบคุมน้ำตาลไม่ดี มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะข้อไหล่ติด และการมีโรคเบาหวานยังทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่ากับคนที่ไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพโดยหลีกเลี่ยงการบิดหมุน หรือกระชากไหล่อย่างแรง ระมัดระวังในการใช้งานไหล่อย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของไหล่

แหล่งข้อมูล
ผศ.ดร.นพ.ชายนันท์ วิจิตรตระการรุ่ง ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล