ปัจจุบัน เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สื่อต่างๆ อยู่รอบตัวเรา มีทั้งที่มีประโยชน์และมีโทษ เราจึงควรเลือกใช้สื่อให้ถูกวิธีและเหมาะสม โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ซึ่งเขาจะต้องเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

เด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือน

ตามหลักการแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้สื่อทุกชนิดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 เดือน เนื่องจากเด็กวัยนี้เป็นวัยที่สมองส่วนประสาทสัมผัสกำลังพัฒนา ทั้งรูป รส กลิ่นเสียง สัมผัสต่างๆ ดังนั้นเด็กวัยนี้จึงควรได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงที่ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การจับ การสัมผัส การได้ยินเสียง การพูดคุย การมองหน้า การสบตา การนวดสัมผัส การใช้สื่อหน้าจอในวัยนี้จึงไม่เหมาะสมในการส่งเสริมพัฒนาการ

แต่ในกรณีที่เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับผู้เลี้ยงดู สามารถใช้การติดต่อทางวิดีโอคอล เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกับเด็กได้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของเด็กกับผู้เลี้ยงดู

เด็กอายุตั้งแต่ 18 เดือนถึง 4 ปี

เด็กวัยนี้เป็นวัยเตาะแตะ เป็นวัยที่เริ่มสำรวจโลก เริ่มมีทักษะในการเดิน การสำรวจ สามารถไปหยิบจับ สำรวจสิ่งแวดล้อมหรือคนรอบตัวได้มากขึ้น รวมถึงยังมีการพัฒนาการทางภาษาที่เห็นได้ชัดเจนจากคำพูดไม่กี่คำ จนกลายเป็นประโยคเล่าเรื่อง การใช้สื่อกับเด็กวัยนี้ผู้ปกครองอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าจะให้เด็กใช้อย่างไร ใช้ทำไม และจะใช้เพื่อประโยชน์อะไร โดยมีหลักการง่ายๆ ดังนี้

...

1. ลักษณะของเด็ก ในวัยนี้ผู้เลี้ยงดูจะสังเกตลักษณะนิสัยของเด็กได้ชัดเจนมากขึ้น เด็กบางคนอาจจะถูกกระตุ้นด้วยสื่อได้ง่าย เด็กบางคนติดจอมาก เด็กบางคนจะทำตามข้อตกลงได้ดี การเข้าใจลักษณะของเด็กจะทำให้เราสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

2. เนื้อหาของสื่อ เนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็กวัย 2-4 ปี จะต้องเป็นเป็นสื่อที่ออกแบบมาให้เหมาะกับเด็กเล็ก เช่น sesame street, denial tiger neighborhood ซึ่งออกแบบมาแล้วว่าเหมาะกับเด็กเล็ก เป็นโปรแกรมที่ไม่ได้เร็วเกินไป ไม่มีเนื้อหารุนแรง ไม่มีการแกล้งกัน และมีช่วงเวลาหยุด เช่น ตัวละครคุยกัน แล้วก็หันมาถามเด็ก แล้วก็ให้เด็กโต้ตอบ

เนื้อหามักจะออกแบบมาให้ตรงกับวัย เช่น เรื่องของการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นภารกิจตามวัยของเด็กวัยเตาะแตะ เช่น เวลาโกรธต้องสูดลมหายใจเข้าลึกๆ โปรแกรมที่มีคุณภาพดีเหล่านี้ก็จะมีส่วนช่วยในเรื่องการเรียนรู้ของเด็กได้ และทำให้พ่อแม่และเด็กได้พูดคุยกันเรื่องต่างๆ มากขึ้น

3. ผู้ใหญ่ต้องกำกับใกล้ชิดเสมอ ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุดของการใช้สื่อเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ เด็กจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ดูสื่ออยู่ด้วย เพื่อกำกับเนื้อหา เวลา รวมถึงเพื่อพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กขณะที่กำลังดู เพราะสื่อหน้าจอเป็นเพียงของเล่นชิ้นหนึ่งที่จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ลงไปใช้ร่วมกับเด็ก แม้ว่าจะเป็นรายการที่มีคุณภาพสูง แต่ถ้าเด็กไม่มีผู้ใหญ่คอยพูดคุยด้วยก็จะเรียนรู้จากสื่อได้น้อย

4. ข้อตกลงที่ชัดเจน การใช้สื่อกับเด็กต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนว่าระยะเวลานานแค่ไหน เมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะต้องหยุด หรือหากไม่ทำตามข้อตกลงจะต้องมีผลตามมาตามข้อตกลงนั้น

อันตรายและผลกระทบจากการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป

การใช้สื่อมากเกินไปโดยเฉพาะในเด็กเล็ก จะลดสิ่งเร้าอื่นๆ หรือว่าปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การเปิดมือถือ หรือการที่มีคนเปิดโทรทัศน์อยู่ในบ้าน การพูดคุยกับเด็กก็จะน้อยลงไปโดยปริยาย โดยที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งจะทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ ที่ควรจะได้รับตามวัย

เช่นเดียวกับเด็กวัยเตาะแตะ การดูสื่อหน้าจอก็ทำให้เด็กเล่นนอกบ้านน้อยลง หรือเล่นของเล่นอย่างอื่นน้อยลง ทำให้ขาดประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะไปสำรวจโลกกว้าง การได้ใช้ร่างกาย การได้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกการวางแผน การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และการควบคุมอารมณ์

นอกจากนี้ ถ้าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่เหมาะสมก็อาจจะมีเนื้อหาที่รุนแรง เนื้อหาที่ส่งผลต่ออารมณ์ หรือเกมที่กระตุ้นให้เด็กรู้สึกอยากเอาชนะ สิ่งเหล่านี้ก็จะกระตุ้นให้เด็กมีอารมณ์ร่วมได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังควบคุมอารมณ์ได้ไม่ค่อยดี เขาอาจจะมีพฤติกรรมรุนแรงหรืออาละวาดได้ เพราะการใช้สื่อเหล่านี้จะไปกระตุ้นสมองในส่วนอารมณ์ค่อนข้างมาก จึงต้องเลือกเนื้อหาให้เหมาะกับเด็กด้วย นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ระบุว่า สื่อที่มีความรุนแรง ทำให้เด็กมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมากขึ้น เพราะเห็นว่าคนอื่นโกรธแล้วรุนแรงได้ ตัวเขาเองก็จะเรียนรู้ว่าเขาก็ทำได้เหมือนกัน และเขาก็จะเฉยชากับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การเลือกเนื้อหาให้เหมาะสมกับเด็กจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

...

ปัจจุบันโปรแกรมการศึกษาก็มีแอปพลิเคชันที่น่าสนใจมากมาย เช่น แอปเก่งไทย ให้เด็กๆ ฝึกเขียนตัวอักษร ฟังเสียงตัวอักษร กอ เริ่มสะกดอ่านง่ายๆ ได้ เป็นแอปที่ทำให้เด็กหลายๆ คนสนุกกับการเรียนได้มากขึ้น การเรียนไม่ได้เขียนอ่านอย่างเดียว แต่มีเกมให้เล่นด้วย ภาษาอังกฤษก็มีหลายแอปที่ช่วยเรื่องการแยกแยะเสียง การเขียนคำ สะกดคำ

สื่อเป็นตัวกลางที่ดี ทำให้เด็กสนุก อยากเรียนรู้ หรือเปิดประตูการเรียนรู้ของเด็กได้ เพียงแต่จะต้องมีผู้ใหญ่กำกับใกล้ชิด เลือกเนื้อหาให้เหมาะสม มีข้อตกลงและข้อจำกัดที่ชัดเจนในการใช้งาน เพียงเท่านี้ ลูกหลานของท่านก็สามารถใช้สื่อได้อย่างสนุกและมีประโยชน์

แหล่งข้อมูล

อ.พญ.กนกพรรน ชูโชติถาวร สาขาพัฒนาการและพฤติกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" เพิ่มเติมได้ที่นี่